‘ห้องเรียนข้ามขอบ’ ข้ามขอบฟ้าไปเป็นเยาวชนพลเมืองโลก การศึกษาไทยต้องไม่เหมือนเดิม2 min read
เวลาที่เรานึกถึงห้องเรียนในโรงเรียนเรานึกถึงอะไรได้บ้าง?
เราอาจจะนึกถึงวิชาเรียนหลายๆ ตัวที่ยังหาคำตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจะลําบากตรากตรําไปเพื่ออะไร อาจจะนึกถึงเวลาที่ตอบคำถามผิด แล้วดูแย่ในสายตาคนอื่น หรือถูกตัดสินว่าความคิดของเรามันอาจเป็นไปไม่ได้ นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งข้อดีของโรงเรียนก็มีให้เห็นมากมาย และก็มีช่องโหว่อีกมากภายใต้ระบบและกรอบที่ครอบงำมันเอาไว้
แต่สำหรับที่นี่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กลับมีความพยายามที่จะค่อยๆ ขยับขอบเพื่อเปิดน่านฟ้าใหม่ให้กับการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่จำกัดกรอบอยู่แค่ในระบบโรงเรียนเพียงแบบเดียวเท่านั้น ‘เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้’ จึงเริ่มก่อการผ่านการชักจูงผู้คนในเมืองที่มีศักยภาพหลายหลาก มากระจายอำนาจทางความรู้ สร้างสรรค์กิจกรรมด้วยกัน เป็นเทศกาลการเรียนรู้ที่สนุกสนานอย่าง ‘ตุลามาแอ่ว’ ก่อนที่ในปีนี้ จะค่อยๆ ขยับขอบไปสู่การทดลองนวัตกรรมทางการศึกษารูปแบบใหม่อย่าง ‘ห้องเรียนข้ามขอบ’ ด้วยการทำงานมาอย่างยาวนานของ ‘มะขามป้อม’ หรือมูลนิธิสื่อชาวบ้าน ที่มุ่งขยับขยายการเรียนรู้ใหม่ๆ และพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ที่อิงกับผู้เรียนเป็นหลัก เป็นการเรียนรู้ที่ใช้หัวใจเรียน
อิจิโร่ – ณัฐกร อิจิโร่ กีโต้ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม บอกกับเราว่าตัวเองรู้จักกับมะขามป้อมมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จากการเข้าร่วมกิจกรรมตุลามาแอ่ว อิจิโร่บอกอีกว่ากิจกรรมที่ได้เข้าร่วมทำให้ได้เห็นว่าแบบนี้ก็เป็นการเรียนรู้ได้เหมือนกันเหรอ เพราะไม่เคยคาดคิดว่าการเล่นไปด้วย แล้วมีเวลาให้คิด ได้ทำงานเป็นกลุ่มกับเพื่อน เลยอยากเรียนรู้แบบนี้ไปอีก เมื่อถึงเวลาที่หลักสูตรเยาวชนพลเมืองโลก ห้องเรียนวันหยุดทุกวันเสาร์ 10 สัปดาห์ 10 ทักษะ ภายใต้ห้องเรียนข้ามขอบเปิดรับสมัครเด็กเชียงดาวที่สนใจเรียนรู้ไปด้วย ไม่จำเป็นต้องเรียนในระบบโรงเรียนก็สามารถสมัครได้ อิจิโร่จึงไม่รีรอที่จะสมัครในทันที เพราะเขาจะได้เล่น และได้เจอเพื่อนใหม่ที่ไม่เคยเจอ
“ความต่างจากห้องเรียนคือเราลงมือทำเลย ไม่ใช่เรียนอย่างเดียวอย่างเหมือนที่โรงเรียน ผมคิดว่ามันน่าจะใช้ร่วมกันได้นะ โรงเรียนช่วยเสริมเรื่องวิชาการ ส่วนห้องเรียนข้ามขอบอาจช่วยในชีวิตจริง”
แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยากที่จะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้วที่เราจะสามารถจัดการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ผสมผสานทั้งการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน สร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายและปลอดภัย ช่วยเชื่อมรอยต่อต่างๆ ในระบบการศึกษา แบบที่อิจิโร่บอก ไม่ได้ปฏิเสธการเรียนรู้ในห้องเรียน ไม่ได้ชอบแค่กิจกรรม แต่ทั้งสองส่วนต้องเดินไปด้วยกันให้ได้อย่างไม่เคอะเขิน ในความตั้งใจของห้องเรียนข้ามขอบเองก็มุ่งที่จะไปในแบบที่สามารถจัดความสัมพันธ์ที่ลงตัว เข้าใจบริบทเพื่อสร้างทักษะและสมรรถนะแห่งอนาคตที่ดูท้าทายทางเลือกเป็นอย่างมาก แต่ก็เป็นไปแล้วกับความร่วมมือลงแรงลงใจครั้งสำคัญที่หวังจะเปลี่ยนแปลงการศึกษา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
สำหรับหลักสูตรทักษะเยาวชนพลเมืองโลกที่อิจิโร่ได้เข้าร่วมก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ดึงนักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษา เด็กบ้านเรียนโฮมสคูล รวมถึงเยาวชนที่เลือกเรียนตามแนวทางของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้มาเชื่อมโยงความคิด สร้างประสบการณ์ร่วมกัน คนที่สนใจก็สามารถสมัครมาเข้าร่วมได้ บางคนก็มาจากการชักชวนโดยครู หรือพ่อแม่ แม้ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ต่างคนต่างจะยังเกร็ง ยังทำตัวไม่ถูก แต่ด้วยเครื่องกระบวนการกิจกรรมก็ค่อยๆ ละลายทุกคนให้เชื่อมโยงเข้าหากัน
เร-อาคิรา เขียนนอก ที่เรียนในแบบของบ้านเรียน เรคุ้นชินกับการแสวงหาการเรียนรู้ด้วยตัวเองอยู่ตลอด ฉะนั้นการมาเข้าร่วมกิจกรรมห้องเรียนข้ามขอบจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ท้าทายเลยก็คือการที่ได้มาเจอเพื่อนที่ถ้าไม่ได้มา ก็จะไม่รู้เลยว่าจะได้เจอกันไหม?
“วันแรกที่เข้ามาก็ตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยทำกิจกรรมกับคนหลายกลุ่มมากขนาดนี้ ได้ฝึกการอยู่ร่วมกับคนอื่นมากขึ้น มาที่นี่ก็ได้เรื่องการสื่อสารมากขึ้น สามารถเรียบเรียงคำพูดได้มากขึ้น พ่อแม่ก็บอกว่ามีพลังสดใสขึ้นมาก”
ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงวิพากษ์ การทำงานเป็นทีม สื่อสารสร้างสรรค์ ทักษะวัฒนธรรม และเนื้อหาอื่นๆ ที่ถูกร้อยเรียงออกมาเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ค่อยๆ ขยับขอบ ในขณะเดียวกันก็ปรับไปตามความรู้สึกนึกคิดของผู้เรียนได้อย่างลงตัว
“ผมชอบ ชอบห้องเรียนความคิดสร้างสรรค์ครับ เพราะห้องเรียนนี้ผมได้ปลดปล่อยความคิดตัวเองได้อย่างอิสระเลยครับ เพื่อนๆ ก็ด้วยนะ ผมได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ จากห้องเรียนความคิดสร้างสรรค์เยอะเลย คิดว่าเพื่อนๆ ก็น่าจะชอบห้องเรียนนี้เหมือนผม” อิจิโร่บอกกับเราเพิ่มเติม
ขณะที่ นส.หนุ่ม หรือออม ที่เรียนในระบบ สกร. ด้วยความที่ไม่คุ้นเคย เพราะชีวิตประจำวันเน้นการทำงานเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว และต้องโยกย้ายตัวเองอยู่บ่อยครั้ง แต่จากที่ได้รับการแนะนำจากครู สกร. ออมบอกว่าดีใจมากที่พาตัวเองมารู้จักห้องเรียนที่ออมไม่คาดคิดว่าเขาเรียนกันแบบนี้ก็ได้เหรอ?
“ตอนแรกเข้ามาก็กลัวมากๆ เพราะไม่เคยเข้าเรียนกับคนมากขนาดนี้ แต่พอเข้ามาเรียนแบบนี้ก็สนุก รู้สึกดีขึ้น ได้เรียนรู้มากขึ้น ก่อนมาเรียนที่นี่ไม่รู้ว่าเรามีความสามารถอะไรเลย รู้แต่ว่าทำงานไปก็ได้เงินกลับมา ทำให้เรารู้ว่าควรมีเป้าหมายในชีวิตตัวเอง”
และ ทัย-ไทย ม่วงเอ ที่บอกว่าจังหวะชีวิตของตนไม่สอดคล้องกับการเรียนในระบบเลย การเลือกเรียนในแบบที่สกร.ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จัดหาให้ก็ดูจะเป็นอะไรที่น่าจะลงตัวที่สุด แต่ทายก็บอกว่ามันยังมีบางส่วนที่ยังขาดหายไป นั่นคือความมั่นใจในตัวเอง
“ส่วนใหญจะไปเอาใบงานจากครูแล้วมาทำเอง แต่กับการมาเรียนที่มะขามป้อม ห้องเรียนข้ามขอบ เรารู้สึกสนุกจากการทำกิจกรรมได้ความรู้ มีความสุข ได้ความกล้า และความมั่นใจในตัวเอง เหมือนเปิดโลกอีกใบหนึ่งกับตัวเอง เพราะเราอยู่แต่บ้านเอาแต่คิดลบกับตัวเอง เข้ามาเรียนทำให้คิดบวกมากขึ้น รู้สึกดีกับคนรอบข้างมากขึ้น”
สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของแต่ละคนระหว่างการเข้าร่วมห้องเรียนข้ามขอบนั้น อุดมไปด้วยความมั่นใจ และความสัมพันธ์ที่มากขึ้น ขณะเดียวธรรมชาติของความเป็นเด็กที่มีความสงสัยใคร่รู้ก็ไม่ถูกตัดตอนออกไป ทุกคนพูดมาเป็นเสียงเดียวกันว่าที่นี่ทำให้พวกเขาสามารถเป็นตัวเองได้อย่างที่เป็น ไม่ต้องปกปิด อยากพูดคุยอะไรก็สามารถพูดคุยกันได้ อยากรู้อะไรก็สืบค้นได้ไม่ถูกขัดขวาง อยากเล่นอยากเรียนแบบไหนก็ออกแบบได้ ไม่ต้องเร่งรีบ ได้ใช้หัวใจได้สัมผัสความรู้สึก ซึ่งในห้องเรียนปกติอาจจะไม่ได้ให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากนัก แต่กับห้องเรียนข้ามขอบไม่ใช่ เพราะหมุดหมายสำคัญ คือการพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาและระบบนิเวศการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับผู้เรียน กระจายอำนาจในการจัดการศึกษาที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย เพื่อเชื่อมโยงผู้คน ชุมชน สังคม และการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต
ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร
ซึ่ง ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) หนึ่งในคณะทำงานห้องเรียนข้าม ได้อธิบายถึงที่มาที่ไปสำคัญของห้องเรียนข้ามขอบ ว่าจุดเริ่มต้นจากเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน มีเด็กคนหนึ่งมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากโรงเรียนโดยที่ไม่เต็มใจเท่าไหร่นัก แต่ก็ไม่ได้อยากกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบโรงเรียนทั้งหมด เขาเลยถามว่ามันมีรูปแบบไหนไหมที่สามารถเรียนในระบบส่วนหนึ่ง อีกส่วนสามารถศึกษาด้วยตัวเองได้ ไปเรียนรู้ตามที่ต่างๆ ด้วย คือตัวเขาอยากสนใจเกินขอบเขตของหลักสูตรที่โรงเรียนสอน แถมเขายังบอกอีกว่ามันเป็นปัญหาร่วมของเด็กเกือบทั้งหมดในประเทศเลย จุดนี้จึงทำให้พฤหัสและคณะทำงาน อยากพัฒนาการเรียนรู้ แบบ Hybird ที่มีทั้งในระบบและนอกระบบ ผสมผสานกันทั้งการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การเรียนรู้กับชุมชนในสถานีต่างๆ ที่เขาสนใจ แถมยังสามารถที่จะเทียบโอนวุฒิกลับมาที่หลักสูตรของตัวเองได้
“รูปธรรมเลยคืออาจจะเรียนกับโรงเรียนเป็นบางวัน ที่เหลือก็ไปเรียนตามความสนใจของเขา แล้วเอาหน่วยการเรียนรู้กับมาเทียบกับโรงเรียนได้ และจบไปพร้อมๆ กับเพื่อนได้ ซึ่งแต่ละคนไม่ต้องเรียนเหมือนกันก็ได้ โลกมันมีการเปลี่ยนแปลงซับซ้อนมากขึ้น มันยังไม่มีคนคิดรูปแบบการศึกษาแบบนี้ ซึ่งมันมีความต้องการแบบนี้กับเด็กจำนวนมาก ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาไอเดียนี้ ค่อยๆ คิดและทดลองไป”
นอกจากไอเดียที่พฤหัสกล่าวไป อีกสิ่งที่มะขามป้อมพยามขยับเขยื้อนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ เริ่มที่อำเภอเชียงดาว เชื่อมโยงผู้คนในเชียงดาวที่มีศักยภาพแตกต่างหลากหลาย ทั้ง ธรรมชาติ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ด้วยต้นทุนความรู้ที่แต่ละคนมี ก่อนที่จะมาตกตะกอนร่วมกัน สร้างการเรียนรู้ จนเกิดเป็น “ตุลามาแอ่ว” เทศกาลเชียงดาวเดือนแห่งการเรียนรู้ฤดูหนาว ทดลองทำมา 1-2 ปี เริ่มมีคนสนใจการเรียนรู้ในลักษณะนี้มากขึ้น และปีนี้จึงเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะเจาะในการพัฒนาเริ่มต้นโครงการห้องเรียนข้ามขอบ มะขามป้อมก็อยากเขยื้อนเพื่อผลักดันนโยบายเมืองแห่งการเรียนต่อ เพราะเห็นศักยภาพว่าในหลายๆ เมืองในประเทศไทยก็อุดมไปด้วยผู้คนและองค์ความรู้ ห้องเรียนข้ามขอบจึงเป็นไอเดียหนึ่งที่ชัดเจนในการขยับเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้
“เราอยากจะเชื่อมโยงเอาทุกภาคส่วนมาจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน”
ในการทำงานร่วมกันพฤหัสยังอธิบายถึงการร่วมมือกันของ 4 ส่วน คือ 1.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมไปถึงกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) หรือที่เราคนคุ้นเคยกับชื่อเดิมอย่าง กศน. หรือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่มีส่วนสำคัญคือมีเด็กที่อยู่นอกระบบและเรียนอยู่ในสังกัดสกร. ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ส่วนสำคัญส่วนที่ 2 คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีภารกิจส่งเสริมการศึกษาและงานเยาวชนอยู่เป็นทุนเดิม ซึ่งจะเป็นดีมากถ้าสามารถลงแรงร่วมกันผลักดันนโยบายการศึกษาในท้องถิ่นได้ ส่วนที่ 3 ขาดไปไม่ได้เลยคือภาคประชาชน ที่มีองค์ความรู้และมีใจ เป็นผู้ประกอบการ เป็นนักคิดนักเขียนที่อยู่ในพื้นที่ รวมไปถึงองค์กรด้านวิชาการอย่าง โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่มาสนับสนุนด้านวิชาการ งานวิจัย พฤหัสบอกว่านี่เป็นแค่ปีแรกแต่ก็มีข้อค้นพบใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากมาย และเด็กแบบที่อยากเห็นก็ไม่ใช่เด็กที่ต้องเป็นเลิศทางวิชาการ แต่มีความสุข และมีความหมายกับชีวิต จึงเกิดเป็นหลักสูตร “ทักษะเยาวชนพลเมืองโลก” 10 ทักษะสำคัญของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ทักษะการสื่อสาร (Communication) ซึ่งควรจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรมีในโรงเรียนแต่กลับไม่มี เหมือนที่ เร ออม และทัย เล่าให้เราฟัง ซึ่งพฤหัสบอกว่าในสัปดาห์แรกเห็นชัดเลยว่าเด็กๆ แทบไม่มีทักษะนี้ติดตัวมาเลย
“เขาไม่เคยถูกติดตั้งทักษะที่ต้องคิดพูดอ่านสื่อสารทำงานกลุ่มมาก่อนเลย แต่เราเห็นความพยายามของทุกคน แต่ทั้งหมดที่มาเรียนรู้มันเป็นกระบวนการที่ได้ลงมือทำแลกเปลี่ยนได้เรียนรู้ร่วมกัน แรกๆ ทุกคนกลัวผิด มีกรอบเยอะมาก แต่ในสัปดาห์ต่อๆ ไป ทุกคนสนุก ได้เจอเพื่อน หลายคนที่ต้องใช้แรงงานรายวัน ยอมที่จะเสียรายได้รายวันเพื่อมาเรียน บางคนถึงขนาดเอาค่าจ้างของตัวเองไปจ้างเพื่อนอีกทีเพื่อให้เพื่อนได้มาเรียนด้วยกันเพราะมันได้ประโยชน์”
พฤหัสยังระบุอีกว่าเด็กที่มามีพัฒนาการที่ดีอย่างเห็นได้ชัด เช่น รู้ว่าเวลาไหนต้องฟัง เวลาไหนต้องพูด ต้องทำงานกลุ่ม แต่ละสัปดาห์ที่ผ่านไปจะเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันกระบวนการเรียนรู้ก็ปลอดภัยพอที่จะผิดได้ แลกเปลี่ยนได้ ไม่ถูกตัดสิน ได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่มุมมองอาจจะไม่เหมือนกันไปหมด แต่ก็คิดกันได้
“การศึกษาที่แท้จริง มันควรสร้างบรรยากาศแบบนี้ ที่ผู้เรียนมีความสุข เรียนแล้วตาเบิกโพลง ถ้าการทดลองนี้ได้ผล มีงานวิจัยรองรับ อยากให้มันขยายผลต่อไปได้”
10 สัปดาห์ผ่านพ้นไปหลักสูตรทักษะเยาวชนพลเมืองโลกจบลงด้วยความสุข พฤหัสบอกว่านี่ไม่ได้แปลว่าเด็กเชียงดาวพิเศษมีทักษะไปมากกว่าใคร แต่เด็กไทยทั้งประเทศต้องการสิ่งนี้ เพื่อข้ามขอบฟ้าไปให้ไกล การศึกษาไทยต้องไม่เหมือนเดิม