สวนศิลป์บินสิ! ติดปีกการศึกษา ชีวิตและการเรียนรู้ที่ห้องเรียนไม่ได้สอน4 min read
“เขาทำงานหนักแทบตายเพื่อที่จะซื้ออาหารดีๆ ซื้อเสื้อผ้าดีๆ ซื้อบ้านดีๆ และเพื่อรักษาตัวเอง ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ที่เขารู้สึกไม่มีอำนาจเลือกพวกนี้ เขาต้องไปทำงานหนัก หาเงิน แล้วก็กลับมา
“สังคมเราเป็นสังคมที่ถูกปกครอง ถูกครอบงำโดยกลุ่มอำนาจใหญ่ๆ กลุ่มทุนที่อยู่ข้างหลัง จัดระเบียบสังคมให้ไปสู่ผลประโยชน์ของเขา เพราะการศึกษาก็สร้างมาเพื่อระบบทุน ระบบอุตสาหกรรม ให้คนรับใช้ระบบเหล่านั้น มันไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้คนมีความสุข ให้คนใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรี หรือให้คนเท่ากัน”
วันเวลาในวัยเยาว์เดินไปอย่างเชื่องช้า ขณะเดียวกันก็เฝ้าฝันถึง ‘วัยผู้ใหญ่’ มนุษย์ที่มีปีกเเข็งแรงและโบยบินสูงโลกกว้าง ออกแบบเส้นทางการบินของตนได้อย่างอิสระ ทว่าความเป็นจริง การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ไม่ต่างอะไรกับกรงขัง ภายในโลกทุนนิยมที่จำกัดอิสรภาพ ไม่ยี่หระกับความฝัน และล้อมกรอบด้วยเงินตรา รายได้ ชื่อเสียง เกียรติยศ และความมั่นคงทางฐานะ
ด้วยเหตุนี้ บ่อยครั้งการงานจึงไม่ได้มอบความสุขให้ดั่งปรารถนา กระทั่งความมั่งคั่งอาจต้องแลกมาด้วยสุขภาพทางใจและกายที่ถดถอย…ชีวิตจริงคือเช่นนี้
“คนมาที่นี่เพราะเขาอยากได้พื้นที่ใหม่ๆ ของความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิต เขารู้สึกว่าสิ่งที่มองหาไม่มีอยู่ในระบบการศึกษา ไม่มีอยู่ในการใช้ชีวิตที่เป็นอยู่ ถ้าออกมาใช้ชีวิต ถอยมาอยู่ มาออกแบบพื้นที่ชีวิตใหม่จะเป็นยังไง
“สวนศิลป์ตอบโจทย์ตรงนี้ คือเป็นพื้นที่ทางเลือกให้กับสังคม เพราะชีวิตไม่ได้มีแค่แบบเดียวที่สังคมวางกรอบไว้ มันสามารถออกแบบได้อีกทั้งหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องของการใช้ชีวิต การทำงาน การอยู่กับครอบครัว การจัดชีวิตให้สมดุลอยู่กับธรรมชาติ หรือการทำสิ่งที่เรารักให้เป็นอาชีพและเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ให้กับสังคมได้”
ท่ามกลางพื้นที่ขนาด 2 ไร่ครึ่ง ในจังหวัดลำพูน เบื้องหน้าเป็นป่าน้ำจำพื้นที่ 3,000 กว่าไร่ เบื้องหลังมีสายน้ำไหลผ่าน และได้รับการโอบกอดจากภูเขา ‘สวนศิลป์บินสิ’ คือแหล่งการเรียนรู้ทางเลือกขนาดย่อม แต่เปี่ยมไปด้วยความหลากหลายของรูปแบบในการใช้ชีวิต ผ่านการทดลองทำ ทดลองใช้ชีวิต จากการออกแบบพื้นที่ด้วยตัวเอง โดยมี เนาว์ – เสาวนีย์ สังขาระ เป็นนักผลิตรายการสารคดีอิสระ เจ้าของบินสิโปรดักชั่นเฮ้าส์ เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้
“เราเชื่อว่าเรามีปีก ถ้าเราหาปีกของตัวเองเจอนั่นคือความเป็นอิสระ เราอยากให้สวนศิลป์บินสิเป็นพื้นที่ที่ผู้คนได้เจอตัวตนของเขา มีความมั่นใจ มีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาขยับทำอะไร และติดปีกให้ตัวเอง”
พื้นที่ที่จับต้องได้ ทดลองออกแบบ และใช้ชีวิต
“เราค่อยๆ คลี่ชีวิตเขา ดูพื้นที่ ดูต้นทุนชีวิตที่เขามี และจัดชีวิตให้เห็นองค์ประกอบชัดเจนขึ้น”
นี่คือใจความสำคัญของกระบวนการทดลองใช้ชีวิตและลงมือทำในสวนศิลป์ โดยไม่ว่าจะเลือกมาเรียนรู้ด้วยหลักสูตรแบบไหน จุดเริ่มต้นเมื่อมาถึง ณ ที่แห่งนี้เหมือนกัน นั่นคือการสำรวจตัวเองจากคำถามของเสาวนีย์ที่ว่า ‘ทำไมคุณมาอยู่ที่นี่ อะไรพาคุณมาอยู่ตรงนี้ คุณคาดหวังอะไร และความต้องการจริงๆ ของคุณคืออะไร’
ผลจากการสำรวจนั่น ไม่ใช่แค่คำตอบว่าอยากทำอะไร แต่เป็น ‘ทำไม’ และสวนศิลป์จะเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้ค้นหาตัวเอง มีพื้นที่ว่างและอิสระในการทำสิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น ซึ่งที่นี่มีหลักสูตรให้เลือกถึง 15 หลักสูตร เช่น คอร์สสร้างบ้านดิน คอร์สสร้างบ้านไม้ไผ่ คอร์สเล่าเรื่อง คอร์สกลับบ้าน คอร์สออกแบบพื้นที่ชีวิต ฯลฯ
“การมาเรียนที่นี่ เขาสามารถมีอำนาจสร้างปัจจัย 4 ได้ด้วยตัวเอง ทำให้เขามีอิสระและมั่นใจมากขึ้น เขาสร้างบ้านเองได้ บ้านดิน บ้านไม้ไผ่ หรือบ้านต้นไม้ก็อยู่ได้ เขาอาจจะไม่ต้องซื้อบ้านหรูๆ ผ่อนจนแก่ เป็นหนี้ธนาคาร 20 ปี”
‘คอร์สบุกเบิก’ เป็นคอร์สแรกๆ ที่เชิญชวนผู้คนมาร่วมบุกเบิกและเรียนรู้ เริ่มจากการมองปัญหาของตัวเอง ลองใช้ชีวิตร่วมกัน ออกแบบพื้นที่ชีวิต พร้อมคำนวณต้นทุนที่มี รายได้ และรายจ่ายจากรูปแบบชีวิตที่ต้องการ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ว่าหากเขาเลือกแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนแปลงชีวิตลักษณะนี้จะเป็นอย่างไร
แต่ละคนก็มีคำตอบแตกต่างกันไป บางคนตัดสินใจลาออกจากงานทันที อย่างวิศกรคนหนึ่งนำเงินก้อนที่มีมาซื้อที่ดิน ต้นไม้ใหญ่ อุปกรณ์ทำไร่ทำสวน สร้างบ้านดิน เนรมิตพื้นที่ชีวิตตามความต้องการ โดยขาดทักษะที่จำเป็น ทำให้ล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายปี แม้สุดท้ายเขาจะหาสมดุลชีวิตและไปต่อได้
บางคนลองทำบ้านดิน ขุดร่องทำสวนผัก แล้วพบว่ายังไม่ใช่คำตอบสำหรับเขา แต่คำตอบกลับกลายเป็นการลดชั่วโมงทำงาน เพิ่มเวลาทำสิ่งที่รัก เช่น หมอฟันที่เลือกทำงานเพียงในโรงพยาบาลหรือคลีนิค จากนั้นก็กลับมาทำสวนเล็กๆ ที่บ้าน หรือ บางคนพบว่าพวกเขาเพียงแค่อยากพาครอบครัวมาอยู่กับธรรรมชาติ
“พอเขามาเห็นการจัดการชีวิตให้สมดุล ไม่ต้องทำงานหนักมากขนาดนั้น แค่ทำงานแบบพอดี แล้วรักษาสุขภาพ มีชีวิตที่รื่นรมย์ ทำสิ่งที่รัก จัดให้มันสมดุลมากขึ้น เขาก็จะเห็นตรงนั้น”
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้คนโหยหาท่ามกลางสภาพสังคมปัจจุบัน บางครั้งไม่ใช่การมีทักษะหรือใช้ชีวิตที่พวกเขาไม่คุ้นเคย แต่คือพื้นที่ให้พวกเขาได้ออกแบบชีวิตของตัวเองอย่างสร้างสรรค์
หยอดเมล็ดพันธุ์ของการเติบโต เพราะการเรียนรู้ไม่ได้มีรูปแบบเดียว
“ผมมาที่นี่ได้ไหม ไม่อยากไปโรงเรียนแล้ว รู้สึกว่าโรงเรียนไม่สนุก ครูไม่เคยคุยอะไรแบบนี้กับผม”
“สวนศิลป์ก็อยู่ตรงนี้แหละ ถ้าคุณจะกลับมาเมื่อไหร่ก็มา”
เสาวนีย์บอกเล่าเรื่องราวเด็กป.4 คนหนึ่งที่เธอเจอ ซึ่งถูกครูมองว่าเป็นเด็กหลังห้อง มีปัญหาเรื่องการเรียน ทว่าเมื่อที่เขามาสวนศิลป์กลับมีแววตาเป็นประกาย พื้นที่แห่งนี้จึงไม่ใช่แค่การทดลองใช้ชีวิต แต่ยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง สร้างความเป็นไปได้มากกว่าแค่การศึกษารูปแบบเดียวที่มีอยู่ในระบบ เพราะการศึกษาไทยไม่ได้ออกแบบให้ครอบคลุมหรือหลากหลายพอที่จะรองรับการพัฒนาศักยภาพของคนทุกกลุ่ม
“เด็กในโรงเรียนไทยจะถูกตีตราว่า คนนี้สมาธิสั้น คนนี้เรียนไม่เก่ง คนนี้มีปัญหาอยู่ในเกณฑ์ของออทิสติท จริงๆ แล้วแต่ละคนมีช่วงการเรียนรู้ของตัวเอง คือคนเราเรียนรู้ได้ตั้งหลายแบบ บางคนเรียนรู้ด้วยการอ่าน บางคนเรียนรู้ด้วยการเขียน บางคนเรียนรู้ผ่านร่างกาย บางคนชอบศิลปะ บางคนชอบดนตรี บางคนชอบคณิตศาสตร์ แต่เด็กถูกกดไว้แบบเดียว นั่งในห้องสี่เหลี่ยมเหมือนกัน เรียนเหมือนกัน
“เพราะฉะนั้นเด็กที่ไม่ได้อยู่ในกรอบที่โรงเรียนอยากจะให้เป็น เขาจะมองว่าเป็นเด็กที่สร้างปัญหา เด็กหลังห้อง ต้องถูกทำโทษ เขาก็อยู่หลังห้องตลอด เพราะการศึกษาในระบบไม่มีพื้นที่ให้เด็กเหล่านี้ พวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกมองเห็นความพิเศษหรือเอกลักษณ์ของแต่ละคน ถ้าคุณไม่เก่งวิชาการ ก็แทบจะไม่มีพื้นที่ การศึกษาแบบเหมารวมนี้ ทำให้เด็กเปล่งประกายในแบบที่เขาเป็นไม่ได้”
ด้วยเหตุนี้ ‘ทางเลือก’ ไม่ควรมีอยู่แค่ในกลุ่มผู้มีกำลังทรัพย์ แต่ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึง โดยไม่ต้องถึงวันที่เป็นผู้ใหญ่จึงจะสามารถค้นหาตัวเองและพบสมดุลชีวิตได้ เสาวนีย์บอกเล่าความพยายามทำงานร่วมกับโรงเรียนกระแสหลัก เช่น การพาเด็กไปทำกิจกรรมในโรงพยาบาล เล่นดนตรีให้ญาติผู้ป่วยที่รอคิว หรือการใช้ศิลปะร่วมกับเด็กที่ไม่สบายต้องอยู่ในโรงพยาบาลระยะยาว
“เราไม่ใช่แค่สอนให้เด็กๆ ทำ แต่เข้าไปพาเขาทำกิจกรรมในโรงพยาบาล ให้เขาเห็นว่าศิลปะและดนตรีที่เรียนไปมีคุณค่า เห็นสังคมที่กว้างขึ้นจากในหมู่บ้านของเขา ตรงกว่านั้นคือให้เด็กออกจากกรอบ เพราะในโรงเรียนเด็กเรียนไปแค่เพื่อตัวเอง เพื่อสอบ”
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Day Camp ที่โรงเรียนพาเด็กมาเรียนปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด โดยเขาสามารถเป็นเด็กได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่การบอกว่า “ต้องปลูกให้ดีๆ สิ ปลูกข้าวให้ได้ข้าว” แต่คือการให้เด็กสนุกกับสิ่งที่ทำก่อน อยากเล่นโคลนก็เล่นให้เต็มที่ อยากตะโกนก็ตะโกนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยได้จากโรงเรียนเลย เพราะเด็กๆ มักจะถูกบังคับตลอด และหลังจากการทำกิจกรรมครูก็เห็นความแตกต่างของเด็ก เขารู้สึกว่าเด็กกระตือรือร้น มีไฟอยากทำอะไรมากขึ้น
“เวลาครูกลับไปก็มีพลังมากขึ้น เพราะเขาได้รับความกดดันมากเหมือนกันที่ต้องทำงานในระบบ ในห้องเรียน การมาสวนศิลป์ทำให้ครูเห็นพื้นที่ใหม่ๆ วิธีใหม่ๆ ในการรับมือกับเด็กโดยไม่ต้องบังคับ บางครั้งครูก็ไม่ได้อยากบังคับหรือควบคุมเด็กตลอดเวลา แต่เขาไม่รู้ว่าจะจัดการยังไง เพราะครูต้องทำซ้ำๆ อยู่แบบนั้น มันตันไปหมด”
Fly Again Home การศึกษาที่ติดปีกให้ผู้เรียน และพื้นที่ปลอดภัยเมื่อที่บินกลับมา
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เสาวนีย์มองเห็นปัญหาการศึกษาในระบบ ทั้งที่เธอก็เป็นผลผลิตจากการศึกษานั้นเช่นเดียวกัน คือจินตนาการในเยาว์ที่หายไป จากเด็กหญิงที่ชอบเรียนรู้ อ่านหนังสือจบทั้งหมดตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมด้วยความคาดหวังว่า พอไปโรงเรียนแล้วจะได้เรียนเรื่องอื่นๆ แต่กลับกลายเป็นครูสอนตามหนังสือ สู่การหันไปสนใจศิลปะ เพราะรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่มีอิสระ แต่อิสระนั้นก็ถูกจำกัด
“เราชอบสีม่วงและอยากวาดอะไรที่เราจินตนาการ เลยวาดภาพใบไม้สีม่วงไปส่งครูแบบภูมิใจ แล้วครูก็บอกว่า ‘วาดแบบนี้ไม่ได้ จะไม่ได้รางวัล’ และ ‘ใบไม้สีม่วงไม่มีจริง’ ทำให้เราไม่มั่นใจ ไม่กล้าเป็นสิ่งที่อยากเป็น และเลิกวาดรูป เพราะในจินตนาการเราชัดเจนมากว่ามีใบไม้สีม่วง แต่ระบบการศึกษาและครูไม่เอื้อต่อสิ่งที่เราที่เห็น สิ่งที่เราจินตนาการ”
การตั้งคำถามต่อระบบการศึกษาและความเชื่อมั่นตั้งแต่วัยเยาว์ว่า ‘ฉันยังมีใบไม้สีม่วงของฉันอยู่’ ทำให้หลังเรียนจบมหา’ลัย เสาวนีย์ตัดสินใจออกเดินทางแสวงหาแสวงหาการศึกษาทางเลือกอื่น เพื่อตอบคำถามที่ค้างคาและยืนยันความเชื่อของเธอ
“เราไม่พอใจและตั้งคำถามกับระบบการศึกษามาตลอด มันต้องมีการศึกษาที่ทำให้เด็กกล้าเป็น กล้าคิด กล้าฝัน และไม่ฆ่าจินตนาการของพวกเขา โรงเรียนที่สร้างครูและเห็นความสำคัญของครู แล้วเราก็ไปเจอโรงเรียนทางเลือก ซึ่งโรงเรียนนั้นไม่มีหลักสูตร”
การไม่มีหลักสูตรในที่นี้ คือ การให้อิสระผู้เรียนในการออกแบบหลักสูตรเอง ตั้งแต่อยากเรียนอะไร อยากเรียนแบบไหน อยากให้ใครสอน หลังจากเรียนแล้วจะประเมินยังไง และใครเป็นคนประเมิน เสาวนีย์ใช้เวลา 2-3 เดือน กว่าจะพบว่าคำตอบของคำถามเหล่านั้น
“สิ่งที่เราอยากเรียนก็คือ แค่อยากหาว่าตัวเองสนใจอะไร ชอบอะไร ทำสิ่งไหนได้ดี สิ่งที่ทำจะเกิดประโยชน์ จะส่งผลยังไง แล้วจะใช้ชีวิตต่อจากสิ่งที่เราชอบยังไง ส่วนคนสอนก็เหมือนเป็นโค้ชของเรา โดยประเมินการเรียนรู้จากความรู้สึกว่า เราได้รับการเติมเต็มแล้ว สิ่งที่ทำใช่สำหรับเราแล้ว มันเป็นการเรียนที่ทำให้เรารู้จักและเชื่อในตัวเองก่อน
“การศึกษาเหมือนติดปีกให้เรา I’m ready for the bigger world ตอนนั้นตอบไปด้วยความรู้สึกว่า ฉันพร้อมที่จะออกจากโรงเรียนนี้ไปแล้ว พร้อมกับปีกฉันที่กล้าแกร่ง ฉันอยากจะบิน ฉันพร้อมจะบิน เราได้เรียนรู้มาแบบนั้น”
วันนี้ความตั้งใจเดิมของเสาวนีย์ในการเดินทางรอบโลกอาจจะยังไม่สำเร็จตามแผนที่วางไว้ แต่การกระโจนสู่ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยการกำเงิน 3,000 บาท บุกเบิกพื้นที่การเรียนรู้แห่งใหม่ก็ยังเป็นการทำตามความเชื่อมั่นของเธอ นับเป็นการย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ตั้งแต่ตัดสินใจโยกย้ายตัวเองและครอบครัวออกจากเมืองกรุง สู่ภาคเหนือของประเทศเพื่อใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ หลังจากพบว่า พ่อป่วยเป็นมะเร็ง
เสาวนีย์ตกตะกอนถึงสิ่งสำคัญในชีวิตที่ควรมี นั่นคือ การรู้จักตัวเอง การใช้เวลากับครอบครัว และการมีสังคมที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้
“เวลาจะออกบิน เราเคยรู้สึกว่าสนามบินเป็นบ้าน แต่ตอนหลังพบว่า เรามีปีกอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่เราพับปีก มันก็คือบ้านได้เหมือนกัน ท้ายที่สุดชีวิตต้องสมดุล ระหว่างการออกไปข้างนอกและการกลับมาข้างใน สำหรับเราบ้านอยู่ที่ไหนก็ได้ สำคัญคือพื้นที่ตรงนั้นมีอิสระและและอบอุ่นปลอดภัยให้คุณกลับมา”
ภาพจาก สวนศิลป์บินสิ Fly again Home