Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

ความเหลื่อมล้ำฝัง DNA: จงร่ำรวยไปอีกนาน หรือไม่ก็ยากจนไปอีก 5 ชั่วโคตร!2 min read

Reading Time: 3 minutes โครงการผู้นำแห่งอนาคต ชวน สฤณี อาชวานันทกุล นักเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระ มาฉายภาพความเหลื่อมล้ำและความยุติธรรมในสังคมไทยผ่านตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์และปัญหาเชิงโครงสร้าง Mar 13, 2020 3 min

ความเหลื่อมล้ำฝัง DNA: จงร่ำรวยไปอีกนาน หรือไม่ก็ยากจนไปอีก 5 ชั่วโคตร!2 min read

Reading Time: 3 minutes

“กฎหมายก็เหมือนกับใยแมงมุม ที่จะดักจับได้เฉพาะคนอ่อนแอและยากจน แต่จะแหลกสลายไม่เป็นชิ้นดีเมื่อเจอกับคนรวยและผู้มีอิทธิพลบารมี” อแนคคาร์ซิส (Anacharsis) นักปรัชญาชาวไซเทียน (Scythians) กล่าวไว้เมื่อ 6 ศตวรรษ ก่อนคริสตกาล

ส่วนในศตวรรษปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีนักปราชญ์ใดมากล่าวคำขยายความ เพราะภาพประจักษ์ก็มักปรากฏให้เห็นจนชินตา ยามใดก็ตามที่กระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นกับคนมีเงิน ใช่หรือไม่ว่าเราพอจะคลำทางได้ว่าคำพิพากษาจะออกหัวหรือก้อย

ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม แต่กระบวนการยุติธรรมมักเกี่ยวข้องกับตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ และหลักการทางเศรษฐศาสตร์ก็สัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และความเหลื่อมล้ำที่ว่า ก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องขบคิด มียักษ์ใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในที่แจ้ง และมีมิติต่างๆ ให้พิจารณาควบคู่กันไป

โครงการผู้นำแห่งอนาคต ชวน สฤณี อาชวานันทกุล นักเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระ มาฉายภาพเหล่านั้นที่เกริ่นมาข้างต้น ในเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำ: ผู้นำร่วมสร้างสุข (Leadership for Collective Happiness – LCH) โมดูล 1 ปัญญาโลก ปัญญาชีวิต ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล ‘บ้านผู้หว่าน’ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

สฤณี อาชวานันทกุล

ความอยุติธรรม ผลข้างเคียงความเหลื่อมล้ำ

สฤณี อาชวานันทกุล เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า ในยุคนี้เราจะพบว่าความเหลื่อมล้ำนั้นมีหลายมิติ ซึ่งแต่ละมิติมีความเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้หรือทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิ โอกาส กระทั่งความยุติธรรมด้วย

“ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และทรัพย์สิน ถ้าเกิดขึ้นมากๆ ในสังคมที่มีปัญหาเรื่องการแข่งขัน มีกติกาไม่เท่าเทียมกัน มันก็จะยิ่งซ้ำเติมเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และทรัพย์สิน ซึ่งเรื่องกติกาการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันนั้น มันผูกโยงกับเรื่องของความเหลื่อมล้ำในสิทธิและโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมือง 

“ถ้าสังคมมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย หรือการอภิปรายประเด็นสาธารณะ กติกาอะไรที่มันเอียงๆ แย่ๆ นั้น ก็อาจจะไม่ได้รับการแก้ไข เพราะคนที่มีอำนาจเหนือตลาด หรือมีทรัพยากรทางเศรษฐกิจสูง กำลังจะครอบครองทรัพยากรทางการเมืองด้วย หรือเรียกว่าครอบครองอำนาจทางการเมืองด้วยเช่นกัน นี่คือความเชื่อมโยง 

ว่ากันด้วยกระบวนการยุติธรรม หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็ต้องบอกว่า กระบวนการใช้ความยุติธรรมนั้นต้องเกิดขึ้นบนกติกาแบบใช้ผ้าปิดตา นั่นคือผู้ตัดสินพิจารณาคดีความต่างๆ ต้องไม่เห็นว่าคู่กรณี โจทก์ จำเลย นั้นสูงต่ำดำขาวแตกต่างกันอย่างไร กล่าวให้ชัดกว่านั้นคือ กระบวนการยุติธรรมต้องไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่ากับผู้ใดทั้งสิ้น

นั่นคือแนวคิดและหลักการ แต่หลักปฏิบัตินั้น เราคงเห็นๆ กันอยู่กระมัง

“ถ้าเรามองไปยังกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย บางทีเรารู้สึกว่า ถ้าเรารู้ว่าจำเลยเป็นใคร เป็นพวกไหน มันพอเดาผลลัพธ์ได้ดีกว่ารู้เรื่องอื่นทั้งหมด นี่คือปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรม นักวิจัยหลายๆ คนที่ทำเรื่องของความเหลื่อมล้ำก็พยายามที่จะศึกษารายละเอียดมากขึ้นว่า ความเชื่อมโยงเหล่านี้หน้าตาเป็นอย่างไร และมันส่งผลกระทบแย่ๆ อย่างไร ทำไมเราต้องพูดถึงเรื่องนี้” 

เมื่อคนจนและคนรวย อยู่กันคนละโลก

สฤณีเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนนั้นนักเศรษฐศาสตร์บอก ‘ความเหลื่อมล้ำมันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้’ หมายความว่า มันไม่มีทางหรอกที่จะเท่าเทียมกัน เพราะหากเราใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มันก็ต้องมีบางคนรวย มีบางคนจน และนั่นทำให้ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ แต่วันเวลาเปลี่ยน ท่าทีของประโยคดังกล่าวก็เปลี่ยน เพราะผลลัพธ์ของมันนั้นไม่สามารถเมินเฉยด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาอีกต่อไป 

“พอเวลาผ่านไป วันนี้นักเศรษฐศาสตร์ก็เริ่มรู้แล้วว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นบางทีมันก็เลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้ามันเหลื่อมล้ำมากๆ มันมีปัญหา มันส่งผลกระทบ ซึ่งถ้าใครสนใจเรื่องนี้ก็หาอ่านได้ในหนังสือเรื่อง ราคาของความเหลื่อมล้ำ: The Price of Inequality โดย อาจารย์โจเซฟ อี. สติกลิตซ์ (Joseph E. Stiglitz) ซึ่งอาจารย์เขาก็พยายามเรียบเรียงไว้ว่า ความเหลื่อมล้ำที่สูงมากๆ ส่งผลต่อเศรษฐกิจด้วย มันทำให้การเติบโตแบบฐานกว้าง exclusive economic เกิดขึ้นยาก พอความเหลื่อมล้ำสูงมากๆ คนที่รวยมากๆ ก็มีโอกาสที่จะไปครอบงำทางการเงิน ทำให้เขาสามารถเขียนกติกาหรือดึงกติกาแย่ๆ เก่าๆ ที่มันเอียงเข้าข้างเขาให้คงอยู่ต่อไป แล้วทำให้การแข่งขันด้านนวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้นได้ยาก”

คำบอกเล่าของสฤณี อ้างแนวคิดของ อาจารย์ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) นักปรัชญาการเมือง ซึ่งบอกว่า ประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น ต้องเป็นประชาธิปไตยการมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) กล่าวคือ ต้องหาฉันทามติกันได้ ซึ่งเรื่องนี้ไมเคิล แซนเดล เป็นห่วงว่าความเหลื่อมล้ำที่สูงมากนั้น แปลว่าคนที่มีทรัพยากรสูงมากก็จะมีชีวิตที่อยู่กันคนละโลกกับคนที่มีทรัพยากรน้อย

เรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร

“ถ้าเราเกิดในตระกูลที่มีทรัพย์สินเป็นพันล้าน คุณแทบจะไม่เคยมาข้องแวะกับคนที่มีทรัพย์สินติดตัวพันบาท อยู่กันคนละโลกอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่เกิดจนตาย โรงเรียนก็ไปคนละโรงเรียน ไปที่ไหนก็อยู่กันคนละที่

อาจารย์จึงบอกว่า ตรงนี้น่าจะเป็นปัญหาเพราะว่า พอคุณไม่ได้มาเจอกันในพื้นที่สาธารณะ หรือที่ไหนก็แล้วแต่ที่จะได้มาคุยกัน คุณก็เข้าใจซึ่งกันและกันน้อยลง คนจนก็ไม่เข้าใจคนรวย คนรวยก็ไม่เข้าใจคนจน แล้วอย่างนี้ โอกาสที่จะมีฉันทามติหรืออะไรก็ตามที่รู้สึกว่ามันสำคัญกับประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร”

ส่วนแบ่งทรัพย์สินของคนรวยที่สุด 1% (2016)

คนไทยผู้มั่งคั่งยังมี

“รายงานปี 2016 ที่คนไทยเอามาใช้เยอะมาก มาจาก Credit Suisse ซึ่งเป็นธนาคารระดับโลกที่ให้บริการเรื่องคหบดีธนกิจ หรือ การเงินของคนรวย (wealth management) มีลูกค้าเป็นคนไทยด้วยเยอะมาก เขาทำรายงาน Wealth Report หรือรายงานความมั่งคั่งของโลกปี  2016 ประเทศไทยอยู่ TOP 3 หรือถ้าปีที่แล้ว คนไทยก็ยังอยู่ TOP 4” 

หากดูกราฟที่สฤณีนำมาอธิบาย จะเห็นได้ว่า เมื่อพิจารณาด้านทรัพย์สิน เราอยู่ TOP 5 ของโลก แต่หากดูเรื่องความเหลื่อมล้ำ สฤณีบอกว่า มีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันว่า คนไทย 3 ใน 4 ของประเทศไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และโอกาสที่ที่ดินจะหลุดมือก็มีมากขึ้น เรื่องนี้เกิดขึ้นด้วยกลไกง่ายๆ แต่จัดการยาก คือยิ่งจนยิ่งเป็นหนี้ และยิ่งหนี้เยอะความสามารถในการชำระหนี้ก็ต่ำลง ที่ดินหลุดมือจึงเกิดขึ้นในห้วงนี้เอง เมื่อชำระหนี้ด้วยเงินไม่ได้ก็ต้องจ่ายด้วยที่ดิน

“เราลองดูค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ แน่นอนมันรวมคนรวยคนจนเข้าด้วยกัน รายได้ต่อหัวของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่า อัตราการจัดเก็บภาษีของเราแทบจะไม่เพิ่ม ก็ต้องเป็นคำถามแล้วล่ะภาษีมันอยู่ที่ไหน”

(รายได้ต่อหัวเพิ่ม สัดส่วนภาษีต่อจีดีพีคงที่ – ที่มา World Bank Database และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)

เจริญแบบเหงาๆ ก้าวหน้าตามลำพัง

ประเทศไทยเป็นเมืองโตเดี่ยว (private city) หากวัดจากจำนวนประชากรจะพบว่า เมืองที่มีประชากรมากที่สุดอันดับหนึ่งเปรียบเทียบกับอันดับสองนั้น กลับมีตัวเลขต่างกันลิบลับ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นจะพบว่า กราฟของประเทศไทยนั้นมีลักษณะการกระจายตัวของประชากรแตกต่างกันชัดเจน

(จำนวนประชากรคนเมืองตามลำดับที่ของเมือง)

 “จะเห็นว่าของเราคือสีชมพู เส้นหักข้อศอกเลย เมืองที่มีคนเยอะที่สุด มีจำนวนคนมากกว่าเมืองที่รองลงมาหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เส้นจะดูสโลป (slope) มากกว่า อย่างมาเลเซียหรือเกาหลีใต้ เส้นมันจะค่อยๆ เป็นสโลปลงมาอย่างสวยงาม เพราะว่าประเทศอื่นเขาพัฒนาเมืองใหญ่ที่สามารถกระจายความเจริญได้ดีกว่าเมืองไทย”

สฤณีบอกว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เราโตขึ้นทุกปี แต่ว่ารายได้ของเราไม่ได้โตตาม ข้อมูลนี้มาจากงานวิจัยของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ซึ่งอธิบายว่า ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient: วิธีวัดสถิติอย่างหนึ่งที่มักนำมาใช้บ่งชี้เรื่องความเหลื่อมล้ำ) ผงกหัวขึ้นตั้งแต่ปี 2015 แต่รายได้ครัวเรือนไทยกลับลดลง ซึ่งการที่ GDP เพิ่มขึ้นนี้ ก็พออนุมานได้ว่าใครรวยขึ้น

ข้อมูลนั้นสอดคล้องกับงานวิจัยของ รศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์​ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำในมุมมองของผู้ประกอบการ 

(จีดีพีโต รายได้ครัวเรือนหดตัว – วิเคราะห์โดย SCB EIC)

สฤณีบอกว่า งานวิจัย รศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ นั้นน่าทึ่งมาก เพราะได้เอาจำนวนกิจการที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ทุกรายการ ตั้งแต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้นไปจนถึงบริษัทจำกัดมหาชน ซึ่งพบว่ามีมหาเศรษฐี 500 คน ครองส่วนแบ่งกำไรในภาคธุรกิจไทยถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และมหาเศรษฐี 500 คนนั้น ก็เป็นผู้ถือหุ้น 36 เปอร์เซ็นต์ ในภาคธุรกิจไทยด้วย

Lurenz curve 2549 vs 2559
บริษัทที่ใหญ่ที่สุด 5% มีส่วนแบ่งรายได้ 85% ของรายได้ภาคธุรกิจทั้งหมด ที่มา: Banternghansa, Paweenawat and Samphantharak (2019)

ความเหลื่อมล้ำที่นำไปสู่การผูกขาดอำนาจ 

ข้อสังเกตอีกด้านที่บางครั้งแม้เราสงสัยก็มักได้แต่จำนน คือกลุ่มทุนใหญ่เหมือนปลาตัวโตที่กินปลาตัวเล็กไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องพะวงว่าจะท้องแตกตาย หรือเป็นต้นไทรใหญ่ที่กิ่งก้านสาขาปกคลุมแผ่นดินเบื้องต้น รากแทงลึกแผ่ขยายในพื้นล่าง ขณะเดียวกันก็โอบรัดกลืนกินไม้เล็กไม้น้อยไม่ให้เติบโต

นานวันเข้าปลาใหญ่ยิ่งเติบโต หลายวันเข้าต้นไทรใหญ่ยิ่งล้มยาก

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การล้มได้หรือไม่ล้มของกลุ่มทุนใหญ่โตเหล่านั้น แต่ความน่าสนใจก็คือว่า อิทธิพลของกลุ่มทุนเหล่านั้นส่งผลอะไรต่อความเหลื่อมล้ำ สฤณีอธิบายผ่านการศึกษาของ รศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ ว่า

“อำนาจตลาดมันมาได้หลายแบบ บางคนอาจจะบอกว่า ก็เขาเก่ง เขาเป็นนักธุรกิจที่เก่ง ฝ่าฟันขึ้นมา มันช่วยไม่ได้ที่เขาจะเป็นเบอร์หนึ่ง ก็คนอื่นไม่เก่งเอง ฉะนั้นมันอาจจะไม่ใช่ความผิดของเขาหรือเปล่า อาจารย์กฤษฎ์เลิศก็เลยต้องดูต่อไปว่า บริษัทต่างๆ ที่มีอำนาจทางการตลาดเยอะๆ นั้น ผลกระทบของมันคืออะไร ก็เจอว่า บริษัทที่มีอำนาจสูงๆ ในไทยนั้น มีลักษณะ 5 ข้อนี้ 

หนึ่ง มีอัตราการเติบโตของผลิตภาพต่ำ สอง มีแนวโน้มที่จะส่งออกและโอกาสที่จะอยู่รอดในตลาดต่างประเทศต่ำ สาม มีจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกและจำนวนประเทศปลายทางน้อย สี่ มีแนวโน้มที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่ำ และ ห้า มีอัตราการลงทุนต่ำ”

ลักษณะทั้ง 5 ประการนั้น มีคำลงท้ายว่า ‘ต่ำ’ ทุกข้อ แต่น่าแปลกที่กลุ่มทุนเหล่านี้กลับยืนเด่นเป็นสง่าในสังคมไทย ทั้งที่ออกไปสู้กับตลาดโลกแล้วไม่ได้เก่งกาจเท่าใดนัก

“ทั้งหมดนี้ก็คือดูจากลักษณะของบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูง และพอจะอนุมานได้ว่าเก่งจริงหรือเปล่า หรือมีอำนาจตลาดสูงเพราะอะไร มันเป็นผลจากการที่เขาสามารถเข้าถึงกติกาที่ปกป้องตัวเอง คุ้มครองตัวเอง หรือว่าเป็นความเก่งกาจของการต่อสู้และคิดค้นนวัตกรรม”

ใครเป็นเจ้าของเทคโนโลยี

อาจจะที่ไหนสักแห่ง จากใครสักคน เรามักได้ยินว่า เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ทุกคนก็จะสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นตาม และเมื่อถึงวันนั้น การใช้เทคโนโลยีมาอุดช่องว่างทางอาชีพก็จะเกิดขึ้น ทุกคนสามารถหารายได้ง่ายๆ เพียงแค่ใช้ปลายนิ้ว หรือกระทั่งเกษตรกรสามารถนั่งกระดิกเท้าอยู่ในร่มไม้แล้วปล่อยใช้ AI ปลูกพืช รดน้ำ กระทั่งเก็บเกี่ยวได้เสร็จสรรพ

จินตนาการตามมันก็คงดี แต่คำถามคือ ใช่หรือที่ทรัพยากรพื้นฐานด้านเทคโนโลยีนั้นปล่อยให้คนจนสามารถเข้าใช้งานได้แบบฟรีๆ

“ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องเทคโนโลยี แรกเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่า ‘ตกลง AI (ปัญญาประดิษฐ์: Artificial Intelligence) มันจะทำให้การเหลื่อมล้ำแย่ลงหรือดีขึ้น’ หลายคนก็มองไปในเชิงแง่ร้ายว่ามันน่าจะแย่ลง เพราะว่าใครล่ะที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีพวกนี้ ถ้าไม่ใช่คนที่มีเงิน

เทคโนโลยีในตัวของมันเองไม่ได้ฟรีโดยพื้นฐาน เทคโนโลยีก็มีต้นทุนในการคิดค้น ในการพัฒนาและวิจัย ในเมื่อใช้เงินวิจัยและพัฒนาเยอะ แล้วอยู่ดีๆ ทำไมเขาถึงอยากปล่อยให้ทุกคนได้ใช้ฟรี เขาก็อยากตักตวงผลตอบแทน เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดไม่มีนโยบายสาธารณะ แล้วอะไรที่จะมากำหนดเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งอินเทอร์เน็ตด้วยว่าเป็นสาธารณะของคุณ 

“นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็เลยบอกว่า ถ้าเราจะให้ผลประโยชน์จากเทคโนโลยีมันกระจายให้ดีกว่าเดิม เราต้องมาคุยกันใหม่แล้วว่า สินค้าสาธารณะ (public goods) รวมถึงอินเทอร์เน็ตด้วยไหม แล้วโปรดักส์ต่างๆ ที่มีผู้ใช้งานเป็นล้านๆ คนแต่ไม่ต้องจ่ายตังค์ได้ไหม ปัญญาชนที่ทำเรื่องนี้คือ อาจารย์ฌอง ทิโรล  (Jean Tirole) ผู้ออกมาบอกเป็นคนแรกๆ ว่า เราต้องเปลี่ยนนิยามเรื่องของ public goods กันใหม่ แล้วเขาก็มีวิธีคิดเรื่องของการกำกับดูแลบริษัทยักษ์สาขาเทคโนโลยี เพราะการใช้อำนาจผูกขาดตรงนี้มันไม่เหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว ต้องคิดใหม่”

เหล่านี้คือเงื่อนไข และข้อสังเกตว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ ผ่านการบอกเล่าโดย สฤณี อาชวานันทกุล ที่ขยายให้เห็นมิติของความเหลื่อมล้ำ ที่ฉีกกระชากผู้คนให้เข้าถึงสิทธิและโอกาสแตกต่างกัน ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ การเข้าถึงฐานทรัพยากร การเข้าถึงบริการสาธารณะ เกี่ยวโยงกับการเข้าถึงสิทธิและโอกาส เกิดผลต่อเนื่องไปถึงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม กระนั้นสิ่งที่หนักหน่วงเหลือเกินก็คือความเหลื่อมล้ำที่ฝังลึกถึง DNA ซึ่งสฤณีปิดท้ายด้วยความหวังอันริบหรี่และมืดมน

“ความเหลื่อมล้ำที่ค่อนข้างแย่คือความเหลื่อมล้ำที่ส่งผ่านรุ่นต่อรุ่น พ่อเกิดมาจนก็อยากให้ลูกรวย แต่ปรากฏว่าลูกก็ยังจนอยู่ดี นี่คือความเหลื่อมล้ำที่แย่มาก สืบทอดความจนไปเรื่อยๆ ใครจนอยู่แล้วก็จนต่อไป 5 ชั่วโคตร ใครรวยก็รวยไป 5 ชั่วโคตร”

Your email address will not be published.