ไม้ขีดไฟแห่งความวาดหวังจากภูเขาถึงจักรวาลกว้างคือห้องเรียนไร้ขอบของเด็กทุกคน2 min read
โดยสังเขป ‘ไม้ขีดไฟ’ เริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษาที่อกหักกับการศึกษา (ไทย)
ครูคือศูนย์กลางของห้องเรียน ผู้เรียนคือผู้ฟังที่ภักดี ความสร้างสรรค์มีพื้นที่จำกัด ขณะที่ความสนุกสนานแทบจะไม่มีที่เหยียบยืนในระบบการศึกษาเช่นนี้
กุ๋ย – ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน ผู้ประสานงานกลุ่มไม้ขีดไฟ และเพื่อน ตระหนักดีว่าการศึกษาไทยไม่สามารถทำให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุศักยภาพของตนเอง มากกว่านั้น การศึกษายังไม่ตอบโจทย์ชีวิตของมนุษย์ในสังคมและยุคสมัยที่ซับซ้อนผกผัน การศึกษามีพื้นที่ให้เด็ก ‘เก่งและดี’ แต่ไม่มีพื้นที่ให้ความเก่งรูปแบบอื่นๆ
“เรามาทำกิจกรรมแล้วพบว่า กิจกรรมทำให้คนค้นพบศักยภาพตัวเองอีกหลายด้าน ทั้งด้านศิลปะ การพูด การทำกิจกรรม การอยู่กับผู้คน เราจึงเริ่มเข้าใจตั้งแต่เรียนมหา’ลัยปีท้ายๆ แล้วกลุ่มไม้ขีดไฟก็เลยตั้งขึ้นมา”
โรงเรียนไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต – คือเส้นเรื่องหลักของ ‘กลุ่มไม้ขีดไฟ’ ในการทำงานด้านการศึกษา พวกเขาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย หยิบยืมเครื่องมือและแลกเปลี่ยนไอเดียกับเครือข่าย ชักชวนเด็กๆ เข้ามาทำกิจกรรมบนความสนใจและความสมัครใจ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับทักษะที่สอดคล้องกับศักยภาพและการดำรงชีวิต
“เราจะให้ทักษะในการทำกิจกรรม เช่น การนำเกม การอยู่กับผู้คน การวิเคราะห์สังคม ที่เหลือเราก็ปล่อยให้เด็กมีประสบการณ์ในทางสังคมด้วยตนเอง เช่น เขาอาจมีโอกาสได้ทำโปรเจกต์กับชุมชน ได้เก็บข้อมูลชุมชน ได้ออกแบบกิจกรรมที่เขาจะทำกับชุมชน สุดท้ายเรามีเวทีให้เขาได้พบเจอคุณค่าที่เขาได้ทำ ถ้าชอบก็ลุยต่อ ถ้าไม่ชอบก็รีบหาอย่างอื่นทำต่อไปเพื่อจะได้เจอศักยภาพของตัวเอง”
ธรรมชาติยันจักรวาล การเรียนรู้ไม่มีขอบ
นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา กลุ่มไม้ขีดไฟได้ทำงานร่วมกับ 5 กลุ่มกิจกรรม เพื่อสร้างห้องเรียนธรรมชาติเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายในกับเด็กๆ ชุมชนและผู้ที่สนใจภายนอก ดังนี้
- กลุ่มไม้ขีดไฟ พื้นที่เรียนรู้ด้านทักษะชีวิตและพื้นที่อาสาสมัคร ณ สวนไฟฝัน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
- กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ ทำหน้าที่เชื่อมคนกับป่า ผ่านกิจกรรมหมอยาน้อย เนเจอร์เกม และการเดินสำรวจธรรมชาติบนพื้นที่อุทยานเขาใหญ่
- กลุ่มต้นกล้า ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ธรรมชาติ เน้นที่กิจกรรมดูนก สำรวจธรรมชาติ ป่าชายทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก และพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
- กลุ่มใบไม้ สร้างการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและงานด้านอาสาสมัคร ที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
- กลุ่มลูกมะปราง ทำกิจกรรมด้านภูมิปัญญา ศิลปะธรรมชาติ การพึ่งพิงธรรมชาติ ป่าชายขอบ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
“เราคิดว่าวิชาศิลปะจะช่วยทำให้มนุษย์มีความเติมเต็ม มีความงาม ได้มองไปเห็นความงาม เพลงก็ไม่ต้องฟังเพลงป๊อปเหมือนกันก็ได้ เราก็พยายามทำห้องเรียนศิลปะให้ถี่ขึ้น โดยการเอางานฝีมือ (craft) เข้าไปในห้องเรียน โดยที่ไม่เน้นว่าเด็กต้องมาจับปากกา พู่กันวาดรูปเท่านั้น นี่คือกลุ่มวัยประถม”
ส่วนในวัยมัธยม พวกเขาจะเรียนรู้ในกิจกรรมประจำปีคือ ‘เขาใหญ่ดีจังคราฟท์’ โดยเครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง ประกอบด้วยห้องเรียนสิ่งแวดล้อม โดยการนำงานสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมของตนมาแลกเปลี่ยนกันกลางอุทยาน เป็นกิจกรรมที่ครอบครัวจะได้มาใช้เวลาร่วมกันร่วมกัน เพื่อเปิดโลกเข้าสู่การเรียนรู้
“เราคิดว่าถ้าทำให้คนอยากรู้เรื่องหนึ่ง ก็อยากรู้ไปอีกหลายเรื่อง อยากรู้เรื่องธรรมชาติก็ไปยันจักรวาล” กุ๋ยเล่าพลางยิ้ม
สุดท้ายคือกลุ่มผู้เรียนวัยอุดมศึกษา พวกเขาจะได้เข้าร่วม World Animal Protection ขับเคลื่อนภารกิจยุติการทารุณกรรมสัตว์ เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้ออกมาทำกิจกรรมของสังคมผ่านประเด็น ‘ปัญหา’ โดยมีใจความสำคัญ 3 ส่วนคือ
- ป้อนข้อมูล (input) ที่ผู้เรียนควรรู้
- ปล่อยให้ผู้เรียนไปเจอประสบการณ์ในสังคม
- สรุปการเรียนรู้ร่วมกัน
“อีกไม่นาน เขาใหญ่จะมีประเด็นเรื่องการสร้างเขื่อน 11 แห่ง (ไล่เลียงตั้งแต่ปราจีนบุรี ถึงนครนายก) โดยใช้คำว่า ‘อ่างเก็บน้ำ’ เพื่อสนองนโยบาย EEC ตอนนี้เริ่มมีการสำรวจกัน แล้วทางทีมก็ลงสำรวจพื้นที่สู้กับรัฐอยู่ กระบวนการตอนนี้อนุมัติแล้ว
“หากพวกเราติดตั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ ไปแล้ว พวกเขาน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ รับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ตระหนักสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากกว่าคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีประสบการณ์แบบนี้ เวลาที่อุทยานมีปัญหา น้องๆ พวกนี้เป็นแรงซัพพอร์ตในการต่อสู้กับนโยบายที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นตอนเขื่อนแม่วงก์ก็มีเด็กจำนวนมากที่ออกมาเคลื่อนไหวเหมือนกัน”
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มไม้ขีดไฟและเครือข่ายของเพื่อนพ้อง จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่เพียงสายลม แสงแดด ทิวทัศน์และสุนทรียภาพ หากแต่มันยึดโยงกับการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างไม่อาจแยกขาด ยึดโยงกับอากาศที่เราใช้หายใจ กับแหล่งน้ำที่เราใช้อุปโภคบริโภค กับระบบนิเวศที่เป็นแหล่งอาหารของผู้คนนับไม่ถ้วน
การเรียนรู้ที่ดีควรเป็นเช่นนี้มิใช่หรือ?
ระบบการศึกษา ที่ (ไม่) รัก
ห้องเรียนศิลปะ สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติของกลุ่มไม้ขีดไฟ คือความพยายามหนึ่งในการรื้อถอนมายาคติการเรียนรู้ผ่านศิลปะของห้องเรียนไทย เพราะศิลปะของพวกเขาหมายถึงต้นทุนของชีวิต คือความงาม คือไม้ขีดไฟส่องทางในการต่อสู้ดิ้นรนของชนชั้น ด้วยหลักการสำคัญคือ
หนึ่ง – ไม่ทำซ้ำกับห้องเรียนที่ระบายสีตามกรอบ แต่ออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสนุกกับศิลปะ เพื่อสร้างความหมายใหม่ว่า ‘ศิลปะทำได้ทุกอย่าง’
สอง – ทุกคนสามารถสร้างศิลปะได้ เพื่อหักล้างความเชื่อว่า “คุณเกิดมาเพื่อเป็นศิลปิน จึงจะสามารถทำงานศิลปะ” กลุ่มไม้ขีดไฟเชื่อว่า ศิลปะคือสุนทรียะในชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องการแต่งตัว การเลือกเสื้อผ้า การเลือกสีของใช้ประจำวัน อาหาร ล้วนแล้วเป็นศิลปะทั้งสิ้น
“ศิลปะสามารถนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์ออกมาวางขาย สามารถออกแบบอาชีพใหม่ๆ ได้สารพัดจากความคิดสร้างสรรค์ของคุณ มากกว่านั้น มันเป็นสุนทรียะที่คุณจะประคับประคองชีวิตท่ามกลางความทุกข์ต่างๆ นานา ให้มันผ่านไปได้”
“เด็กๆ ปากช่องที่เราทำกิจกรรมด้วย ส่วนมากไม่ใช่ลูกคนรวย พ่อแม่เคยเป็นเจ้าของที่ดิน ที่ขายให้กับคนรวยไปหมดแล้ว ทุกวันนี้กลายเป็นคนสวน เด็กส่วนใหญ่ก็จะอยู่กับตายาย มีโรงเรียนขนาดเล็กขนาด 100 คน
“ครั้งหนึ่งเราเคยไปทำกิจกรรมการอ่าน เราเชื่อว่าหนังสือดีทำให้คนอ่านหนังสือ ถ้าเด็กได้อ่านสักรอบหรือไปอ่านให้เด็กฟัง ยังไงก็ติดใจถ้าเป็นหนังสือดี แต่คุณครูกลับเอากุญแจมาล็อกไม่ให้เด็กอ่าน โดยให้เหตุผลว่า ตอนนี้ผู้อำนวยการเน้นนโยบายให้เด็กอ่านออกเขียนได้ในวัยอนุบาล
“คุณก็รู้ว่าเร่งเด็กในวัยนี้มันไม่เหมาะสมกับพัฒนาการ แต่นโยบายที่เขาทำมามันกระทบกับเด็กทุกคน เพื่อตามเทรนด์ของกระทรวงศึกษาที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่คือสถานการณ์ที่เราพบกับเด็ก เด็กขาดโอกาสในการเล่น ขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง เพราะวิชาหลักที่ถูกบังคับให้เรียน ถูกขังอยู่ในห้องในโต๊ะสี่เหลี่ยมวันละ 6 ชั่วโมง มันลิดลอนศักยภาพเด็กไปเยอะมาก”
การดำรงอยู่ของกลุ่มไม้ขีดไฟ มีขึ้นเพื่อเด็กๆ และผู้เรียนที่อกหักกับการศึกษาดังเช่นพวกเขาในอดีต ในพื้นที่ที่ปราศจากการขู่เข็ญ บังคับ ยัดเยียด และยึดครองความรู้ เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ใช้คำว่า ‘ลองดู ลองทำ ไม่มีผิดถูก’ จนกลายเป็นวัฒนธรรม พวกเขาไม่ได้มีหวังนักว่าระบบการศึกษาไทยจะเปลี่ยนแปลงในเร็ววัน นั่นคือเหตุผลที่ ‘กลุ่มไม้ขีดไฟ’ ยังทำงานต่อเนื่องมาร่วม 20 ปี