Korkankru

learning tools บัวหลวงก่อการครู

เช็กอิน-เช็กใจ ชวนสำรวจความรู้สึกและเตรียมความพร้อมการเรียนรู้ไปด้วยกัน1 min read

Reading Time: < 1 minutes กิจกรรม ‘เช็กอิน’ (Check-in) คืออีกหนึ่งแนวทางที่จะพาครูและนักเรียนร่วมกันสำรวจสภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจ พร้อมเปิดพื้นที่แห่งการรับฟัง และผสานสายสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง Dec 21, 2023 < 1 min

เช็กอิน-เช็กใจ ชวนสำรวจความรู้สึกและเตรียมความพร้อมการเรียนรู้ไปด้วยกัน1 min read

Reading Time: < 1 minutes

“วันนี้นักเรียนรู้สึกอย่างไร”

คำถามง่าย ๆ ที่เปลี่ยนบรรยากาศห้องเรียนจากความเจื้อยแจ้ว ไม่ว่าจะเป็นช่วงแรกของการเปิดเทอมหรือระหว่างการเปลี่ยนคาบเรียน สู่การเตรียมความพร้อมที่จะเปิดรับเนื้อหาการเรียนใหม่ ๆ ผ่านการดึงดูดความสนใจของผู้เรียนมายังผู้สอน

กิจกรรม ‘เช็กอิน’ (Check-in) คืออีกหนึ่งแนวทางที่จะพาครูและนักเรียนร่วมกันสำรวจสภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจ พร้อมเปิดพื้นที่แห่งการรับฟัง และผสานสายสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง

สิ่งสำคัญสำหรับครูจึงไม่ใช่เพียงการรับฟังสิ่งที่นักเรียนพูด แต่รวมถึงการสังเกตน้ำเสียง สีหน้า และท่าทางควบคู่กัน เพื่อสำรวจความพร้อมของผู้เรียน ก่อนที่จะปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาวะของเด็ก ๆ ในแต่ละชั่วโมง 

ล้อมวงบอกเล่าความรู้สึก

การสำรวจความพร้อมของผู้เรียนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สามารถทำได้ด้วยการสังเกตภาพรวมบรรยากาศ มวลความรู้สึก พลังงานของนักเรียน โดยอาจใช้กิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้พวกเขามีส่วนร่วม เช่น การแจกกระดาษโน้ตโพสต์อิท (Post-it notes) ให้เด็กแต่ละคนมาติดบนกระดานที่มีรูปใบหน้าแสดงความรู้สึกต่าง ๆ เช่น หน้ายิ้ม มีความสุข ตื่นเต้น เศร้า หรือโกรธ เพื่อให้นักเรียนบอกความในใจว่า ตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร 

นอกจากนี้ ครูอาจเลือกตั้งคำถามอย่างง่ายโดยเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันหรือสิ่งที่อยู่รอบตัวเด็ก ๆ อย่างการถามว่า “เช้านี้กินอะไรมาหรือยัง” “วันนี้กินข้าวกับอะไร” หรือถามตรงไปตรงมาว่า “ตอนนี้นักเรียนมีความรู้สึกอย่างไร” เพื่อเป็นการชักชวนนักเรียนสำรวจตัวเองไปด้วยกัน

มากไปกว่านั้น คือการละลายพฤติกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับกิจกรรมอื่น ๆ หรือการเปิดรับองค์ความรู้ต่อไป เพราะหากนักเรียนไม่พร้อมที่จะเรียน การเรียนการสอนย่อมไม่สามารถเกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงอาจส่งผลต่อเพื่อนร่วมห้องด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน กิจกรรมเช็กอินยังสามารถใช้เพื่อสำรวจความเป็นไปของนักเรียนด้วย ยกตัวอย่างกรณีที่นักเรียนกำลังประสบปัญหาภายในครอบครัว ทำให้สภาพจิตใจไม่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้ ก็ย่อมเป็นเรื่องดีที่ครูสังเกตเห็น ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ครูรับรู้ถึงบรรยากาศความพร้อมของนักเรียน แต่ยังอาจเข้าไปช่วยบรรเทาหรือชี้แนะทางเลือกให้นักเรียนได้ ถือเป็นการผูกสัมพันธ์อันดีระหว่างครูและนักเรียนไปอีกด้วย

จากคำถามสำรวจความรู้สึก สู่การเรียนรู้ที่ผู้เรียนไว้วางใจผู้สอน

วันแรก: นักเรียนรู้สึกอย่างไรกับห้องใหม่

วันที่สอง: ท้องฟ้าที่เห็นเป็นอย่างไร

วันที่สาม: อยากกินอาหารอะไร

วันที่สี่: นักเรียนชอบห้องเรียนเดิมหรือห้องเรียนใหม่

“เราถามนักเรียนทุกวัน โดยที่เขายังไม่รู้ว่ากิจกรรมนี้คืออะไร จนกระทั่งเราบอกเขาว่า สิ่งที่ทำคือการเช็กอินความรู้สึก เพื่อให้ทุกคนได้พูดคุยกัน ละลายพฤติกรรม และให้พวกเขาได้ส่งเสียงถึงสิ่งที่อยากพูด เมื่อนักเรียนรู้สึกวางใจ กิจกรรมต่อไปก็จะทำได้ดี”

นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของกิจกรรมเช็กอินที่ ‘ครูเต้’ หรือ สังคม หาญนาดง นำมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนของโรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน เป็นกิจกรรมที่ค่อย ๆ สร้างสายสัมพันธ์และความไว้วางใจต่อกัน

กิจกรรมเช็กอินจึงมีความหลากหลายในการออกแบบการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความพร้อมด้านร่างกาย เช่น ชวนให้ปรบมือเรียกความพร้อม ชวนบิดขี้เกียจ เปลี่ยนอิริยาบถ หรือการสร้างความพร้อมผ่านบทสนทนา อย่างเช่น “ตอนนี้ห้องเรียนร้อนหรือหนาวไปไหม” ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น เพื่อลดช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียน

แน่นอนว่าบางครั้งนักเรียนอาจไม่ได้บอกสิ่งที่ตัวเองรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา เพราะกลัวจะถูกตัดสินหรือมีปัญหาบางอย่าง สิ่งสำคัญไม่แพ้การรับฟังจึงเป็นการสังเกตสีหน้า แววตา ท่าทาง การวางตัวของผู้เรียนร่วมด้วย เบาะแสเหล่านี้จะช่วยให้ครูสามารถตรวจสอบความเป็นไปของนักเรียนได้ และอาจเพิ่มการพูดคุยส่วนตัว เพื่อให้นักเรียนคลายความกังวล เกิดเป็นความรู้สึกไว้วางใจ ปลอดภัย และพึ่งพาครูได้ ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกที่ติดตัวนักเรียนไปตลอดชีวิต

มากกว่าการเตรียมความพร้อม คือการสร้างสายสัมพันธ์

ความน่าสนใจของกิจกรรมเช็กอินไม่เพียงแค่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน รวมถึงนักเรียนกับนักเรียน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะกรณีที่มีนักเรียนใหม่ย้ายเข้ามาหรือนักเรียนเพิ่งเลื่อนชั้นเรียนใหม่ การเช็กอินจะช่วยให้พวกเขาปรับตัวได้ง่ายขึ้น และจุดประกายในการเปิดบทสนทนา รวมถึงอาจนำไปสู่กิจกรรมแบบกลุ่ม ที่ครูสามารถคิดและออกแบบร่วมกับนักเรียนเป็นหมู่คณะได้ด้วย ถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้สร้างการมีส่วนร่วมกับคนจำนวนมากพร้อมกันและเป็นจุดเริ่มความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป

Your email address will not be published.