Korkankru

Reading Time: 2 minutes โครงการโรงเรียนปล่อยแสงชวนมาคุยกับ “น้องแบม” นักเรียนจากโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม ผู้ค้นพบตัวเองอย่างมีความสุขจากความเปิดกว้างของครูและโรงเรียน รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้เรียนว่านิเวศการเรียนรู้ที่ได้เลือกนั้น ช่วยให้เด็กคนหนึ่งเติบโตได้อย่างไร Aug 16, 2023 2 min

นิเวศที่ฉันได้เลือกที่จะเติบโต2 min read

Reading Time: 2 minutes

ในเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา โครงการโรงเรียนปล่อยแสง และเครือข่าย ได้จัดงาน เวทีปล่อยแสง : สร้างการศึกษาไทยให้มีอนาคต เพื่อนำเสนอวิธีคิด การจัดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์โลกอนาคต ผ่านผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ตั้งแต่ ตัวแทนจากศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัยอิสระ ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูผู้สอน ในรูปแบบของงานเสวนา

หนึ่งในผู้ที่ขึ้นไปร่วมปล่อยแสงบนเวทีแห่งนี้คือ นางสาวรัตนาภรณ์ พันธ์พิริยะ หรือแบม นักเรียนซึ่งพึ่งจบการศึกษาชั้นมัธยมฯ จโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด ในฐานะผู้ที่ค้นพบศักยภาพใหม่ๆ  ได้ลองทำสิ่งที่ตนเองสนใจ และ มีช่วงเวลาที่มีความสุขจากความเปิดกว้างของครูและโรงเรียน

เรื่องราวการเติบโต และนิเวศการเรียนรู้ที่หล่อหลอมเธอตลอด 6 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร มาร่วมฟังไปด้วยกัน

ปีแรกที่เขาน้อยวิทยาคม

โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบลเล็กๆ ตั้งอยู่นอกเมือง ทั้งโรงเรียนมีนักเรียนประมาณ 180 คน และส่วนมากเป็นลูกหลานเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้ตอบโจทย์กับชีวิตของเด็กๆ โรงเรียนนี้จึงเปิดวิชาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสริมทักษะวิชาชีพ ให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ ปรับใช้กับอาชีพเกษตรของครอบครัวตนเองได้ 

ตอนหนูเข้าเรียนที่เขาน้อยปีแรก มีวิชาชื่อ บริษัทจำลอง เป็นวิชาเพิ่มเติมให้นักเรียนรวมกลุ่มกันทำผลิตภัณฑ์ที่สนใจ เรียนคละกันทุกระดับชั้น ได้ลองขายจริงช่วงหลังเลิกเรียน ตอนเปิดเทอมก็มีรุ่นพี่ ม.6 ม.5 มาเล่าให้ฟังว่าใครทำกลุ่มอะไรอยู่บ้าง มีทั้งกลุ่มกระบองเพชร กลุ่มบัว กลุ่มปุ๋ยไส้เดือน

กลุ่มที่แบมเลือกเข้าไปเรียนรู้ในช่วง ม.1 คือกลุ่ม “ดอกขจร” มีรุ่นพี่มัธยมปลายที่ทำมาก่อนสอนเรื่องสรรพคุณของดอกไม้ ชวนล้อมวงหารือ วางแผน สร้างรายได้ ตัดสินใจร่วมกัน และมีครูที่ปรึกษากลุ่มคอยให้คำแนะนำในฐานะโค้ชอยู่ห่างๆ 

อาจเพราะเป็นน้องเล็กสุดในกลุ่ม รุ่นพี่จะถามแบมเสมอว่าอยากทำอะไร เวลาแบ่งงานกันอยากทำฝ่ายไหน อยากลองดูแลสวน อยากเป็นคนเก็บผลผลิตขาย หรือว่าอยากเป็นคนพูดนำเสนอ ทำให้แบมรู้สึกว่าคนรอบข้างให้ความสำคัญกับความสนใจและการเลือกของตนเองมากๆ ช่วยเสริมแรงภายในให้แบมเข้าใจตนเองมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน

“สิ่งที่เปิดมุมมองความคิดหนูที่สุดคือการได้รู้ตัวเองว่าชอบการเรียนรู้แบบนี้มาก  เราเคยคิดว่าวิชาวิทยาศาสตร์หรือ คณิตศาสตร์นั้นจำเป็นแค่ในห้องสอบ  ซึ่งเราไม่ได้ชอบวิชาการมากแบบนั้น แต่ชอบการนำหลักการความรู้ต่างๆ มาปรับใช้จริงมากกว่า การมาทำกลุ่มดอกขจรทำให้ได้ทบทวนว่าจริงๆ เราเป็นคนแบบไหน เราชอบอะไร

ก่อนเข้าเรียนที่โรงเรียนเขาน้อยฯ สมัยเป็นเด็กประถมฯ แบมต้องตื่นตี 5 ทุกวันเพื่อนั่งรถประจำทางเข้าไปเรียนในเมือง  สังคมรอบตัวคอยบอกทั้งทางตรงและทางอ้อมว่าอนาคตที่สดใสคือต้องเรียนจบไปรับราชการหรือประกอบอาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคมเท่านั้น ไม่มีช่องทางให้กับความฝันอื่นๆ   แบมจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะกดดันตัวเอง  มองว่าต้องเรียนให้เก่ง วิทย์ คณิตฯ อังกฤษ ต้องทำได้เหมือนเพื่อน เพื่อให้ตนเองได้รับการยอมรับ

“ตอนนั้นหนูเคยเข้าใจว่าการจะ เข้ากับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนได้ เราต้องเป็นเด็กเรียนเก่ง อย่างที่เขาเป็นกัน  พอมาเรียนที่เขาน้อยวิทยาคม เรารู้สึกว่าหลายๆ อย่างเปิดกว้างขึ้น มีหลักสูตรที่ให้เราได้ทดลองงานหลายๆ ด้าน รู้สึกว่าเป็นตัวของตัวเองเพิ่มมากขึ้น ได้เข้าใจว่าจริงๆ แล้วเราเป็นตัวของตัวเองท่ามกลางคนอื่นๆได้นะ ท่ามกลางคนอื่นๆ”

ในแต่ละปี วิชาเรียนเพิ่มเติมของเขาน้อยจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปไม่ซ้ำเดิม แม้จะยังเรียนร่วมกันคละชั้น นักเรียนเลือกกลุ่มที่สนใจใหม่ได้ทุกปี แบมเองก็เลือกย้ายกลุ่มไปเรียนรู้การทำพรรณไม้อื่นๆ แต่จะวนเวียนอยู่กับงานเกษตรเป็นหลัก

วิชาที่หลากหลายและเพิ่มเติมได้

“ถ้าพูดถึงวิชาเพิ่มเติมของเขาน้อยฯ วิชาที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือวิชาคณิตศาสตร์เพื่อการลงทุน  ไม่ได้สอนเกี่ยวการหุ้น  แต่ให้ได้ลองลงทุนในชีวิตประจำวันผ่านการหาของมาขาย จัดตลาดนัดในโรงเรียนทุกวันเสาร์”

เช่นเดียวกับวิชาบริษัทจำลอง กิจกรรมทั้งหมดของวิชาคณิตศาสตร์เพื่อการลงทุนก็ดำเนินการโดยเด็กๆ เอง ตั้งแต่การประชุมวางแผน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ดูแลสถานที่ ประชาสัมพันธ์กิจกรรม ตลอดจนงานอำนวยความสะดวกพ่อค้าแม่ขาย โดยมีครูที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ ตั้งคำถามชวนคิด แต่ไม่ตัดสินใจแทนผู้เรียน ปล่อยให้เด็กๆ ทดลอง ได้ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว แล้วถอดบทเรียนจากประสบการณ์ที่ทำ

ตอนทำสนุกมาก แต่ก็เจ็บหนักเหมือนกัน ลงทุนจริง เจ็บจริง รู้จริง วันที่เปิดตลาดวันแรกไม่ได้มีคนเข้ามามากเท่าที่คาด เรามานั่งถอดบทเรียนกันว่า การเปิดตลาดนัดวันแรก สิ่งที่เราทำได้ดีแล้วคืออะไร สิ่งที่ยังทำได้ไม่ดีคืออะไร รอบหน้าจะปรับปรุงยังไง ลูกค้าจะร้อนไปไหมถ้าเดินแบบนี้ ของขายมีเพียงพอไหม เราควรจะเพิ่มความหลากหลายของสินค้ามากขึ้นไหม  สิ่งที่ได้ในการเรียนเลยไม่ใช่แค่เนื้อหาเกี่ยวกับการลงทุนหรือคณิตศาสตร์ แต่ทำให้หนูได้คุยกับเพื่อนมากขึ้น การสื่อสารกับเพื่อน การเป็นทีม เป็นกลุ่ม ยอมรับฟังกัน เกิดขึ้นมาในวิชานี้เลย

วิชาเพิ่มเติมของโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมนั้นมีหลากหลาย ทั้งวิชาที่เน้นพัฒนาทักษะชีวิตอย่างวิชาบริษัทจำลองและวิชาคณิตศาสตร์เพื่อการลงทุน หรือวิชาที่เน้นวิชาการตามความสนใจของผู้เรียนเองก็มีเช่นกัน

“ตอนหนูอยู่ชั้นมัธยมปลายแล้ว ครูสะท้อนว่าปกติวิชาเพิ่มเติมจะเปิดตามความถนัดของครูเอง เป็นวิชาที่ครูสอนได้ แต่บางวิชาอาจไม่ตรงกับสิ่งที่เด็กอยากเรียน ครูก็เลยเปลี่ยนใหม่ รวมครูและนักเรียนมานั่งคุยกันตั้งแต่ต้นเทอม ว่าเทอมนี้วิชาเพิ่มเติมที่ครูอยากจะเปิดสอนมีอะไรบ้าง แล้วเด็กๆ อยากให้ครูเปิดวิชาอะไรอื่นเพิ่มอีก”

แบมอยากทบทวนเนื้อหาของวิชาเคมีใหม่ทั้งหมดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย จึงไปขอครูประจำวิชาเคมีให้เปิดวิชาเคมีเพิ่มเติมจากวิชาพื้นฐานเดิม 

“ตอนไปขอคุณครู มีแค่หนูกับเพื่อนอีกคนหนึ่งรวมเป็น 2 คนเอง  ตอนแรกหนูก็กังวลเพราะอาจารย์บอกว่าการเปิดวิชาใหม่ต้องเขียนหลักสูตรขึ้นมาใหม่เลย หนูเผื่อใจไว้แล้วว่าอาจารย์อาจจะไม่สอนเพราะนักเรียนเรียนน้อย แต่อาจารย์ก็บอกว่า จริงๆ ถึงมี คนเดียวอยากเรียน อาจารย์ก็อยากสอน หนูรู้สึกประทับใจมากๆ พอเปิดวิชานี้จริงๆ ก็มีเพื่อนคนอื่นมาเรียนด้วยอีกหลายคนเลย”

ตารางเรียนของเด็กโรงเรียนเขาน้อยมีวันละ 8 คาบ สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเต็ม ไม่มีคาบว่าง เติมเต็มด้วยวิชาเพิ่มเติมที่ครูและนักเรียนช่วยกันสร้างสรรค์  แบมยืนยันว่าถึงแม้จะดูเรียนหนัก แต่ผู้เรียนไม่ได้รู้สึกลำบากเลย กลับกัน แบมสนุกกับการเรียนทุกครั้ง เพราะนี่คือวิชาที่เธอไม่ได้ถูกบังคับ แต่อยากเรียนด้วยตัวเอง

งานสภาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน

ตลอด 6 ปีที่เขาน้อย แบมได้เป็นส่วนหนึ่งของสภานักเรียนทุกๆ ปีเนื่องจากเป็นหัวหน้าห้อง งานหลักของเธอในสภาคือการรับฟังปัญหาและอุปสรรคทั้งในด้านการเรียนและการดำเนินชีวิตที่เพื่อนนักเรียนเผชิญ  รับฟังประเด็นที่นักเรียนอยากให้ทางสภาฯ เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและขับเคลื่อน ซึ่งหนึ่งในประสบการณ์ตรงของแบมคือการผลักดันเรื่องกฎระเบียบทรงผม

“ตอนหนูอยู่ ม.5 มีน้องๆ ม.ต้น เสนอเรื่องปรับกฎระเบียบทรงผม น้องผู้หญิงอยากถักเปียและรวบเก็บผมจากข้างหน้ามาข้างหลังได้ ตอนนั้นก็มีทั้งครูที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย  สภานักเรียนเรารับหน้าที่คนกลางในการรวบรวมเสียงของนักเรียนให้ได้มากที่สุด แล้วก็เสนอครู ใช้เวลาอยู่ 3-4 เดือน สุดท้ายเราก็ปรับแก้กฎระเบียบของโรงเรียนได้”

ในฐานะคนที่ไปรับฟังและรวบรวมเสียงของผู้เรียน แบมเล่าว่าทรงผมเป็นหนึ่งในเรื่องที่กระทบความรู้สึกและจิตใจของเด็กมาก มีน้องนักเรียนบางคนที่ไม่มีความสุขกับการผมสั้นเท่าติ่งหูเพราะทำให้รู้สึกสูญเสียความมั่นใจ ทำให้ไม่อยากมาโรงเรียน  หลังจากการอนุโลมกฎเรื่องทรงผมให้ยืดหยุ่นขึ้น รุ่นน้องคนนั้นก็กลับมาสะท้อนให้แบมฟังว่าเขามีความสุขกับการมาเรียนมากขึ้น มั่นใจและอยากมาโรงเรียนมากขึ้น

การทำงานสภาต่างๆ เป็นทั้งประสบการณ์ชีวิตและกระบวนการค้นหาตัวเองของแบม ทำให้แบมค้นพบว่าตนเองชอบการทำงานเชิงบริหาร การขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายต่างๆ รวมถึงค้นเจอเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชน

ตามกฎหมายของกรมกิจการเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ทำให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนประจำชุมชนขึ้นมา  ครูให้นักเรียนมัธยมปลายทุกคนมีส่วนร่วมด้วย  สภาจะได้รับงบประมาณจากบ้านพักเด็กและครอบครัวตามปีงบประมาณ เพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่โรงเรียนตามความเหมาะสม ที่ผ่านๆ มา โรงเรียนเรายังไม่เคยเข้าไปมีบทบาทขนาดนั้น แต่หนูสนใจเรื่องนี้มากๆ พอได้เป็นประธานจึงตั้งใจทำอย่างเต็มที่ เข้าไปเชื่อมโยง ทำงานร่วมกับเครือข่ายและองค์กรอื่นๆ จนมีน้องๆ จากโรงเรียนอื่นๆ ขอเข้ามาศึกษาดูงาน

นอกเหนือไปจากสภานักเรียนและสภาเด็กและเยาวชน โรงเรียนเขาน้อยยังมีการตั้งกลุ่มเพื่อคอยดูแลกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนที่เกี่ยวข้องกับชุมชนโดยรอบ เช่น งานตลาดนัดวันเสาร์ หรือการไปออกบูธในงานขายของประจำจังหวัด ชื่อว่า สภายุวเกษตรกร ซึ่งถึงแม้แบมไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในสภายุวเกษตรกรอย่างเป็นทางการ  แต่ก็เข้าไปช่วยงานเพื่อนสนิทที่เป็นประธานสภานี้อยู่อย่างสม่ำเสมอด้วยเหตุผลว่า นักเรียนควรจะได้เจอ “ไม้แข็ง” บ้าง

งานของสภานี้พัฒนาพวกเรามากๆ  เพราะกิจกรรมที่ทำในโรงเรียน ครูจะรับฟังและคอยช่วยเหลือเราอยู่แล้ว แต่การได้ทำงานกับชุมชนภายนอกทำให้เราเจอผู้คนหลากหลายรูปแบบมาก ทั้งผู้ใหญ่ที่พร้อมสนับสนุน และผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่พวกเราทำขนาดนั้น มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ว่าสุดท้ายแล้วเราจะต้องปรับตัวยังไง ต้องเป็นแบบไหนให้ชุมชนเข้าใจบริบทความเป็นเราจริงๆ

นิเวศที่ฉันได้เลือกการเติบโตด้วยตนเอง

หากถามว่านิเวศการเรียนรู้ที่ดีกับเด็กๆ แต่ละคนนั้นเป็นแบบไหน เชื่อว่าทุกคนคงจะมีคำตอบแตกต่างกันไป เพราะเด็กแต่ละคนล้วนแตกต่าง บริบทสังคมของแต่ละโรงเรียนก็ไม่เหมือน ความพร้อมของครูผู้สอนแต่ละคนก็มีเงื่อนไขปัจจัยแตกต่างกันไป 

ไม่ว่าคุณจะมีคำตอบแบบไหนอยู่ในใจ เรื่องราวของแบมย้ำเตือนว่าผู้เรียนแต่ละคนนั้นเติบโตผ่านนิเวศการเรียนรู้ที่รายล้อมเขา ไม่ใช่แค่เฉพาะครูที่สอนในห้อง แต่กิจกรรมต่างๆ เพื่อนร่วมชั้น หรือแม้แต่ชุมชนโดยรอบเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ อยู่ที่ครูและโรงเรียนจะออกแบบกระบวนการและแนวทางของตนเองอย่างไร

โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมสร้างนิเวศที่ให้ผู้เรียนได้เลือกการเติบโตของตนเอง เลือกกลุ่มที่ตนเองอยากร่วมงานด้วย เลือกวิชาที่ตนเองสนใจ และเลือกขับเคลื่อนคุณค่าที่ตนเองยึดถือ 

6 ปีที่โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม สร้างเสริม หล่อหลอม จากเด็กประถมที่ไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร ไม่รู้ว่าอยากทำสิ่งไหน ปัจจุบันแบมเป็นตัวของตัวเองอย่างมั่นใจ ได้ค้นพบสิ่งที่ตนเองชอบและสิ่งที่ตนเองถนัด ก้าวพ้นความเครียดแลความกดดันตนเองว่าชีวิตฉันจะไปในทิศทางไหน  เพราะโรงเรียนแห่งนี้เปิดกว้างให้เธอได้เลือก ได้ทดลอง และสะท้อนตกผลึกบทเรียนกับตนเองอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เธอค้นพบและค้นเจอเส้นทางของเธอด้วยตัวเธอเอง

Your email address will not be published.