Korkankru

บันทึกเวทีการเรียนรู้

ปัญญาภายใน บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 12 min read

Reading Time: 3 minutes บันทึกการอบรมเชิงปฏิบัติการเวที พัฒนาศักยภาพผู้นำแห่งอนาคต “ผู้นำร่วมสร้างสุข” (Leadership for Collective Happiness - LCH) โมดูล 2 : ปัญญาภายใน : บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 1 Jul 8, 2020 3 min

ปัญญาภายใน บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 12 min read

Reading Time: 3 minutes

การบ่มเพาะศักยภาพผู้นำในมิติปัญญาภายใน เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการต่อเนื่อง โมดูลที่ 2 จากโมดูลที่ 1 ปัญญาโลก ปัญญาชีวิต ซึ่งใช้กระบวนการ การสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication) เป็นแก่นหลักในการสร้างการเปลี่ยนแปลงมิติภายในและบ่มเพาะภาวะผู้นำบนฐานสุขภาวะทางปัญญา โดย ปัญญาภายใน : บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 1 นี้เป็นการกล่าวถึงการฝึกการสื่อสารอย่างสันติ 3 ขั้น ได้แก่ การเข้าใจตนเอง (Empathy), การเข้าใจคนรอบข้าง และการสื่อสารจากความปรารถนา การเปลี่ยนเสียงบ่นหรือตัดสิน เป็นการร้องขอ 

การเข้าใจตนเอง (Empathy)

คุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของความเป็นผู้นำคือการสร้างความไว้วางใจให้กับคนรอบข้าง แต่ความสามารถดังกล่าว ต้องอาศัยทักษะการสร้างความมั่นคงภายในและการเข้าใจตัวเอง

การสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication) เป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพอย่างหนึ่งในการสร้างสันติสุข เพราะช่วยป้องกัน และแก้ไขความขัดแย้งโดยทุกฝ่ายล้วนได้รับประโยชน์ ด้วยการเรียนรู้และฝึกฝนการทำความเข้าใจตัวเองและผู้อื่น ผ่านการค้นหาและรับรู้ความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริง และสื่อสารออกไปด้วยภาษาที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ จึงนำไปสู่การสร้างความรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ จนเกิดการตอบสนองต่อความต้องการของทุกฝ่ายด้วยวิธีการที่เปิดกว้างและหลากหลาย

์NVC3

การค้นหาความรู้สึกและความต้องการซึ่งอยู่ภายใต้พฤติกรรมภายนอกที่แต่ละคนแสดงออกมา เป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารอย่างสันติ การฝึกฝนจึงเริ่มจากการเรียนรู้เรื่อง “ความรู้สึก” ที่เป็นประสบการณ์ทางกายและใจ เช่น คับข้องใจ ผิดหวัง น้อยใจ กังวล เสียใจ โกรธ เป็นต้น และแยกแยะออกจาก “ความคิด” ที่เป็นทัศนคติ ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมา และมักจะมีการตัดสินตีความถูกผิดดีเลวอยู่ เช่น คุณไม่ฟังผมเลย เป็นต้น ตามด้วยการเรียนรู้เรื่อง “ความต้องการ” ที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกและเป็นสาเหตุของความรู้สึกที่ปรากฏออกมา เช่น มิตรภาพ ความสัมพันธ์ การยอมรับ ความสำเร็จ ความผ่อนคลาย ความสนุกสนาน ศักดิ์ศรี เป็นต้น และแยกแยะออกจาก “วิธีการ” ที่ใช้ในการตอบสนองความต้องการ เช่น ความต้องการพักผ่อน อาจทำได้ด้วยวิธีการ นอน ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง ดูหนัง จัดบ้าน เป็นต้น

ก่อนจะขยับไปสู่การฝึกค้นหาความรู้สึกและความต้องการเพื่อนำไปสู่การเข้าใจตนเอง โดยการใคร่ครวญกับตัวเองผ่านประสบการณ์ตรง เช่น ใช้สถานการณ์โควิด-19 เป็นโจทย์ให้แต่ละคนค้นหาว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อสถานการณ์ดังกล่าว แล้วแบ่งปันในวงใหญ่เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน “บางคนรู้สึกผิดที่ตัวเองสามารถหลบอยู่ในบ้านอย่างสบาย ในขณะที่คนอื่นๆ เดือดร้อน” ก่อนจะให้แต่ละคนใคร่ครวญลึกลงไปว่าภายใต้ความรู้สึกดังกล่าวมีความต้องการอะไรซ่อนอยู่ แล้วแบ่งกลุ่มย่อย 3-4 คนแลกเปลี่ยนกันทีละคน เริ่มจากบอกเล่าเหตุการณ์ที่ตัวเองประสบ ความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ แล้วจึงให้คนในกลุ่มช่วยกันค้นหาความต้องการของผู้เล่า วนฝึกไปจนครบทุกคน ก่อนจะกลับมาแบ่งปันการเรียนรู้ในวงใหญ่ หลายคนสะท้อนว่า

การแลกเปลี่ยนความรู้สึกและความต้องการกับเพื่อน ทำให้เกิดมุมมองและความรู้สึกใหม่ที่ตัวเองไม่คาดคิดมาก่อน

บางคนได้เห็นและเข้าใจตัวเองจากสิ่งที่เพื่อนช่วยสะท้อนการเรียนรู้และฝึกฝนเรื่อง Empathy หรือการเข้าใจตนเอง เป็นประตูบานแรกของการสื่อสารอย่างสันติ เพราะสิ่งที่อยู่เบื้องลึกการกระทำต่างๆ ที่มนุษย์แสดงออกคือความรู้สึกและความต้องการ การฝึกฝนเพื่อรับรู้ความรู้สึกและความต้องการดังกล่าวเริ่มจากตัวเอง และเป็นพื้นฐานไปสู่การรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่นต่อไป

การเข้าใจคนรอบข้าง

การเรียนรู้การสื่อสารอย่างสันติขั้นต่อไปคือ การขยายความเข้าใจให้กับคนรอบตัว โดยการรับฟังอย่างเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ก่อนจะนำไปสู่การสื่อสารเพื่อคลี่คลายปัญหาหรือความขัดแย้งต่างๆ แต่ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนผลจากการฝึกรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของตัวเองระหว่างสัปดาห์ พบว่า “นำไปสู่การเข้าใจความต้องการของตัวเองจริงๆ, ทำให้มีทางเลือกในการแก้ปัญหามากขึ้น, ไม่ยึดติดกับเหตุผลและวิธีการเดิมๆ, ทำให้มองเห็นความต้องการที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน, มองเห็นความไม่น่ารักของตัวเอง ยอมรับด้านไม่ดีของตัวเองและให้อภัยตัวเอง, ทำให้มีสติก่อนพูด และยอมรับคำปฏิเสธของคนอื่นได้ด้วยความเข้าใจกันและกัน”

NVC4

กระบวนกรเริ่มนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้การรับฟังเสียงผู้อื่น ผ่านการแสดงบทบาทสมมุติและแลกเปลี่ยนเรื่องการรับฟังอย่างเป็นอัตโนมัติที่คนส่วนใหญ่ทำโดยไม่รู้ตัว 5 แบบ คือ การรับฟังแบบเปรียบเทียบ เกทับ, การเข้าข้าง, การยุส่ง, การแนะนำทางออก และเทศนาสั่ง เป็นต้น ทำให้ผู้เข้าร่วมตระหนักว่า ตนเองล้วนเคยรับฟังด้วยท่าทีดังกล่าว แม้ว่าจะกระทำด้วยเจตนาดี แต่มักด่วนสรุปแล้วเน้นการหาทางออกจากปัญหาเร็วเกินไป โดยยังไม่ได้รับฟังความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของผู้พูด แทนที่จะช่วยคลี่คลายความทุกข์ของผู้เล่า กลับเป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสียความสัมพันธ์หรือสร้างความขัดแย้งได้

หลังจากเรียนรู้การรับฟังอย่างเป็นอัตโนมัติและความสำคัญของการรับฟังความรู้สึกและความต้องการของผู้พูดแล้ว มีการแบ่งกลุ่มย่อย 3 คนเพื่อฝึกทักษะดังกล่าว คนหนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องราวของตัวเองให้อีกสองคนฝึกฟังอย่างใส่ใจเหมือนเข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้เล่า แล้วให้คนฟังทายความรู้สึกกับความต้องการของผู้เล่าในเหตุการณ์ดังกล่าวออกมา ก่อนจะกลับมาสรุปในวงใหญ่ และฝากเป็นการบ้านให้แต่ละกลุ่มไปสร้างวงกลมแห่งความเข้าใจสำหรับการฝึกฟังเพื่อค้นหาความรู้สึกและความต้องการให้กับเพื่อนในกลุ่มอีกสองคน

การฝึกฝนทักษะการรับฟังความรู้สึกและความต้องการของคนอื่น จะช่วยให้แต่ละคนมีสติรู้ตัวเร็วเมื่อเผลอตกไปอยู่ในร่องการรับฟังอย่างเป็นอัตโนมัติดังกล่าว ทำให้มีทางเลือกในการรับฟังด้วยท่าทีอื่นๆ ที่จะช่วยให้ผู้เล่าได้ระบายความรู้สึกออกมาจนถึงที่สุดและค้นหาความต้องการที่แท้จริงของตนเอง ก่อนจะไปสู่การหาทางออกจากจากปัญหา เป็นทักษะสำคัญที่นักแก้ไขความขัดแย้งต้องฝึกฝนทุกวัน

การสื่อสารจากความปรารถนา
การเปลี่ยนเสียงบ่นหรือตัดสิน เป็นการร้องขอ

มนุษย์มักจะพูดหรือสื่อสารกันไม่ตรงกับคุณค่าหรือเจตนาที่ตนเองมีหรือเป็น จึงเกิดการทะเลาะและขัดแย้งกัน

เราจึงฝึกการสื่อสารที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงแต่ละฝ่าย การสื่อสารอย่างสันติ แบ่งภาษาที่ใช้ในการสื่อสารเป็นสองชนิด คือ ภาษาหมาป่ากับภาษายีราฟ

ภาษาหมาป่าคือภาษาของการตำหนิตัวเอง (หมาป่าหูเขา) และผู้อื่น (หมาป่าหูออก) มีอยู่ 4 แบบ คือ หนึ่ง ต่อว่า บ่น สอง ปกป้องตัวเอง โยนความผิดให้คนอื่น สาม การประชดประชัน และสี่ ความเงียบ เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง และทำลายความสัมพันธ์ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนมีอยู่ในตัวอย่างเป็นอัตโนมัติ แม้ว่าจะพูดหรือไม่ได้พูด

NVC6

ส่วนภาษายีราฟ เป็นภาษาแห่งการเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง (ยีราฟหูเข้า) และผู้อื่น (ยีราฟหูออก) เป็นภาษาที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดี

การเรียนรู้เริ่มจากการรู้จักและเข้าใจเสียงหมาป่า โดยกระบวนกรให้แต่ละคนเขียนเสียงหมาป่าของตัวเองจากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดกับคนใกล้ตัว แล้วยกตัวอย่างหนึ่งมาฝึกในวงใหญ่เป็นการสาธิตการให้ Empathy ก่อนจะแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อฝึกค้นหาหัวใจหมาป่า แล้วนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแบ่งปันกันในวงใหญ่ เช่น “ช่วยให้แยกแยะสาเหตุของเสียงหมาป่าระหว่างความต้องการให้งานดีกับต้องการความสัมพันธ์ที่ดีที่ขัดแย้งกันอยู่ภายในตัวเองได้ชัดเจน, เสียงหมาป่ามาจากการที่เราไม่ดูแลความเปราะบางในตัวเอง คือความอ่อนโยนภายในที่ถูกทำร้าย”

NVC7

เมื่อค้นพบและทำความเข้าใจเสียงหมาป่าของตัวเองแล้ว มีทางเลือกในการดูแลความต้องการของตัวเอง มีสามทางคือ หนึ่ง การดูแลตัวเอง ปล่อยวางและไว้อาลัย สอง ลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น สื่อสารสิ่งที่เกิด ความรู้สึก ความต้องการ และสิ่งที่เราอยากร้องขอออกไป สาม รับฟังความรู้สึกของอีกฝ่าย ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ในคราวต่อไป

NVC8

ติดตามเนื้อหาตอนต่อไปได้ที่ ปัญญาภายใน : บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 2

บันทึกเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำแห่งอนาคต : ผู้นำร่วมสร้างสุข
(Leadership for Collective Happiness – LCH)
โมดูล 2 ปัญญาภายใน : บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 1
ระหว่างวันเสาร์ที่ 9, 16, และ 23 พฤษภาคม 2563 บนโปรแกรม ZOOM
เวลา 13.00 – 16.00 น. กระบวนกรโดย ณัฐฬส วังวิญญู และทีมจากสถาบันขวัญแผ่นดิน

 

Your email address will not be published.