‘เมล็ดข้าวเปลือกไทยเบิ้ง’การกลับบ้านของหนุ่มสาว เพื่อเปลี่ยนวิกฤติชุมชนเป็นห้องเรียน1 min read
ไกลออกไปจากตัวเมืองลพบุรีราว 60 กิโลเมตร คือที่ตั้งของชุมชนวัฒนธรรมไทยเบิ้ง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี หลายคนอาจรู้จัก ‘โคกสลุง’ ชุมชนริมเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เส้นทางรอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน โดยมีขบวนรถไฟลอยน้ำอันลือชื่อเคลื่อนผ่านเวิ้งน้ำป่าสัก
ในอดีตโคกสลุงคือชุมชนโดดเดี่ยวห่างไกล ต้องเผชิญหน้ากับยากลำบากรอบด้าน ทั้งการเข้าถึงระบบสุขภาพ การเดินทางสัญจร ความปลอดภัยในชีวิต ปัญหายาเสพติด และการเข้ามาของโครงการพัฒนาที่อาจเปลี่ยนแปลงวิถีดั้งเดิมของชุมชนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
ถึงที่สุดแล้ว ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับวิกฤติ หากแต่ไม่ใช่การต่อสู้ยิบตาด้วยพละกำลัง แต่เป็นการต่อสู้ด้วยการ ‘สร้างคน’ โดยการใช้วัฒนธรรมและภูมิปัญหาเป็นเครื่องมือ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘กลุ่มเยาวชนเมล็ดข้าวเปลือกไทยเบิ้ง’
“เมล็ดข้าวเปลือกหนึ่งเมล็ดที่มีความสมบูรณ์ มันไปตกที่ดินดี น้ำชุ่ม ได้รับการดูแลอย่างดี มันจะเติบโตเป็นต้นข้าวอีก 1 กอ ที่งอกงาม แล้วให้ผลผลิตอีกนับร้อยนับพันเมล็ด”
‘มิ้ม’ กัญญาวีร์ อ่อนสลุง สมาชิกกลุ่มเยาวชนเมล็ดข้าวเปลือกไทยเบิ้ง เล่าว่า เธอติดสอยห้อยตามพ่อและแม่ไปทำงานชุมชนนับตั้งแต่จำความได้ วัยเด็กของมิ้มจึงมีชุมชนเป็นห้องเรียน มีเวทีเสวนาเป็นสนามเด็กเล่น มีพ่อและแม่เป็นครูคนแรก และมีภูมิปัญหาเป็นวิชาเรียนตามอัธยาศัย
“พ่อแม่ไม่เคยบังคับว่าเราต้องทำอะไร แต่ทั้งคู่เอาความสนุกมาเป็นตัวล่อ เพื่อให้เราได้ซึมซับบรรยากาศของการเรียนรู้นอกห้องเรียน”
หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยมหิดล ด้านชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มิ้มและเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันตัดสินใจกลับบ้าน เพื่อสานต่อการงานพัฒนาคนและชุมชน ผ่านการทำงานของกลุ่มเมล็ดข้าวเปลือกไทยเบิ้ง
“เราทุกคนคุยกันว่าอยากทำงานที่นี่ ก็เลยเริ่มคิดโครงการ เขียนโครงการเพื่อไปของบประมาณมาทำงาน เอามาทำกิจกรรมกับเด็กๆ ในชุมชน พอจบโครงการแรกไป มันเหมือนเปิดตัวกลุ่มพวกเราว่า เราจะทำงานที่นี่ ในชุมชนนี้ และเป็นงานที่ช่วยตอบคำถามลุงป้าน้าอาในชุมชนได้ว่า ‘ทำไมไม่ไปทำงานที่อื่น’ เพราะเราทำให้เห็นแล้วว่า เราทำงานได้ ที่นี่มีงานให้ทำ”
นอกเหนือจากการรวบรวมภูมิปัญหาของคนเฒ่าคนแก่ที่สะสมประสบการณ์และความรู้ไว้มากมาย เมล็ดข่าวเปลือกไทยเบิ้งยังได้ควานหาเครื่องมือจากหลายแหล่งการเรียนรู้ เพื่อเป็นรากฐานในการกระบวนการคิดและการทำงาน เช่น สุนทรียสนทนา (dialogue) การคิดกระบวนระบบ (systems thinking) ภูเขาน้ำแข็ง (satir model)
“พวกเรามาถอดหาคุณค่าว่า ลึกๆ แล้วทำไมพวกเราถึงอยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิด ลึกๆ แล้วเราตกตะกอนกันได้ว่า นอกเหนือจากการได้กลับบ้านมาดูแลพ่อแม่แล้ว เหตุผลหลักๆ คือ เรามีความสุขที่จะทำ สุขที่จะได้อยู่บ้าน”
ถึงที่สุด มิ้มและเพื่อนได้สร้างหลักสูตรกระบวนกรชุมชน (community facilitators) และชักชวนเด็กๆ หมู่บ้านมาทำงานด้วยกัน
“พี่เลี้ยงในกลุ่มเมล็ดข้าวเปลือกจะทำหน้าที่เป็นกระบวนกรนำพาเด็กๆ ในชุมชนมาทำกิจกรรม ผ่านการสนทนากัน คุยกัน มีกิจกรรมให้เขาเล่น จากนั้นก็ชวนเด็กๆ คุยว่า กิจกรรมที่ผ่านมามีปัญหาอะไรบ้าง บางคนก็มีตีกัน ร้องไห้ ทะเลาะกัน พี่ๆ ก็จะทำหน้าที่ตั้งคำถามว่า ปัญหามันเกิดจากอะไร ให้เขาได้ถกกัน สรุปว่าเด็กฟังกันมากขึ้น คุยกันได้ ยืนยันเลยว่า ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็สามารถนำหลักสูตรนี้ไปประยุกต์ใช้ได้”
‘อุ้ม’ ศศิวิมล สีทับทิม เพื่อนสนิทร่วมมหาวิทยาลัยของมิ้ม ก็เป็นหนึ่งในทีมเมล็ดข้าวเปลือก โคกสลุงสำหรับเธอคือพื้นที่ที่น่าค้นหา และเธอเชื่อว่ายังมีสิ่งที่อยากเรียนรู้จากที่แห่งนี้
“เราตัดสินใจตั้งแต่เรียนจบแล้วว่าจะมาทำงานที่โคกสลุงกับมิ้ม แต่เราต้องคุยกับคนที่บ้านให้ได้ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เราทำงานที่ไม่มีเงินเดือน ทุกๆ เดือนเราต้องอยู่ได้ด้วยการเขียนและทำโครงการ ถ้าเราไม่ทำ เราก็ไม่มีเงิน
“เป้าหมายของเราตอนนี้ คืออยากเอาหลักสูตรท้องถิ่นเข้าไปในโรงเรียน ถ้าหากมีการเรียนการสอนวิถีชุมชนในโรงเรียน เด็กทุกคนจะได้เรียนรู้ นั่นหมายถึงว่า เขาจะได้ซึมซับวิถีวัฒนธรรมต่อไป มันคือความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น”
ปัจจุบันเมล็ดข้าวเปลือกผ่านมาแล้วถึง 6 รุ่น ซึ่งต่างเติบโตและแยกย้ายลงหลักปักฐานตามแนวทางของตนและไปสร้างประโยชน์นอกชุมชน บ้างก็กลับมาพัฒนาหมู่บ้านร่วมกับคนในชุมชน บนความเชื่อว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาชุมชน เริ่มต้นด้วยการ ‘พัฒนาคน’ ที่รักในการเรียนรู้