Korkankru

ด้านการศึกษา บทความ / บทสัมภาษณ์ บัวหลวงก่อการครู

ฝึกวิชา-ค้นหาตัวเอง ไปกับ ‘นิเวศการเรียนรู้’ ในอ้อมกอดชุมชน2 min read

Reading Time: 2 minutes “ต้องให้เด็กหาตัวเองให้เจอ ให้เขารู้ว่าตัวเองชอบด้านไหน” หากการศึกษาคือเส้นทางของการสร้างอนาคต การค้นหาและส่งเสริมศักยภาพตนเองก็เป็นขั้นตอนสำคัญที่ขาดไปไม่ได้สำหรับ ชูศักรวิชญ์ แสนปัญญา ‘ผอ.ชู’ ผู้อำนวยการใจดีแห่งโรงเรียนบ้านกุดขนวน จังหวัดอุดรธานี Oct 24, 2023 2 min

ฝึกวิชา-ค้นหาตัวเอง ไปกับ ‘นิเวศการเรียนรู้’ ในอ้อมกอดชุมชน2 min read

Reading Time: 2 minutes

“ต้องให้เด็กหาตัวเองให้เจอ ให้เขารู้ว่าตัวเองชอบด้านไหน”

หากการศึกษาคือเส้นทางของการสร้างอนาคต การค้นหาและส่งเสริมศักยภาพตนเองก็เป็นขั้นตอนสำคัญที่ขาดไปไม่ได้สำหรับ ชูศักรวิชญ์ แสนปัญญา หรือ ‘ผอ.ชู’ ผู้อำนวยการใจดีแห่งโรงเรียนบ้านกุดขนวน จังหวัดอุดรธานี

โรงเรียนบ้านกุดขนวนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมต้น นับเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะพื้นฐานที่จำเป็นหลาย ๆ อย่าง ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของครูผู้สอนที่จะต้องออกแบบการเรียนการสอนเพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับเด็กวัยกำลังโต และเป็นความท้าทายของผู้อำนวยการอย่าง ‘ผอ.ชู’

กว่า 11 ปีของการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ผอ.ชู เล่าว่า ที่ผ่านมารับมือและแก้ไขปัญหาภายในโรงเรียนตามแบบฉบับหลักสูตรสำเร็จรูปการบริหาร (PDCA หรือ Plan-Do-Check-Action) คือประชุมวางแผน มอบหมายหน้าที่ ตรวจสอบการทำงาน แล้วจึงมาประเมินผลลัพธ์ในตอนท้าย ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับโครงสร้างโรงเรียนมากนัก 

กระทั่งได้เข้าร่วมอบรมวิชา ‘ครูก่อการใหญ่’ ทำให้ ผอ.ชู พบว่าหัวใจของการบริหารงาน คือการบริหารหัวใจของคนทำงาน

“เมื่อก่อนเวลาครูไปอบรม ส่วนใหญ่ก็จะแค่ไปรับฟังว่าควรทำอะไรบ้าง แต่การอบรมของโครงการฯ เปิดโอกาสให้เข้าอบรมพร้อมกันทั้งครูและผู้บริหาร จึงได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทำให้มองเห็นปัญหาและคุณค่าในการทำงานได้ชัดเจน”

ผอ.ชู เข้าร่วม ‘โครงการบัวหลวงก่อการครู’ พร้อมกับคุณครูในโรงเรียนบ้านกุดขนวนอีก 7 คน ซึ่งมาจากทุกระดับชั้นในโรงเรียน หลังการอบรมจบลง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในตัวผู้บริหารอย่าง ผอ.ชู คือแนวคิดการทำงานร่วมกับคุณครูในโรงเรียน

“หลังจากอบรม เราก็คิดได้ว่าต้องทำกิจกรรมอย่างเปิดใจ ต้องรับฟังครูในโรงเรียนให้มากขึ้นว่าเขามีปัญหาอุปสรรค และต้องตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าอยากเห็นเด็กเป็นแบบไหน”

วิชาชุมนุมที่ผู้เรียนออกแบบเอง

เป้าหมายแรกหลังจบการอบรม คือการปรับปรุงวิธีการสอนในคาบเรียนให้น่าสนใจยิ่งขึ้น โดยคุณครูแกนนำได้ใช้ชุดวิชาและเครื่องมือที่ได้จากการอบรมอย่าง ‘เกมและกิจกรรมเช็กอิน’ มาประยุกต์ใช้ในการสอนและทำความเข้าใจเนื้อหา รวมทั้งใช้เครื่องมือ ‘วิชาเวทมนตร์’ มาออกแบบห้องเรียนให้สนุกและผ่อนคลาย และ ‘วิชาห้องเรียนแห่งรัก’ ทำให้ครูได้สำรวจความรู้สึกตนเองและเข้าใจความต้องการของเด็กมากขึ้น 

นอกเหนือจากชุดวิชาและเครื่องมือของครูผู้สอน ผลลัพธ์จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในระหว่างการอบรม พบว่านักเรียนส่วนใหญ่ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนบ้านกุดขนวนมักเลือกเรียนต่อสายอาชีพ โรงเรียนจึงเลือกส่งเสริมทักษะด้านอาชีพเพื่อปูพื้นฐานตามความสนใจของผู้เรียนผ่านกิจกรรมชุมนุมสัปดาห์ละ 2 คาบ

ถึงอย่างนั้น แรงเสียดทานในการพัฒนาโรงเรียนคือ ข้อจำกัดด้านทรัพยากรและระยะเวลาตามคาบเรียน ส่งผลให้รูปแบบการสอนถูกตีกรอบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

วิชาชุมนุมถูกจัดไว้ในคาบสุดท้ายของวันจันทร์และอังคาร โดยวิชาชุมนุมของโรงเรียนบ้านกุดขนวนมีทั้งสิ้น 5 ชุมนุม คือชุมนุมวงโปงลาง (นาฏศิลป์) ชุมนุมดนตรี ชุมนุมเกษตร ชุมนุมเสริมสวย และชุมนุมสิ่งประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมทักษะที่เป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพในอนาคต ทว่าในช่วงแรกวิชาชุมนุมได้รับการตอบรับที่ไม่ดีนัก

“เด็กเลือกจะกลับบ้านแทนที่จะเข้าเรียนชุมนุม เพราะเขารู้สึกเบื่อหน่าย”

ผอ.ชู เล่าว่า การเรียนการสอนที่เน้นเรียนตามตำรา ทำแบบฝึกหัด สอบเก็บคะแนนตามหน่วยการเรียนรู้ แม้จะสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้ตามหลักเกณฑ์การศึกษาส่วนกลาง แต่มีส่วนทำให้นักเรียนออกห่างจากการมีส่วนร่วมในห้องเรียน เพราะไม่ทีพื้นที่ให้นักเรียนได้นำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้หรือลงมือปฏิบัติจริง ยิ่งเนื้อหายากขึ้นก็ยิ่งไม่สนุกและพาลให้บรรยากาศไม่น่าเรียน

เกษตรกรที่ไม่ได้สัมผัสดิน นักดนตรีที่ไม่ได้ดีดกีตาร์ นางรำที่ไม่ได้ขยับตัวตามจังหวะ ท้ายที่สุดทักษะเหล่านั้นอาจหมดอายุลงในวันตัดเกรด เหล่าคุณครูรวมถึงผู้อำนวยการจึงคิดใหม่ทำใหม่ด้วยการสร้างการเรียนรู้ที่จับต้องได้ผ่านแนวคิด Active Learner เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน เริ่มต้นจากการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เลือกสิ่งที่อยากเรียนรู้ในชุมนุม และใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า ‘Learning Curve’ มาเป็นแนวทางการสอน กระบวนการหลักที่ถูกนำมาใช้กับโรงเรียนบ้านกุดขนวนคือ ผู้เรียนจะได้ศึกษาทฤษฎี ได้ลงมือทำ ตกตะกอนผลลัพธ์ และมองหาแนวทางต่อยอดจากสิ่งที่เรียน 

ผอ.ชู ยกตัวอย่างการเรียนปลูกกล้วยของชุมนุมเกษตร เริ่มต้นจากการทำความรู้จักกับพืชชนิดนี้ผ่านหนังสือเรียน หลังจากนั้นคุณครูจะนำเด็กๆ ไปดูต้นกล้วยจริงในแปลงเกษตรของชาวบ้านในชุมชน เพื่อให้เห็นสภาพแวดล้อม การดูแลจัดการผลผลิต ไปจนถึงการแปรรูปกล้วยเพื่อทำเป็นอาหาร  ผ่านการพูดคุยกับเกษตรกรตัวจริง  ซึ่งกระบวนการเรียนรู้นี้นอกจากจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจขั้นตอนการปลูกกล้วยทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติแล้ว  ยังช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในวิถีชุมชนตนเองอีกด้วย 

เมื่อศึกษาแล้วก็ถึงเวลาลงมือทำ ในกระบวนการนี้มีความแตกต่างจากการเรียนแบบเดิม คือจากที่เคยปลูกพืชเพียงเพื่อให้รู้ว่าต้องปลูกอย่างไร กลายเป็นการปลูกเพื่อรอดูผลผลิต และนำผลผลิตเข้าสู่กระบวนการแปรรูป โดยนักเรียนจะได้ลงมือทำด้วยตัวเองในทุกกระบวนการ

หลังจากการเรียนรู้ในแต่ละคาบ มีการเปิดวงคุยเพื่อถอดบทเรียน เด็กๆ จะได้นำเสนอผลงานที่ตัวเองลงมือทำ และหาแนวทางเพื่อนำไปต่อยอดในอนาคต ซึ่งสำหรับชุมนุมเกษตรก็เลือกจะนำกล้วยที่ปลูกไปแปรรูปขายในโรงเรียนและชุมชน

เมื่อปรับเปลี่ยนการเรียนมาเป็นลักษณะนี้ ทำให้ชุมนุมเกษตรกลายเป็นพื้นที่ยอดนิยมของเด็กๆ ในโรงเรียน เพราะนอกจากจะได้ปลูก ได้ลิ้มรสผลผลิตของพืชที่ปลูก และยังได้เงินค่าขนมตอบแทนจากการขายผลิตภัณฑ์แปรรูป ในขณะที่ชมรมดนตรีและชมรมนาฏศิลป์ก็ได้รับความสนใจอย่างมากในกลุ่มเด็กโตที่กำลังค้นหาความถนัดของตัวเอง

“โรงเรียนเราไม่มีครูดนตรีเฉพาะทาง เลยต้องให้ครูที่ถนัดการเล่นดนตรีมาช่วยสอน แผนการสอนของชุมนุมดนตรีเลยออกแบบตามสิ่งที่นักเรียนและครูสนใจร่วมกัน”

คาบเรียนดนตรีเริ่มต้นที่การหารือเรื่องที่ผู้เรียนสนใจ พูดคุยแลกเปลี่ยนกับครูผู้สอนและจับกลุ่มเรียนรู้ฝึกฝน ส่วนนาฏศิลป์ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่มาเป็นวิทยากร ผลสัมฤทธิ์ของกลุ่มนี้จึงปรากฏผ่านฝีไม้ลายมือที่ได้รับการยอมรับจากชุมชน จนได้รับโอกาสให้ไปแสดงในงานพิธีต่างๆ และนั่นคือช่องทางที่ทำให้ผู้เรียนได้นำทักษะที่มีไปใช้ได้จริงและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง

“ประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน คือทำให้เด็กสามารถตอบได้ว่าทำสิ่งเหล่านี้ไปทำไม ทำแล้วได้อะไร”

ผอ.ชู สรุปให้ฟังว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ นักเรียนกระตือรือร้นที่จะเข้าเรียนคาบชุมนุม สนุกกับการเรียนมากขึ้น จากคาบเรียนที่เด็กๆ เคยหันหลังให้ กลายเป็นช่วงเวลาที่เด็กอยากมาทดลองทำสิ่งที่สนใจ ซึ่งทางโรงเรียนเองยังพยายามจัดการเรียนการสอนวิชาชุมนุมให้มีความหลากหลายมากขึ้นตามความสนใจของนักเรียน

ลานประลองนอกห้องเรียน

การต่อยอดทักษะที่เกิดขึ้นในคาบชุมนุม ถูกส่งเสริมให้แข็งแรงผ่านการเข้าร่วมเวทีประกวดแข่งขัน ซึ่ง ผอ.ชู ไม่ได้มองการเรียนรู้เหล่านี้เป็นเครื่องมือแห่งการล่ารางวัล แต่คือเส้นทางสายสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ เหล่านี้ไปสู่เส้นทางชีวิตที่กว้างขึ้นและสะดวกสบายขึ้น

โรงเรียนบ้านกุดขนวนมีจำนวนครูไม่มากนักเมื่อเทียบกับภาระการสอนและจำนวนนักเรียน เนื้อหาในคาบชุมนุมเน้นไปที่การสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ ความตั้งใจของ ผอ.ชู และคณะครูจึงเป็นการผลักดันให้นักเรียนเกิดทักษะที่สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยให้เด็ก ๆ พกพาวิทยายุทธที่ได้มาจากห้องเรียน นำไปสำแดงฤทธิ์ในโลกกว้างนอกเขตกระดานดำ

“ตอนเห็นเด็ก ๆ รวมวงเล่นดนตรีครั้งแรกในพิธีเปิดงานในชุมชน ผมตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยเห็นตอนพวกเขาเรียน แล้วก็มาคิดว่า เอ้อ เด็กเขาก็ทำได้ดีนี่”

ไม่ว่าจะการเล่นกีตาร์ การเลี้ยงหมูป่า ไปจนถึงการทำขนมกล้วยในคาบชุมนุม สิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญเชื่อมโยงกันคือ การนำทักษะเหล่านี้เชื่อมโยงไปสู่แนวปฏิบัติร่วมกับครอบครัวและชุมชน เพราะนั่นคือเครื่องพิสูจน์ว่าการเรียนรู้ดังกล่าวจะไม่สูญหายไปเมื่อพวกเขาก้าวพ้นไปจากรั้วโรงเรียน

นอกจากการนำผลผลิตจากการเรียนรู้ออกไปแบ่งปัน ช่วยเหลือ ซื้อขายกับผู้ใหญ่นอกโรงเรียน หลายครั้งก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ปกครองในการจัดสรรวัตถุดิบเพื่อการเรียนรู้ เชื่อมโยงการเรียนในห้องกับความเป็นอยู่ในชุมชนผ่านเรื่องง่าย ๆ อย่างการรวบรวมเศษอาหารจากแต่ละบ้านมาเป็นอาหารเลี้ยงหมูป่าในชุมนุมเกษตร เป็นต้น

บางทักษะที่เข้าข่ายเกณฑ์กติกาที่สามารถประกวดแข่งขันได้ก็จะได้รับการสนับสนุนในทางนั้น ขณะเดียวกัน ทักษะชีวิตทั่วไปที่เกิดขึ้นในระหว่างการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ก็ไม่ได้ถูกทิ้งขว้าง ผอ.ชู เชื่อว่าทุกการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นคือรากฐานที่จะสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับผู้เรียนในวันที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ 

“เด็กจำนวนหนึ่งมีความถนัดในการอ่านเขียน การเรียน การสอบ แต่ก็มีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ถนัดการร้องรำ การทำอาหาร การช่วยเหลือชุมชน ส่วนตัวผมมั่นใจว่าเด็กของเราที่ได้รับการฝึกจะสามารถเอาตัวรอดได้ดี เพียงแต่ผลสัมฤทธิ์นี้มันไม่ได้ถูกวัดคะแนนเหมือนกับการสอบ”

เมื่อระบบการศึกษาส่วนกลางวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยการสอบ คุณลักษณะบางประการที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน อย่างเช่นความซื่อสัตย์ ความขยัน การมีจิตสาธารณะ จึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่ภายนอกเพื่อประเมินผลลัพธ์ โดยมีคุณครู ผู้ปกครอง และชุมชนเป็นผู้พิจารณา ซึ่ง ผอ.ชู มองว่าการสร้างนิเวศการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเรียนรู้เกิดคุณค่าและมีความหมายต่อเด็ก ๆ ในโรงเรียน 

อย่างไรก็ตาม ผอ.ชู เสนอว่าหากระบบการศึกษาของประเทศไทยควรเปิดพื้นที่ให้กับเด็กที่มีความสามารถพิเศษนอกเหนือจากด้านวิชาการมากขึ้น ผ่านการสร้างเครื่องมืออื่น ๆ ที่รองรับการวัดผลการเรียนรู้ที่มากกว่าการทำข้อสอบ ก็จะทำให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้มีโอกาสได้ต่อยอดทักษะอย่างตรงจุด 

Your email address will not be published.