Montessori: กระตุ้นพัฒนาการเด็กผ่านสื่อการเรียนรู้ที่จับต้องได้1 min read
โครงการบัวหลวงก่อการครู ได้มีโอกาสลงพื้นที่จัดการอบรม ‘การผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้’ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ให้กับครูในหลายระดับชั้นและจากหลากหลายวิชา โดยเริ่มต้นจากการแบ่งปันประสบการณ์และปัญหาที่พบในการเรียนการสอน และรูปแบบของสื่อการเรียนการสอนที่ตนเองสนใจ ครูจำนวนมากพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของเด็กนักเรียนต่อการเรียนการสอนในชั้นเรียน และนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นต้นมา เรียนออนไลน์และอุปกรณ์สื่อสารกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการเรียนการสอนในปัจจุบัน แต่จะต้องควบคุมไปกับพัฒนาการการเรียนรู้ตามช่วงวัย คุณครูหลายคนจึงมีความคิดจะปรับปรุงสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมผ่านการใช้งานสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้นักเรียนมีสมาธิ จับต้องได้ เข้าใจง่าย และสนุกสนานต่อการเรียนรู้
ภายหลังจากการที่ครูจำนวนมากได้แบ่งปันประสบการณ์และปัญหาในการจัดการชั้นเรียน วิทยากรที่ประกอบไปด้วย ผศ. ดร.ธิดา ทับพันธุ์ ผศ. ดร.ชลิดา จูงพันธ์ ผศ. ดร.ญาดา อรรถอนันต์ และผศ. ดร.อัครา เมธาสุข ได้อธิบายภาพรวมของโครงการในขั้น Workshop ทำการผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้ และการอบรมในครั้งนี้ มีจุดประสงค์ให้ผู้อบรมสามารถเข้าใจและเห็นสื่อการเรียนรู้ที่มากมายหลากหลายกว่าเดิม รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปการผลิตสื่อและการเรียนการสอนด้วย
หนึ่งในหัวข้อที่วิทยากรคือ ผศ. ดร.ธิดา และผศ. ดร.ญาดา ได้นำเสนอเสริมคือ สื่อทำมือแบบ ‘มอนเตสซอรี’ (Montessori) มีหัวใจสำคัญคืออยากให้เด็กได้ทดลอง สื่อเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีคนประกบเวลาที่เด็กกำลังใช้สื่อ แต่เด็กจะเรียนรู้ได้จากการลองผิดลองถูก ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าสื่อนี้จะมีลักษณะคล้ายจิ๊กซอว์ เด็กจะรับรู้ได้ว่าเขาทำถูกต้องเมื่อชิ้นส่วนของสื่อนั้นต่อกันได้พอดีโดยไม่มีความเหลื่อมกัน เด็กจะเรียนรู้โดยอัตโนมัติและหาคำตอบได้ด้วยตนเอง
อะไรคือ การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี
การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี (Montessori) เป็นหนึ่งในรูปแบบการเรียนการสอนที่ถูกออกแบบสำหรับเด็กที่เรียนรู้ช้าหรือมีความต้องการพิเศษในการเรียนรู้ โดย พญ.มาเรีย มอนเตสซอรี (Maria Montessori) แพทย์ชาวอิตาลี ที่ทำงานคลุกคลีกับเด็กพิเศษเหล่านี้ ได้คิดค้นวิธีการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ การได้เห็น หยิบจับ และทดลองบนหลักวิชาการหรือองค์ความรู้ต่างๆ ผ่าน ‘สื่อการเรียนการสอน’
พญ.มาเรีย นำวิธีการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรีมาทดลองกับเด็กหญิงอายุ 8 ขวบ จนเด็กพิเศษผู้นี้สามารถสอบผ่านด้านการอ่านและการเขียนได้เหมือนกับเด็กปกติทั่วไป จนได้รับการขนานนามว่า ‘สิ่งมหัศจรรย์ของมอนเตสซอรี’ และเมื่อ พญ.มาเรีย ได้นำวิธีการเช่นนี้ไปประยุกต์ใช้ครั้งแรกกับการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในย่านสลัมของกรุงโรม ทำให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สื่อการเรียนการสอนเริ่มแรกของมอนเตสซอรี ถูกใช้ในวิชาคณิตศาสตร์เพื่อให้เด็กเรียนรู้เรื่องจำนวน ปริมาตร และการประเมิน ทำให้เด็กได้เรียนรู้คณิตศาสตร์พร้อมๆ กับการเล่นไปโดยอัตโนมัติ โดยสื่อของมอนเตสซอรีนั้นจะเน้นไปที่การใช้มือและใช้ตาเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้กับเด็กเล็ก
แนวคิดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี
หลักใหญ่ใจความของการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี นอกจากจะเป็นการเรียนรู้ผ่านสื่อการเรียนการสอนแล้ว สื่อเหล่านี้ยังมีจุดประสงค์ในหลายด้าน ได้แก่
- สำรวจ ว่าตนเองสามารถทำอะไรได้จากการใช้สื่อนั้น โดยครูผู้สอนจะมอบสื่อให้เด็กเล่นอย่างอิสระ เพื่อให้เด็กเกิดกระบวนการคิดว่า สามารถใช้สื่อนั้นทำอะไรบ้าง
- เรียนรู้ด้วยตนเอง ให้ผู้เรียนสามารถกำหนดวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองในพื้นที่หรือสิ่งแวดล้อมที่จัดเตรียมเอาไว้ เด็กมีสิทธิที่จะเรียนรู้ระเบียบวินัยของตนเอง มีอิสระในการทำงานด้วยตนเอง รวมไปถึง ความสามารถในการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง
- ผลตอบรับ การใช้สื่อการเรียนการสอนจะเป็นตัวสะท้อนจากการปฏิบัติของเด็กว่า สิ่งนั้นถูกหรือผิด หรือครูจะต้องประเมินว่าสิ่งที่เด็กปฏิบัตินั้นถูกต้องหรือไม่ภายใต้สื่อที่เป็นตัวกำหนดขอบเขต ให้ได้ผลตอบรับเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการเรียนรู้ต่อไป
- การเรียนรู้จากการทดลอง เรียนรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นมีข้อผิดพลาดอย่างไร จากการทดลองทำและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดต่าง ๆ โดยนำข้อผืดพลาดเหล่านี้มาพิจารณาและนำไปสู่การแก้ไข
จากจุดประสงค์ที่กล่าวมาข้างต้น การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรีสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายของเด็กวัย 3-6 ปี เสริมสร้างพัฒนาการตามช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม ครอบคลุม 5 ลักษณะการเรียนรู้ผ่านสื่อการเรียนการสอน หรือวัสดุอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันดังต่อไปนี้
- การใช้ชีวิตผ่านสิ่งแวดล้อม (Practical Life) เป็นกิจกรรมที่เน้นการดูแลตนเองผ่านสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น มารยาททางสังคม สมาธิ และความมุ่งมั่นของเด็ก เป็นต้น
- การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 (Sensorial) เน้นการเรียนรู้จากประสาทสัมผัส เช่น ขนาด พื้นผิว ปริมาตร นํ้าหนัก เป็นต้น เพื่อเน้นการจดจำของเด็ก
- ภาษาต่างประเทศ (Foreign Language) เด็กที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป จะมีพัฒนาการการเรียนรู้ในด้านภาษาต่างประเทศจากการอ่าน การเรียนรู้จากเรื่องอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการอ่านจะสามารถทำให้เด็กชอบสิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วย
- คณิตศาสตร์ (Mathematics) คณิตศาสตร์ทำให้เด็กเข้าใจหลักการของตัวเลข การเรียนการสอนด้วยสื่อและอุปกรณ์ต่าง ๆ จะทำให้เด็กได้หยิบจับ เรียนรู้จากประสาทสัมผัส จนเกิดความเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดเพื่อเรียนพีชคณิตและเรขาคณิตได้
- วัฒนธรรม (Culture) การเรียนรู้กิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ผ่านอุปกรณ์ทางการเรียนอย่างลูกโลก จิ๊กซอว์ แผนที่ และหนังสือพ็อปอัป (Pop up Book) เหล่านี้จะทำให้เด็กได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างของแต่ละชนชาติได้
การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรีมีหลักคิดสำคัญว่า พัฒนาการของเด็กจะดำเนินไปตามธรรมชาติที่มีความเหมาะสมกับวัย ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เขาดำรงอยู่ เด็กจะพัฒนาการการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความรับผิดชอบ ควบคุมตนเองได้ และจากการเรียนรู้ด้วยตนเองจะทำให้เขาสามารถค้นพบตนเองได้
โรงเรียนที่จัดให้มีการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรีจะยิ่งเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านสังคมให้กับเด็ก เด็กจะรู้หน้าที่ของตนเอง เรียนรู้ถึงการเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มสังคม การมีส่วนร่วมในสังคม รวมถึงสร้างความเข้าใจพื้นฐานต่อสังคมที่ตนเองอยู่ได้