Korkankru

คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์ ห้องเรียนข้ามขอบ

ทำไมเราจึงต้องการ “ห้องเรียนข้ามขอบ”2 min read

Reading Time: 2 minutes “ห้องเรียนข้ามขอบ” ไม่ใช่แค่การสร้างทางเลือกทางการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อให้เด็กได้วุฒิการศึกษา แต่เป็นการทำงานในเชิงความคิด เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของทั้งระบบการศึกษาที่ใคร่ครวญความคิด สร้างความรู้ในการจัดการศึกษา และนำพาให้เด็กๆ ได้รู้จักตนเอง สามารถพาตัวเองไปสู่เป้าหมายและเผชิญปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีปัญญา เพราะนั่นคือความหมายของ “การศึกษาที่แท้” Nov 7, 2024 2 min

ทำไมเราจึงต้องการ “ห้องเรียนข้ามขอบ”2 min read

Reading Time: 2 minutes

หากจะพูดถึงปัญหาที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากระบบการศึกษา-

ไทยเรายังคงได้ยินเรื่องเดิมซ้ำๆ ต่อเนื่องแทบทุกจะช่องทางทั้งบทความงานเสวนา หรืองานวิจัยและก็ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่มีเด็กกว่า 1.02 ล้านคนที่หลุดจากระบบการการศึกษา เด็กมากมายขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ และได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับ แต่การศึกษาในระบบก็ไม่ตอบโจทย์ทักษะที่จำเป็นในอนาคต และไม่ยืดหยุ่นพอที่จะตอบสนองต่อความสนใจหรือเป้าหมายในชีวิตของเด็กแต่ละคน ทำให้คนที่ได้วุฒิจากระบบการศึกษาไม่มีทักษะที่พร้อมนำไปใช้ทำงานได้จริง รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนที่เป็นปัญหาสำคัญต้องเฝ้าระวังในขณะนี้ 

ดังนั้นถ้าจะตอบคำถามว่า ทำไมเราจึงต้องการ “ห้องเรียนข้ามขอบ” ก็คงต้องกลับไปทำความเข้าใจกันก่อนว่า แล้ว “ขอบ” ที่กำลังชวนทุกคนข้ามนั้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และเกี่ยวข้องกับปัญหาข้างต้นอย่างไร

ประดิษฐกรรมที่เรียกว่า “ระบบการศึกษา”

โดยธรรมชาติเมื่อมนุษย์เกิดมาก็เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวเพื่อที่จะเอาชีวิตรอดอยู่แล้ว ความรู้ที่ได้จากการทำความเข้าใจธรรมชาติรอบตัวและทำให้เกิดทักษะในการดำรงชีพต่างๆ นั้นถูกถ่ายทอดต่อกันมารุ่นสู่รุ่น เป็นการศึกษาที่จัดการกันเองโดยประชาชน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่หลากหลาย สอดคล้องกับศักยภาพ ความจำเป็น วิถีชีวิตของแต่ละคน ไม่ได้มี “ระบบ” ไม่มีการแบ่งแยกหน่วยงานที่จะมารับผิดชอบมาสอนลูกหลานของเรา ไม่มีการแบ่งแยกวิชา ไม่มีการกำหนดอายุที่จะได้เรียนรู้ ไม่ได้มีการวัดคุณภาพคนด้วยวุฒิการศึกษา

การศึกษาของคนไทยที่จัดการโดยรัฐและถูกควมคุมโดยศูนย์กลางเกิดขึ้นใน พ.ศ.2435 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่มีการปฏิรูปการปกครองโดยรวมศูนย์อำนาจ และกำเนิดรัฐชาติสมัยใหม่ (Nation State) การปรับเปลี่ยนประเทศภายใต้กรอบแนวคิดเรื่อง “ความเจริญ” ตามมาตรฐานของจักรวรรดินิยมตะวันตกขณะนั้น ค่อยๆ เข้าไปแทรกอยู่ในวิถีชีวิตทุกๆ ด้านของชาวสยาม “ระบบศึกษา”ถูกสร้างขึ้นเพื่อเตรียมคนเข้าสู่สังคมแบบใหม่ที่มีความทันสมัย และเตรียมคนเข้าสู่ระบบราชการแบบใหม่ที่เป็นผลจากการปฏิรูปการปกครอง มีการกำหนดเนื้อหาการเรียนการสอนให้มีเพียงรูปแบบเดียว เพื่อตอบสนองอุดมการณ์ของรัฐและต่อมาเมื่อระบบเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ก็ตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ระบบการศึกษาจึงมุ่งผลิตคนให้เป็นฟันเฟืองหรือเครื่องมือในระบบการผลิต มากกว่าคนที่มีศรัทธาในตัวเอง และมีเจตจำนงอย่างอิสระที่จะกำหนดทางเลือกของชีวิตตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรี

“ขอบ” ที่ถูกสร้างขึ้น

เมื่อมี “ระบบการศึกษา” ที่กำหนดให้มีความรู้ชุดเดียว กระบวนการสอนและการวัดผลแบบเดียว ได้ส่งผลให้เกิด “ขอบ” ต่างๆ ขึ้นมามากมายทั้งในระบบการศึกษาเอง และในวิธีคิด ค่านิยมของคนในสังคม ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการพัฒนาชีวิตของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน

ขอบแรกที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อมีระบบการศึกษาคือ ขอบที่แบ่งกั้นความลื่นไหลและหลากหลายโดยธรรมชาติของการเรียนรู้ เด็กๆ ไม่ได้เลือกเรียนรู้อย่างอิสระและสอดคล้องตามความต้องการและบริบทของตัวเอง ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้

ขอบ นี้กลายเป็นเส้นที่แบ่งแยก การเรียนรู้นอกห้องเรียน กับ การศึกษาในระบบ ออกจากกัน โดยมีความรู้ชุดหนึ่งที่ถูกเลือกให้อยู่ใน “ระบบการศึกษา” และถูกสอนในห้องเรียน ซึ่งผู้ที่ศึกษาจนจบตามระบบ ก็จะได้รับการรับรองโดยการให้ “วุฒิการศึกษา” และถือว่าเป็น “ผู้มีการศึกษา” ส่วนการเรียนรู้ศาสตร์และความรู้ที่หลากหลายนอกห้องเรียนนั้น จะไม่ได้รับการรับรองโดยรัฐและไม่ได้รับวุฒิการศึกษา 

ความรู้ในห้องเรียนหรือในระบบการศึกษาจึงได้รับการยอมรับมากกว่า ถูกมองว่ามีคุณค่ามากกว่า เพราะวุฒิการศึกษาจะสร้างโอกาสที่ดีกว่าสำหรับอนาคตได้ ในขณะที่ความรู้นอกห้องเรียน ก็ถูกลดทอนคุณค่าและความสำคัญลง  ทำให้ทางเลือกของผู้เรียนถูกจำกัดให้เลือกเรียนรู้เฉพาะความรู้-วิชาในระบบการศึกษา  ขอบนี้จึงทำให้เด็กๆ หลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในระบบได้ ต้องเรียนรู้นอกโรงเรียน รู้สึกด้อยกว่า เพราะความรู้และประสบการณ์ของเขาไม่ได้รับการรับรองด้วย “วุฒิการศึกษา”

ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่ในการให้วุฒิการศึกษาเอง ก็ยังมี ขอบ ที่แบ่งคุณค่าของวุฒิต่างๆ ไม่เท่ากันตามค่านิยมของสังคม เช่น เมื่อพูดถึงนักเรียนสายวิทย์ สายศิลป์ อาชีวะ คนที่เรียนจบแพทย์ จบวิศวะ จบครู จบมหาวิทยาลัย หรือ วิทยาลัย ก็มีการให้คุณค่าที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการตัดสินคุณค่าตัวเอง มีดีกว่า ด้อยกว่า

นอกจากนี้ระบบการศึกษายังสร้าง ขอบ ที่แบ่งแยกการเรียนรู้วิชาหรือศาสตร์ต่างๆ ออกจากกัน ซึ่งนอกจากจะไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตจริงแล้ว การเน้นเฉพาะวิชาการหรือทักษะวิชาชีพยังสร้าง ขอบ ที่สำคัญมากๆ ขึ้นมาอีก ก็คือ ขอบที่แบ่งการศึกษาวิชาการ-วิชาชีพ ออกจาก การศึกษาชีวิต ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำให้เด็กๆ เข้าใจชีวิต เข้าใจตัวเอง เห็นศักยภาพตัวเอง ศรัทธาตัวเอง ทำให้พวกเขาไม่สามารถเผชิญสถานการณ์ในสังคมหรือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดี

จินตนาการใหม่ ที่ชวนกันข้ามขอบกลับไปสู่ “การศึกษาที่แท้”

จากปรากฏการณ์ด้านการศึกษาที่เกิดขึ้น นอกจากประเด็นความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เด็กส่วนหนึ่งต้องกลายเป็นเด็กนอกระบบแล้ว การศึกษาในระบบเองก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า วิ่งตามการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกไม่ทัน

สมมติฐานของทางออกสำหรับปัญหานี้ คือ การทำให้สิ่งที่เคยถูกตัดขาดออกจากกันด้วยระบบการศึกษา ข้ามขอบเหล่านั้นกลับมาเชื่อมโยงกันอีกครั้งให้เป็นการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติไหลเลื่อนต่อเนื่องกัน ยืดหยุ่น เกิดทางเลือกที่สอดคล้องกับคนที่มีบริบทต่างกัน และทันโลก

โครงการ “ห้องเรียนข้ามขอบ” จึงเป็นปฏิบัติการทางสังคมที่กำลังทดลองทำการศึกษาที่เชื่อมการศึกษาในและนอกระบบ ที่ผู้เรียนจะมีทางเลือกและสามารถเคลื่อนย้ายไปมาข้ามเส้นแบ่งระหว่างในและนอกโรงเรียนได้ อันเป็นภาวะการเรียนรู้ตามธรรมชาติ เชื่อมรอยต่อของความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน ที่ผู้เรียนทุกคนและทางเลือกของเขาจะได้รับการยอมรับ เชื่อมเส้นแบ่งของวิชาหรือศาสตร์ต่างๆ ที่ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ที่สมดุล ผสมผสาน เชื่อมโยงกับชีวิต แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ และเชื่อมผู้คนที่หลากหลายมาสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับผู้เรียน 

หน้างานของโครงการห้องเรียนข้ามขอบ คือ การเป็นสะพานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างโรงเรียนในพื้นที่เข้ากับหน่วยจัดการเรียนรู้ในพื้นที่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทั้งในระดับกลไกการทำงานและการพัฒนาหลักสูตรที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ข้ามขอบกันและกัน

นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานเชิงองค์ความรู้ การวิจัย และการสกัดบทเรียนที่สำคัญในการขับเคลื่อนปฏิบัติการทางสังคมนี้ ให้เป็นความรู้ที่พร้อมต่อยอดในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา และเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการจัดการเรียนรู้ให้กลับไปมุ่งเน้นที่การเชื่อมโยงกับพื้นที่ ยึดสิ่งที่ผู้เรียนอยากเรียนรู้ กลับไปค้นหาความชอบ ความฝัน และชีวิตของผู้เรียนมากกว่าการเรียนรู้ที่เน้นผลิตบุคลากรตามความต้องการของรัฐโดยละเลยความต้องการของเด็กและเยาวชน

ดังนั้น “ห้องเรียนข้ามขอบ” จึงไม่ใช่การสร้างทางเลือกหรือการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อจะทำให้เด็กทุกคนได้วุฒิการศึกษา แล้วหวังว่าพวกเขาจะมีอนาคตที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่เป็นการทำงานในเชิงความคิด เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของทั้งระบบการศึกษาและสังคม ที่จะสร้างความคิดใคร่ครวญ สร้างความรู้เนื้อรู้ตัวในการจัดการศึกษา ที่ไม่ต้องวิ่งตอบสนองสิ่งเร้าจากภายนอก แต่เป็นการศึกษาที่ทำให้เกิดการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และนำพาให้เด็กๆ ได้รู้จักตนเอง ศรัทธาตัวเอง สามารถพาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองเลือก และเผชิญปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีปัญญา เพราะนั่นคือความหมายของ “การศึกษาที่แท้”

อ้างอิง

สัมภาษณ์ นักวิจัยโครงการห้องเรียนข้ามขอบ วันที่ 4 สิงหาคม 2567

  • รศ. ดร. ลือชัย ศรีเงินยวง
  • คุณณิชา พิทยาพงศกร 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2567) รายงานพิเศษความจริงและความเร่งด่่วนของสถานการณ์์เด่็กนอกระบบในประเทศไทย.

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และคณะ. (2545). การศึกษาไทยทางเลือกในอนาคต. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย. 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2567) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2567