Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์

พระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ: การจัดการเรียนรู้แบบเชื่อมโลกและชีวิต ด้วยวิธีคิดแนวราบ1 min read

Reading Time: 2 minutes  “พระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ” หรือ “พระอิฐ” ผู้เข้าสู่เพศบรรพชิต มีชื่อในทางธรรมว่า “โชติปญฺโญ” จากจังหวัดตรังกลับค้นพบเส้นทางที่แตกต่างสำหรับการสร้างการเรียนรู้ ผสานการสอนธรรมเข้ากับระบบการศึกษา โดยไม่ยึดสถานะ “พระ” มาตั้งเป็นศูนย์กลาง แต่เชื่อมั่นในผู้เรียนและชุมชนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง Aug 27, 2024 2 min

พระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ: การจัดการเรียนรู้แบบเชื่อมโลกและชีวิต ด้วยวิธีคิดแนวราบ1 min read

Reading Time: 2 minutes

สังคมไทยในอดีตชุมชนเติบโตคู่กับวัดอย่างแยกไม่ออก นอกจากจะเป็นที่พึ่งทางใจ วัดยังเป็นสถานศึกษาบ่มเพาะเยาวชนอีกด้วย ดังนั้น “พระสงฆ์” จึงมีบทบาทสำคัญในฐานะตัวละครหนึ่งของระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน 

อย่างไรก็ตามเพราะความเป็น “พระ” ที่สืบทอดคำสอนและความศักดิ์สิทธิ์ ก็ทำให้การเข้าไปจัดเรียนการสอนศาสนาในโรงเรียนปัจจุบันไม่ได้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่กลายเป็นทางแพร่งระหว่างการอบรมชี้ถูกผิด ให้นักเรียนกลายเป็นคนดี กับอำนาจเหนือท่ามกลางมายาคติของสังคมในการควบคุมชั้นเรียน

 “พระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ” หรือ “พระอิฐ” ผู้เข้าสู่เพศบรรพชิต มีชื่อในทางธรรมว่า “โชติปญฺโญ” จากจังหวัดตรังกลับค้นพบเส้นทางที่แตกต่างสำหรับการสร้างการเรียนรู้ ผสานการสอนธรรมเข้ากับระบบการศึกษา โดยไม่ยึดสถานะ “พระ” มาตั้งเป็นศูนย์กลาง แต่เชื่อมั่นในผู้เรียนและชุมชนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการสื่อสารธรรมวิถีนี้ พระอิฐยืนยันว่าไม่ใช่สิ่งใหม่แต่เป็นการกลับไปหาแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มุ่งไปสู่การคิด ทบทวน ดับทุกข์ และความรู้ความเข้าใจโลกและชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจอื่นใดในการบังคับให้เกิดการเรียนรู้

การจัดการเรียนการสอนแบบเชื่อในตัวมนุษย์เป็นอย่างไร การเชื่อมโยงโลกและชีวิตเข้ากับการเรียนรู้ของพระอิฐเริ่มก้าวแรกจากสิ่งไหน

จากฆราวาสไปสู่พระ ผู้ไม่ต้องการส่งไม้ต่ออำนาจนิยมทางการศึกษา

พระอิฐห่มผ้าเหลืองมาได้ 13 พรรษา นับตั้งแต่วันที่ 11 เดือน 11 ปี 2011 เป็นวันบวชที่ตั้งใจให้จำง่าย ปัจจุบันมีอายุ 36 ปีและนอกเหนือจากศาสนกิจประจำวันตามกิจของสงฆ์ พระอิฐยังได้ไปข้องแวะกับระบบการศึกษาไทยผ่านการเป็นครูพระสอนศีลธรรมที่โรงเรียนวัดนิคมประทีป (โคกหล่อ) ต.โคกหล่อ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นวัดที่บวชและจำพรรษา นอกจากนี้ยังได้รับนิมนต์จากองค์กรต่างๆ และโรงเรียนในการอบรมเยาวชนและทำค่าย รวมถึงเป็นประธานสนามสอบธรรมศึกษาในฐานะ “ครูพระสอนศีลธรรม” และ “พระธรรมวิทยากร” ในเครือข่ายของกรมการศาสนาอีกด้วย

“อาตมาเคยเรียนจบปริญญาตรีทางโลกมาก่อน สาขาภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกาศนียบัตรมัคคุเทศก์ขั้นสูง จบมาก็ทำงานเป็นล่าม และด้านการท่องเที่ยว ทำงานไปๆ สังสรรค์เยอะไปหน่อยสุขภาพเลยไม่ค่อยดี ไปหาหมอเขาก็ให้พักฟื้น ช่วงนั้นพอดีเพื่อนบวชหน้าไฟย่าเลยมาชวนบวชเป็นเพื่อนกัน โชคดีได้ข้ามพรมแดนการเรียนรู้สู่ด้านในที่แตกต่างจากโลกภายนอก รู้สึกมีความสุข สงบ สัมผัสคุณค่าความหมายบางอย่างก็เลยบวชอยู่ต่อ”

ช่วงปีแรกที่บวชพระอิฐก็ได้มีโอกาสอยู่กับชุมชน เริ่มเข้าไปทำกิจกรรมกับเด็กและโรงเรียนรอบๆ เมืองโดยเฉพาะการได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับค่ายธรรมะที่พระอิฐเคยมีประสบการณ์อึดอัดในช่วงมัธยมมาก่อน เนื่องจากมีการเคร่งกฎระเบียบ ต้องท่องจำธรรมะ และการกระตุ้นอารมณ์ให้นักเรียนร้องไห้ด้วยคำพูดของพระวิทยากร

“บางอย่างเราก็รู้สึกโอเคแต่บางอย่างเราก็ไม่โอเค แล้วจากคนที่ถูกกระทำวันนั้นต้องมาเป็นผู้กระทำการวันนี้ เราก็ เอ้อ ทำยังไงที่เราจะไม่ต้องเป็นคนที่วันหนึ่งเราไม่ชอบ เราไม่อยากเป็นคนนั้น”

อย่างไรก็ตาม พระอิฐกล่าวต่อไปว่าในช่วงแรกยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนักเพราะยอมรับว่าพื้นที่ศาสนาเป็นพื้นที่ที่มีอำนาจกดทับคนอยู่โดยไม่ได้รับฟังผู้คนเท่าไหร่ พระอิฐจึงพยายามที่จะออกไปหาความเป็นไปได้ ในการสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่มากกว่าสิ่งเดิมๆ ที่พระอิฐไม่ต้องการให้เด็กรุ่นต่อไปต้องเผชิญ

“ก็ได้ไปเรียนรู้การกลับมาเชื่อมโยงกับตัวเองผ่านการภาวนาที่สวนโมกข์ และ วัดป่าสุคะโต ได้ฝึกเทคนิคการโค้ช จากสถาบันโค้ชไทย และกลับมาเยียวยาด้านในด้วยกระบวนการให้คำปรึกษา (Counseling) จากครูบาอาจารย์กลุ่มคิลานธรรม รวมถึงเรียนรู้เรื่องอำนาจ การสื่อสาร และสันติวิธี จากสถาบันสันติศึกษามหิดล และ INEB ทำให้ตระหนักความสำคัญกับปัจจุบันขณะและการอยู่กับคนตรงหน้า การเรียนรู้ที่มีความหมายต่อผู้คน เรารู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มีความสำคัญ ในพื้นที่ทางศาสนา มักเผลอใช้ สิทธิพิเศษของเราไปกดทับคนอื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว”

การเรียนรู้ทำให้พระอิฐค้นพบความหมายใหม่ๆ ยังมีวิธีการนอกจากตามรูปแบบขนบที่สามารถเชื่อมโยงกับธรรมะของพระพุทธเจ้า จุดนี้พระอิฐยกตัวอย่างว่าปกติพระเทศน์นั้นมักเป็นการสื่อสารทางเดียวที่อาจไม่ได้ตระหนักต่อผู้คนตรงหน้าจริงๆ ทั้งที่ตอนเราสื่อสารนั้นผู้คนหน้าเราอาจมีความทุกข์มีความเจ็บปวดอยู่ พระเทศน์ว่าความทุกข์มันไม่ดี ต้องปล่อยวางสิ ชีวิตไม่เที่ยง ความคิดของพระที่ยังไม่ทันได้เข้าใจเขาจริงๆ ไม่อาจทำให้ทุกข์ในใจได้รับการเข้าไปสำรวจ เห็นอกเห็นใจ และคลี่คลายได้เลย

“วิธีการสร้างการเรียนรู้ของพระพุทธเจ้าคือการเดินไปหาคนตัวเล็กตัวน้อย ไปรับฟังเขา อยู่กับคนตรงหน้าอย่างลึกซึ้งว่าเขามีความทุกข์อะไรในชีวิต แล้วมีอะไรที่พระพุทธเจ้าในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจะเกื้อกูลได้ชวนเขากลับเข้ามาทบทวนโลกและชีวิตด้านใน ค่อยๆก้าวข้ามความทุกข์ด้วยตัวเขาเอง อันนี้ทรงพลังมาก เราอยากเอาการเรียนรู้ที่มีความหมาย สามารถเชื่อมโยงโลกและชีวิตของผู้เรียนแบบนี้ เข้ามาทำให้พุทธศาสนาลิงก์ไปยังชีวิตและประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ได้ เลยมาทำก่อการครูพระนี่แหละ”

การเรียนรู้แบบมีความหมาย ยุติการตัดสินถูกผิดไปสู่การเรียนรู้แนวราบ

“เราเคยได้พบองค์ทะไลลามะ ท่านบอกว่าการเรียนรู้ศาสนาที่เชื่อมโยงความหมายชีวิตในยุคหน้า ไม่ต้องพูดเรื่องศาสนาแต่ให้กลับมาเห็นถึงจุดร่วมที่เป็นความดีสากล”

พระอิฐเล่าถึงข้อคิดหนึ่งที่ได้พบจากการพูดคุยกับองค์ทะไลลามะ ซึ่งวิชาพุทธศาสนาในระบบการศึกษาไทยปัจจุบันมักสอนให้ท่องจำไม่ว่าจะเป็นบทสวดหรือพุทธประวัติ จนทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากตั้งกำแพงกับการเรียนรู้ศาสนากว่าคนรุ่นก่อน จุดนี้พระอิฐจึงปรับวิธีการสร้างการเรียนรู้มาสู่การเรียนรู้แนวราบที่ใช้ความดีสากลในการเรียนการสอนเป็นหลัก เนื่องจากคำว่า “ทุกข์” ของทุกๆ คนไม่แตกต่างกัน เชื่อมโยงกันได้ “น้ำตาของผู้คนทุกเชื้อชาติศาสนามีรสเดียวกัน” การเยียวยาด้วยความรักและความเข้าใจก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเชื่อมโยงและรับรู้ได้เช่นเดียวกัน

“เรื่องพวกนี้มันจำเป็นยิ่งกว่าหลักสูตรธรรมะที่เต็มไปด้วยข้อมูลมากมายให้จำในหัว แต่เมื่อเจอความทุกข์ พลัดพราก สูญเสียต่อหน้าต่อตา หากนำข้อมูลในหัวพาชีวิตพ้นจากความทุกข์โทมนัสไม่ได้ มันก็ไม่เชื่อมโยงและเกิดความหมายกับชีวิต”

หน้าที่สอนหนังสือ พัฒนาหลักสูตร และอบรมพัฒนาทักษะของผู้เรียน ทำให้พระอิฐได้สามารถนำการสอนรูปแบบใหม่เข้าไปใช้งานจริง โดยเฉพาะวัยรุ่นที่กำลังต้องจัดการปัญหาทุกข์ สุข เศร้า ของตัวเองให้ได้นั้น พระอิฐมองว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการให้นักบวชเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง

“เราเชื่อในการทำวงไดอาล็อก (Dialog) เวลาเราไปออกค่ายคุณธรรมทุกครั้งเราไม่ได้ไปเป็นคนสอนสั่ง แต่ได้ไปเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ มากมายจากการที่แต่ละคนเอาโลกกับชีวิตของพวกเขามาแบ่งปันกัน”

พระอิฐขยายความว่า สิ่งสำคัญในการทำวงพูดคุยดังกล่าวคือการให้โจทย์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตของผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้ เช่น การถามผู้เข้าร่วมว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต การที่ทุกคนอยู่ในวงเสวนาและรู้สึกว่าวงนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ทุกคนตรงนี้เป็นพยานของเหตุการณ์ทั้งสุขและทุกข์ เขาก็รับรู้ได้ถึงความเชื่อใจ เชื่อมั่น และวางใจพร้อมจะเปิดใจที่จะเล่า ก่อนเขาจะค่อยๆ กลับไปตระหนักถึงตัวตน ศักยภาพภายใน และค่อยๆ ข้ามผ่านความเจ็บปวด นำพาชีวิตไปต่อได้อย่างมั่นคง พระอิฐกล่าวว่าสิ่งนี้แท้จริงแล้วคือกระบวนการของอริยสัจ เป็นการตระหนักถึงโลกภายใน รู้จักความทุกข์ สาเหตุ มองทางออกด้วยสันติในใจ แล้วค่อยหาทางไปให้ถึง

“แต่ถ้าเราให้ข้อมูลเขาไปแต่แรกว่ามันคืออริยสัจ คืออริยมรรค มันงงงวยจากข้อมูล หลักสูตรศาสนาเต็มไปด้วยข้อมูล แต่ถ้าเราเชื่อมโยงการเรียนรู้กับประสบการณ์ชีวิตของศิษย์ได้แล้ว ค่อยมาย่อยกระบวนการให้เขาทีหลัง เขาจะเข้าใจเลย แล้วเขาจะพาเครื่องมือที่ได้รับจากประสบการณ์ตรงไปช่วยเพื่อนมนุษย์ต่อได้ด้วย”

เมื่อถามถึงผลที่ได้รับ พระอิฐเล่าว่า ทุกข์สุขแม้จะเป็นนามธรรมแต่เฉดของอารมณ์มนุษย์เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจเหมือนกัน การถามคำถามหลังจบกระบวนการว่าสภาวะระหว่างการย้ายอารมณ์จากทุกข์ไปสุขเป็นอย่างไรนั้น ทุกคนเข้าใจ และทำให้ผู้เรียนสามารถกลับมา “เชื่อมั่น” ในตัวเอง ยืนได้ด้วยกำลังขาของตัวเอง ไม่ต้องไป “ศรัทธา” ในตัวผู้อื่นก่อนจนหลงลืมที่จะรักและเชื่อมั่นในตัวเอง ดังพุทธพจน์ที่เน้นย้ำให้เรากลับมาทำตามเจตน์จำนงตัวเองว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

เด็กไม่เปิดใจในการเข้าร่วมกระบวนการ พระอิฐกล่าวว่าเราต้องกล้าที่จะเป็น “ที่ว่าง” รับฟังและไม่ต้องบังคับให้เขาเปิดใจทันที การพยายามเขาเปิดใจเป็นความอยากของเรา เราต้องอยู่กับคนตรงหน้า ไม่คาดหวังให้ผู้เรียนเชื่อไปหมด หรือแม้แต่ต้องยึดมั่นศาสนาแบบพระ 

“เธอไม่มีศาสนาก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่กลับกัน ถ้าเธอไม่มีความรักความเมตตาแม้แต่ต่อตัวเธอเองจะทำให้ชีวิตเธอมีความทุกข์ อันนี้เธอลองกลับไปคิดใหม่นะ คิดดีๆ … ส่วนถ้าเด็กถามคำถามที่พระตอบไม่ได้ ก็ยอมรับว่าตอบไม่ได้ และชวนเด็กๆไปหาคำตอบด้วยกัน และพระก็จะกลับไปค้นคว้าแล้วคาบหน้าจะมาแลกเปลี่ยนกัน”

หลุดพ้นจากกรอบมายาคติ แต่ยังมีความท้าทายของระบบการศึกษาและศาสนาขนาดใหญ่

“เราเป็นประธานสนามสอบนักธรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง 

ความท้าทายคือแม้เรายังไปขยับอะไรในระบบไม่ได้ แต่เราสร้างความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนได้”

พระอิฐพูดถึงการสอบนักธรรมที่ผู้ออกข้อสอบคือส่วนกลาง แม้ไม่อาจปรับวิธีการวัดผลได้อย่างที่อยากให้เป็นเพราะมีหน้าที่แค่ไปติวให้นักเรียนสอบผ่านและจัดสนามสอบเท่านั้น อย่างไรก็ตามพระอิฐยังพยายามที่จะสอดแทรกเทคนิคต่างๆ การใช้การ์ดเกม สื่อสมัยใหม่ เพื่อให้เนื้อหาธรรมะไปด้วยกันกับประสบการณ์และความหมายในชีวิตของผู้เรียน

“เราแยกเป็นส่วนที่เป็นเนื้อหาของส่วนกลาง เราจะใช้เวลาสรุปประเด็นแบบติวเตอร์ รวบรัดให้เขาเข้าใจข้อมูลได้มากที่สุดโดยที่ไม่ใช้เวลาเยอะเกินไป เอาก้อนข้อมูลไปสอบ แต่อีกครึ่งหนึ่งคือเชื่อมโยงเนื้อหาที่ทำให้พวกเขาเข้าใจโลกและชีวิตพวกเขาผ่านเครื่องมือของเรา มันต้องแบ่งรับแบ่งสู้”

พระอิฐเสริมว่าหากปฏิเสธระบบไปเสียทั้งหมดก็คงไม่สามารถที่จะขยับระบบเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่การยอมตามระบบไปทั้งหมดเด็กก็คงไม่ได้เครื่องมืออะไรไปใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้เลย

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มครูที่ไม่ใช่พระในช่วงแรกอาจยังไม่เข้าใจมากนัก แต่พระอิฐก็ใช้เวลาค่อยๆ สื่อสารทำให้ครูเข้าใจในกระบวนการ เพื่อเชื่อมประสานให้ระบบปกติและความเป็นไปได้ใหม่ๆยังดำเนินต่อไปได้ด้วยกัน ขณะเดียวกันในกลุ่มพระรูปอื่นๆ ก็ไม่ได้มีแนวคิดที่ตรงกันทั้งหมด เพราะมุมองและวิธีการที่แตกต่างกัน พระอิฐจึง “ออกมาสร้างโลกของตัวเอง” และเชื่อว่า หากวันหนึ่งพวกเขาหันเข้ามาใคร่ครวญกระบวนการนี้อย่างเข้าใจ พระรูปอื่นๆ จะหันกลับมาสนใจเอง

“เราทำก่อการครูพระก็มีคนที่กล้าเสี่ยงมาร่วมอยู่… ตอนแรกเราสมัครก่อการครูไปแล้วเป็นพระรูปแรก ออกจาก safe zone มาก จากพื้นที่ตรงนั้นแหละที่เรารู้สึกเติบโต เป็นความรู้สึกว่ามนุษย์คุยกับมนุษย์ ไม่ใช่ความรู้สึกของพระผู้ศักสิทธิ์คุยกับมนุษย์ผู้มีกิเลส เราเลยเปิดรับสมัครพระมาเป็นก่อการครูพระ เราเชื่อว่าเราทำแบบนี้เป็นค่ายแรก”

พระอิฐกล่าวว่า ได้นำสมาชิกก่อการครูพระทั้ง 30 รูปไปนั่งคุยกับผู้คนในมูลนิธิกระจกเงาเพื่อรู้จักกับความทุกข์ก่อน ให้ได้เจอและรับฟังคนตรงหน้าอย่างแท้จริง พาไปดูงานพระพุทธศาสนามนุษย์นิยมจากฝั่งมหายานที่วัดฝอกวงซัน ต่อมาจึงพาไปศึกษาวิธีการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้เห็นว่าการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญต่อผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นอย่างไร พระอิฐกล่าวว่านี่คือการจุดประกายความคิดของพระทุกรูปที่ไปด้วยกัน เมื่อเขากลับไปในพื้นที่การเรียนรู้ของตนเองก็ให้ทุนไปดำเนินโครงการที่เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในรูปแบบของตัวเองต่อไป

ปัจจุบันมีหลายโครงการที่เกิดตามมา เช่น วัดเทพลีลาที่ให้เด็กไปช่วยเก็บขยะในชุมชนเพื่อนำมาแลกกับปัจจัยของวัดที่เหลือใช้ หรือการที่มีพระซึ่งเคยเป็นเชฟมาก่อนสอนให้เด็กในชุมชนทำอาหารเป็น ให้เด็กไปร่วมกับกิจกรรมชุมชน เช่น การทำอาหารแจกในงานชุมชนต่างๆ เพื่อให้เขารู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาก็มีคุณค่าและความหมาย กลับมาถอดบทเรียนเชื่อมโยงกับธรรมะ เป็นต้น

“การสื่อสารกับชุมชนก็สำคัญนะ บางทีก็มีผลสะท้อนจากชุมชนเหมือนกันว่าทำไมพระไม่อยู่วัดสวดมนต์ มาทำอะไรแบบนี้ได้ยังไง… การสื่อสารที่ทรงพลังที่สุดคือทำให้พวกเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงกับผู้เรียน ให้เด็กเป็นคนกลับไปสื่อสารเองว่าการเรียนรู้ด้วยกระบวนการพวกนี้ส่งผลต่อเขาอย่างไร หรือให้ชุมชนมาร่วมกิจกรรมด้วยเลย”

พระอิฐยกตัวอย่างการสร้างการเรียนรู้กับชุมชนครั้งล่าสุดที่ค่ายคุณธรรม พระอิฐชวนคุณป้าคุณยายในชุมชนเข้ามาสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ไม่ให้มาบรรยายตามปกติแต่ให้นำตัวตนของคนเหล่านั้นมาเป็นการสอน เพราะสิ่งนั้นคือธรรมะในตัวพวกเขาเอง

“เขาทำขนมขายก็ให้มาสอนทำขนม เขาทำดอกไม้จันทน์ ทำนา ก็เอาตัวตนของเขามาสอน ให้เด็กมาคัดเมล็ดข้าว ทำขนม ทำอาหาร ทำเสร็จก็ใช้กระบวนการเหมือนเดิม เด็กสนุก คนเฒ่าคนแก่ก็รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า แล้วพาถอดบทเรียน I feel, I think และ I wonder นี่แหละ”

การทำแบบนี้ทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าของตัวเองว่าสามารถนำมาใช้สร้างการเรียนรู้ภายในให้เด็กได้ พระอิฐบอกว่านี่คือปัญญาที่แท้จริง ออกมาจากตัวของคนเองไม่ใช่การยัดเยียดข้อมูลเข้าไปให้จำด้านเดียว

“ความท้าทายตอนนี้จึงเป็นเรื่องของการสื่อสาร การทำเรื่องใหม่ต้องใช้เวลา เราก็เป็นพระตัวเล็กๆ ในพื้นที่เล็กๆ การขยับก้าวไปในแต่ละก้าวต้องพบเจอกับระบบที่ไม่ง่าย เราต้องสื่อสารให้เข้าใจ”

ขณะเดียวกันพระอิฐบอกว่า ไม่ว่าพระทำอะไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุด คือ การกลับมาทบทวนจุดยืนด้านในของตนเอง ต้องมีจุดยืนของพระที่จะฝึกฝนขัดเกลาตัวเองไปพร้อมกัน และไม่ทำเพื่อเพิ่มอัตตาตัวตน ไม่งั้นจะไม่มีพลังกลับไปสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเชื่อมโยงกับเพื่อนมนุษย์ได้แท้จริง

เมื่อถูกถามถึงการวางแผนขยายผลการสอนแบบใหม่ พระอิฐเน้นย้ำว่าการวัดผลในทางโลกกับทางธรรมไม่เหมือนกัน ทางธรรมไม่ได้เน้นปริมาณว่าต้องเพิ่มให้มาก ไม่ได้ขยายทางกว้างอย่างเดียว แต่ทัศนคติที่ดีต้องหยั่งรากแก้วลึกลงไปในใจของคนที่เข้ามาด้วย

สำหรับคนที่ตั้งใจมาเดินร่วมกับแล้ว พระจะมีอะไรต่อยอดให้กับเขาบ้างที่จะทำให้เขามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น

เมื่อฤดูกาลมาถึงดอกไม้มันจะบานเอง คนที่เขามีเหตุปัจจัยเหมาะสมแล้วเราค่อยๆ พัฒนาเขา เมื่อเขาบานแล้วเขาจะไปขยายผลต่อเอง เราอย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าตอนสอนคนครั้งแรกมีแค่ห้าคน แต่ถ้าห้าคนนั้นเป็นตัวจริง มันจะเพิ่มจำนวนขึ้นเอง เราต้องเชื่อในตัวมนุษย์”

Your email address will not be published.