เราอยู่ในสังคมเหลื่อมล้ำที่เรียกร้องพลังของ ‘การนำร่วม’ มากกว่าฮีโร่4 min read
ทุกปัญญาในสังคมล้วนโยงใยซึ่งกันและกันดั่งตาข่าย สังคมไม่อาจเดินหน้าไปได้หากปัญหาของการศึกษายังไม่ถูกแก้ไข การศึกษาไม่อาจดีขึ้นได้ หากความเหลื่อมล้ำยังถ่างกว้าง ปากท้องของผู้คนไม่อาจอิ่มได้ หากโอกาสในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี มีที่ว่างให้ผู้คนเพียงหยิบมือ ชุมชนไม่อาจแข็งแรงได้ หากการกระจายอำนาจเป็นเพียงภาพฝัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต่างยืนอยู่ท่ามกลางสังคมที่รายล้อมด้วยปัญหาทุกมิติ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำของสังคม ฯลฯ
ขณะนี้ สังคมปัจจุบันเริ่มตั้งคำถามต่อปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังและตรงไปตรงมา
ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ สังคมดีกว่านี้ได้ และเราต่างเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้น และผู้คนจำนวนไม่น้อยอีกเช่นกันที่ต่างลงมือกระทำการบางอย่างเพื่อคานงัดปัญหา ในพื้นที่ ในชุมชน ตามความถนัดและความสนใจของตน
เขาเหล่านี้คือผู้ที่กล้าฝันและลงมือทำ
พาบัณฑิตกลับบ้าน
แจว – ธนาทิพย์จันทร์คง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้เห็นการเติบโตของวิศวกรรมบัณฑิตหลายต่อหลายรุ่น ตั้งแต่ในรั้วการศึกษา ไปจนถึงรั้วชีวิต กระทั่งนานวันเข้า เธอพบว่า การศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยกำลังผลักคนรุ่นใหญ่ให้ไกลจากบ้าน
“เรารู้สึกว่า ลูกศิษย์ของเราที่มีทักษะวิศวกรรมนั้น ไม่มีอาชีพในบ้านของตัวเอง มันทำให้เขาต้องออกไปยังพื้นที่อื่น ผลักเขาไปทำงานในภาคกลาง ภาคตะวันออก ในเมืองใหญ่ที่มีตำแหน่งงานมากกว่า มีโอกาสมากกว่า
“อีกทั้งการที่เราทำงานในชุมชน เราเห็นว่า เมื่อเด็กออกจากบ้านไปทำงานในเมือง คนแก่ เด็ก ต้องอยู่บ้าน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย มีความขัดแย้งในชุมชน กลายเป็นว่า การศึกษาของเรากำลังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น การศึกษาของเราทำให้ชีวิตดีขึ้นจริงหรือเปล่า”
จากคำบอกเล่าของลูกศิษย์ที่ต้องไปเผชิญชีวิตในเมืองใหญ่ ความเจริญที่กระจุกตัวทำให้พวกเขาต้องออกไปแสวงหาโอกาสในอาชีพที่ไกลจากบ้าน การสร้างความมั่นคงในชีวิตถูกท้าทายด้วยค่าครองชีพที่สูงลิ่ว เส้นความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว ชุมชน ถูกเจือจางด้วยความเหลื่อมล้ำ
“เวลาเราคุยกับเขา เราแทบไม่เจอคนที่มีความสุขกับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่เลย มันกลายเป็นความทุกข์ เขาทำได้แค่เอาตัวเองให้รอด แต่ไม่สามารถสร้างตัวเองให้มั่นคงได้เท่ากับศักยภาพที่มี
“เรามาเข้าโครงการผู้นำแห่งอนาคต ด้วยความคาดหวังว่า เราต้องได้อะไรสักอย่างที่จะนำไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่เราสนใจ ภาพมันก็ยังไม่ชัดนะว่าเราจะได้อะไร”
เวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำแห่งอนาคต (Leadership for Collective Happiness – LCH) ที่อาจารย์แจวเดินทางมาเข้าร่วม ถูกออกแบบกระบวนการไว้ 3 เรื่องใหญ่ๆ
หนึ่ง ปัญญาโลก ปัญญาชีวิต
สอง ปัญญาภายใน
สาม ผู้นำขับเคลื่อนสังคม
“มันเป็นกระบวนการที่เราได้ทบทวนตัวเองภายในไปในตัว ผ่านมุมมองปัญหาหลายมิติ ทั้งการเมือง สิ่งแวดล้อม การศึกษา และความเหลื่อมล้ำ
“สิ่งที่สะกิดใจเราคือ เรามักคิดแต่การเป็นผู้นำแบบภายนอก ในทางปฏิบัติ แต่เราไม่เคยคิดเรื่องของภาวะผู้นำภายใน การกลับมามองอารมณ์ จิตใจภายในว่ามันควรจะเป็นอย่างไร เราจะได้ตั้งคำถามกับมัน”
กระบวนการได้พาอาจารย์แจวไปสำรวจตัวเองอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา ผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่า การสื่อสารสองทางอย่างสันติ (Nonviolence Communication ประกอบด้วยหลักการ 4 ข้อ คือ หนึ่ง-มนุษย์ทุกคนมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน สอง-เบื้องหลังการกระทำของมนุษย์เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่าง สาม-การใส่ใจและให้คุณค่ากับความต้องการของทุกฝ่าย และ สี่-ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และความเข้าใจปัญหาก่อนแก้ปัญหา
“เพราะเราทำงานกับคน การสื่อสารกับคนอื่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก หลายๆ ครั้ง สิ่งที่เราสื่อสารออกไป เราไม่ได้คำนึงให้ดีพอ หากมันแย่ ทุกคนรับรู้ได้ ความสัมพันธ์พังลง กลายเป็นว่า เป้าหมายที่เราอยากไปให้ถึงมันไม่สำเร็จ เพราะการสื่อสารของตัวเราเอง
“เรากลับมาโฟกัสที่จุดเริ่มต้นของความเชื่อ ความต้องการลึกๆ ว่าเราอยากทำอะไรกันแน่? เราทำไปทำไม? เราหลงลืมไปแล้วหรือเปล่า เรากำลังหลงทางหรือเปล่า?”
อาจารย์แจวพบว่า การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม หัวใจสำคัญคือความแข็งแรงจากสภาวะภายใน และการได้กลับมาตั้งคำถามต่อตนเองอีกครั้งว่า แท้จริงแล้วความต้องการเบื้องลึกของการทำงานนั้น เธอต้องการขับเคลื่อนสังคมไปสู่สิ่งใด
“ในกระบวนการของโครงการ เราเจอคนที่มีพลังหลายแบบ เชี่ยวชาญหลายด้าน และมีวิธีการที่แตกต่าง เราคุยกันเยอะมาก พอได้แลกเปลี่ยนกัน จึงเห็นจุดที่เราจะเอาโปรเจ็คต์มาต่อกันได้ หรือเอา knowledge (ความรู้) มาแชร์กัน หยิบ จับ ปรับ ประยุกต์ได้”
หลังจบกระบวนการอบรม อาจารย์แจวเล่าว่า เธอได้กลับไปพัฒนาโปรเจ็คต์ของการพาบัณฑิตกลับบ้าน ทว่าคราวนี้ มุมมองในการทำงานของเธอกว้างขึ้น และพบว่า ชุมชนที่ไม่มีอาชีพรองรับบัณฑิตนั้น แท้จริงแล้วรากของปัญหาคือการศึกษาที่ไม่เชื่อมโยงกับชีวิต
“พอได้เข้ามาโครงการ เราเห็นภาพใหญ่กว่านั้น สิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่ประเด็นของอาชีพ แต่มันคือประเด็นของระบบการศึกษาที่ไม่ยึดโยงกับชุมชน พ่อแม่ส่งลูกหน้าประตูโรงเรียน เด็กก็เหมือนอยู่อีกโลกที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบทพื้นที่หรือชุมชนนั้นๆ”
อาจารย์แจวเล่าว่า หัวใจสำคัญของการทำงานคือการเชื่อมโยงปัญหา และเชื่อมโยงเพื่อน (network) เธอพัฒนาโปรเจ็คต์โดยการสร้างเครือข่ายการทำงานที่ยึดโยงกับชุมชน ครู โรงเรียน และหลักสูตรการศึกษา
เพื่อไปให้ถึงปลายทาง ในการสร้าง active citizen (พลเมืองตื่นรู้) ที่ยึดโยงความรู้กับชุมชน กับบ้านเกิด
“หนึ่ง เราโฟกัสที่โรงเรียน เชื่อมโยงกับครู และชวนเด็กๆ มาทำด้วยกัน เป้าหมายคือเราอยากสร้าง success case บางอย่างที่เด็กเห็นต้นทุนในชุมชน ต่อยอดได้ เห็นโอกาสในการทำงานกับชุมชนโดยไม่ต้องมุ่งไปที่เมืองใหญ่อย่างเดียว
“สอง ประจวบกับช่วงหลังโควิด-19 ที่บัณฑิตส่วนใหญ่เจอสภาวะหางานยาก เราจึงชวนเด็กกลุ่มนั้นเข้ามาร่วมงานวิจัยชุมชน และเริ่มเห็นโอกาสบางอย่างในการต่อยอดงานนี้
“สาม เรากำลังจะสร้างหลักสูตรหนึ่งในคณะวิศวกรรม ว่าด้วยการสร้างวิศกรในชุมชน เพื่อสร้างระบบปฏิบัติการอัตโนมัติขนาดเล็กและขนาดกลางในชุมชน”
เพราะการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และปากท้อง คือมิติที่ไม่แยกขาดจากกัน และนั่นหมายถึงการสร้าง การเปลี่ยนในสังคมนั้น เรียกร้องการเชื่อมโยงพลังหลากหลายแบบ คนหลากหลายกลุ่ม วิธีการที่ไม่ตายตัว และศักยภาพของผู้คนที่แข็งแรงจากภายใน
“หากเราไม่ทำงานเครือข่าย โลกเราแคบมาก เราเห็นแค่โลกของเราและคิดว่านี่คือปัญหาที่แท้จริง พอแก้แล้วกลับไม่ใช่ มันคือปลายทาง หรืออาจทำให้เกิดปัญหาใหม่”
หัวหิน: เมืองที่ทุกคนไม่หยุดเรียนรู้
ศิวัช บุญเกิด รองปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน เมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรแฝงมากกว่าประชากรจริงเกือบ 3 เท่า
หน้างานของศิวัชนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นสังคมของเมืองในหลายมิติ ไม่ว่าจะประเด็นผู้สูงอายุ การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสุขภาวะ ไปจนถึงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในระดับฐานราก
ที่ไล่เลียงมาทั้งหมดนั้น ศิวัชบอกกับเราว่า งานของเขาคือการพัฒนาคน
“ส่วนตัว ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามในระบบสังคม ถ้าจะให้ยั่งยืน มันต้องเปลี่ยนแปลงจากข้างใน ขณะเดียวกัน เราก็ต้องการวิธีการทำงานใหม่ๆ ต้องการทักษะความเป็นกระบวนกร ต้องการโลกทัศน์และองค์ความรู้ที่หลากหลาย”
เป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการผู้นำฯ ของศิวัชไม่ต่างจากอาจารย์แจวมากนัก นั่นคือ การพาตนเองมาสู่บรรยากาศที่เชื่อในพลังของความหลากหลาย ประเด็นที่หลากหลาย ความเชื่อที่หลากหลาย และวิธีการที่หลากหลาย
“ตั้งแต่โมดูล 1 ปัญญาภายใน ทำให้เราได้เปิดไปสู่ประเด็นและข้อมูลใหม่ๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ การเมือง การศึกษา เพราะการทำงานบางประเด็น สำคัญคือต้องนำด้วยองค์ความรู้ ตัวคนที่ทำงานในพื้นที่เองนั้น บางครั้งก็เมามันกับงานและพื้นที่ของตัวเองจนลืมชำเลืองมองโลกว่าไปถึงไหนแล้ว เกิดอะไรขึ้นบ้าง”
ขณะเดียวกัน โลกทัศน์ที่ถูกขยายกว้างนั้นก็ต้องการความแข็งแรงจากภายใน
“กระบวนการของ NVC (การสื่อสารอย่างสันติ) ทำให้เรากลับมาเข้าใจอารมณ์ ความคิด ความต้องการ เหล่านี้สร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวผมโดยเริ่มจากตัวเอง หลายครั้งในการทำงาน เรามีปัญหากับคนอื่นโดยที่เราไม่รู้ตัวนะ ความคาดหวังของเรามันไปกดทับคนอื่น การสื่อสารของเราไปทำลายความสัมพันธ์โดยไม่รู้ตัว เราจะเป็นหมาป่าหรือยีราฟ เราจะคำรามหรือเราจะรับฟังผู้อื่น”
หลังการเข้าร่วมกระบวนการของโครงการผู้นำแห่งอนาคต ศิวัชกลับไปต่อยอดงานทันที ประเด็นหนึ่งที่เขาเลือกหยิบจับและปรับเปลี่ยนวิธีการ คือการจัดการขยะที่กำลังล้นเมือง
“ที่หัวหิน ขยะวันละ 180 ตัน มันเท่ากับเอาช้าง 180 ตัวมากองรวมกันเลยนะ ถ้าเราเก็บขยะ หรือบริหารจัดการพลาดแค่วันเดียว หัวหินจะเน่าทั้งเมือง เพราะขยะมันเท่ากับตึกสูง 7 ชั้น รถประมาณ 30 คันจะวนจัดการขยะทั้งเมืองแทบทั้งวัน”
จากสถิติข้อมูลขยะของเมืองหัวหินปัจจุบัน พบว่าคน 1 คนสร้างขยะ 0.19 กิโลกรัมต่อวัน คูณด้วยจำนวนประชากรจริง 70,000 คน และประชากรแฝงอีก 250,000 – 300,000 คน
ตัวเลขการเก็บสถิติในทุกปีบอกว่า ขยะยังไม่ลดลง การบริโภคของคนเพิ่มขึ้น และสิ่งแวดล้อมกำลังแย่ลงกว่าเดิม
“เราพบว่า การจัดการขยะของประเทศเราโดยวิธีคิดของนโยบายรัฐนั้นมันไม่ตอบโจทย์ปัญหาของเมือง เราจึงตั้งโจทย์ใหม่ว่า นโยบายหรือเทคนิควิธีการที่ทำอยู่มีปัญหาหรือเปล่า แล้วมีปัญหาตรงไหน
“หลักสูตรอบรมของโครงการ ทำให้เราได้คิดแบบสหวิทยาการ คิดแบบองค์รวม เช่น เมื่อก่อนเราเอาขยะเป็นตัวตั้งในการจัดการ แต่วันนี้ เราจัดการขยะที่ mindset ของคน เราเริ่มไปจับที่แบบแผนความคิดของคน วิธีคิดในการบริโภค การบริการ และการผลิต โครงการให้วิธีคิดเช่นนี้กับเรามา”
เมื่อถอยหลังออกมาหนึ่งก้าว แล้วมองภาพกว้างของปัญหาประหนึ่งตาข่ายที่โยงใย ศิวัชพบว่า คนคือตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนนั้น ต้องเริ่มจากวัยเด็กเล็กที่เข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างแบบแผนของการบริโภคทั้งระบบ เขานำกระบวนการเรียนรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้าไปสู่โรงเรียน ควบคู่ไปกับการทำงานกับวิธีคิดของทุกคนในเมือง เพื่อไปสู่เป้าหมายของภาพเมืองแห่งความสุข เมืองที่ทุกคนไม่หยุดเรียนรู้
โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย
สมิต – อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ขลุกอยู่กับการทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่วัยรุ่นและสนใจในประเด็นการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ปัจจุบัน เขาคือนักจิตวิทยาเชิงบวก และผู้ก่อตั้ง Life Education Thailand เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียนผ่านกระบวนการของจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) และผ่านการทำงานร่วมกับนักเรียน ครู โรงเรียน และครอบครัว
“ประเทศไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่า พื้นที่ปลอดภัยคือไม่ต้องให้เด็กเผชิญอะไรทั้งสิ้น แต่ในความจริงแล้ว พื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่พื้นที่ของการจับผิด แต่คือพื้นที่การเพิ่มพลังใจของคนที่จะนำไปสู่ความคิดใหม่ ถ้าเรามีวิธีการที่ถูกต้องมากพอในการท้าทายวิธีคิดของเด็กและวัยรุ่น เขาจะไปสู่การเรียนรู้ใหม่ที่สร้างสรรค์ได้”
สมิตเข้าร่วมโครงการด้วยความตั้งใจที่จะพบเจอกับผู้คนหลากหลายหรือไกลออกไปจากความคุ้นชินเดิม และเขาได้พบสิ่งนั้น
“เราได้เห็นเลยว่า แต่ละคนที่มานั้นมีประเด็น มีชุดความเชื่อ และมีวิธีการที่มีความเฉพาะตัวซึ่งน่าสนใจมากในการเรียนรู้ร่วมกัน”
กระบวนการเรียนรู้ทั้งสามครั้ง สิ่งที่สมิตได้ค้นพบไม่ใช่สูตรสำเร็จการทำงาน หรือชุดเครื่องมือที่การันตีความสำเร็จ แต่เป็นผู้คนที่หอบหิ้วชุดประสบการณ์ ความเชื่อ เครื่องมือและวิธีการเฉพาะตน ไปจนถึงกรณีศึกษาผ่านเนื้องานของตน
“มันช่วยให้เรากล้าฝัน เช่นคำว่า ‘โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย’ พอคีย์เวิร์ดแบบนี้ออกมาในวงสนทนา เท่ากับว่าเราไม่ได้ว้าเหว่อยู่คนเดียวแต่มีคนจากหลากหลายวงการมาช่วยกันส่งเสียงไปพร้อมกับเรา
“เรากล้าฝันถึงการ transform สังคม ปักหมุดความคิดให้คนในสังคมได้เรียนรู้เรื่องนี้ไปด้วยกัน โดยการส่งเสียงไปยังหลายๆ พื้นที่ หลายๆ บริบท เพื่อให้คนมองเห็นเรื่องนี้และส่งเสียง เรากล้าฝันที่จะทำในสเกลใหญ่ขึ้น”
สมิตเล่าว่า การมาครั้งนี้เขาได้พบพานกับผู้คนหลายแบบ บ้างก็อยู่ในประเด็นการศึกษาเช่นเดียวกัน บ้างก็ฉีกออกไปในประเด็นที่ห่างไกลจากความคุ้นเคยของเขา ตั้งแต่ครู อาจารย์ ผู้อำนวยการ รองปลัดอำเภอ นักการตลาด นักธุรกิจ นักพัฒนาชุมชน ไปจนถึงบาริสตา!
“โลกตอนนี้มันต้องการอะไรที่หลากหลาย พลังที่หลากหลาย และพลังเช่นนี้ต้องการวงคุยในเชิงเป้าหมาย ต้องการพื้นที่ที่เราจะออกแบบเป้าหมายร่วมกันได้บางเรื่อง บางมุม และขยับไปด้วยกันในบางช่วงเวลาได้”
เครือข่ายการทำงานที่ยืดหยุ่นและลื่นไหล คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง โครงการผู้นำแห่งอนาคตเริ่มต้นขึ้นด้วยความเชื่อในพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่กำลังลงมือกระทำการบางอย่างเพื่อคานงัดกับปัญหา ในพื้นที่ ในชุมชน ในความถนัดและความสนใจของตน
ขณะเดียวกัน ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดของสังคมที่รัดรึงคนเหล่านี้ให้ต้องเจออุปสรรคกระทั่งหมดไฟ พื้นที่แห่งการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านทักษะและสภาวะภายใน แลกเปลี่ยนความรู้ เครื่องมือ ไปจนถึงการเกาะเกี่ยวทำงานร่วมกัน จำเป็นอย่างมากในโลกที่ฝันถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลง
“เราในฐานะของคนทำงานภาคสังคม บางทีเราหลงลืมแกนของตัวเองนะ เรามัวแต่ไปมองแกนของสังคมมากจนเกินไป เรามัวแต่ตั้งคำถามว่า สังคมมันควรจะขับเคลื่อนยังไงถึงจะดีที่สุด แต่เราลืมไปว่า สังคมก็คือที่ที่เราอยู่ เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสังคมนี้ขึ้นมา แล้วเราอยู่ตรงไหน มันทำให้เราได้คิด เชื่อมโยงได้ว่าเราและสังคมเชื่อมโยงกันอยู่ เราก็คือแกนหนึ่งในสังคม สังคมก็คือแกนหนึ่งของเรา”
อ่านบันทึกเวทีการเรียนรู้
ปัญญาภายใน บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 1
ปัญญาภายใน บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 2