Korkankru

กิจกรรมที่ผ่านมา เยาวชนไทย โรงเรียนปล่อยแสง

จินตนาการใหม่ของการศึกษาไทย ที่ออกแบบโดยนักเรียน2 min read

Reading Time: 2 minutes จะมีกี่ครั้งที่เด็กได้จัดและรับผิดชอบกิจกรรมในโรงเรียนตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตนเอง แถมยังคิดโจทย์ที่พวกเขาสนใจเพื่อประโยชน์ของเพื่อนนักเรียนด้วยกัน นี่คือผลสะเทือนต่อเนื่องจากกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตให้กับผู้นำเยาวชนของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง Aug 5, 2024 2 min

จินตนาการใหม่ของการศึกษาไทย ที่ออกแบบโดยนักเรียน2 min read

Reading Time: 2 minutes

คงไม่สนุกแน่ถ้าให้เด็กๆ ผู้นำเยาวชนจากสามโรงเรียนที่ผ่านกิจกรรมการโค้ชสุดเข้มข้นตลอดสองวันครึ่งของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง กลับไปโรงเรียนของตนเองแบบว่างเปล่า โจทย์การสร้างการเรียนรู้แก่เพื่อนในโรงเรียนจึงถูกมอบให้พวกเขานำไปขบคิดและปล่อยแสงความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบของผู้เรียนให้เห็น

แกนนำจากโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด ขอปิดโรงเรียนครึ่งวัน ชวนเพื่อนทั้งโรงเรียนมาจัดตลาดผลิตภัณฑ์พื้นบ้านในชุมชน เพื่อฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการ   

แกนนำจากโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ปลุกทักษะการบริหาร โดยเลือกจัดกิจกรรมใหญ่ส่งท้ายปีของโรงเรียน ซึ่งมีตั้งแต่งานเปิดท้ายขายของไปจนถึงการประกวดแฟชั่นโชว์ 

ขณะที่แกนนำสองโรงเรียนกำลังแสดงศักยภาพต่อหน้าคนนับร้อย แกนนำโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง จังหวัดปราจีนบุรี เลือกทำโปรเจกต์ในห้องเล็กๆ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแค่เพียงไม่กี่คน 

แต่เข้าไปทำงานในส่วนที่ลึกและเปราะบางที่สุดของเด็กวัยรุ่น

มาดูกันว่าพวกเขาทำอะไรกัน

ศิลปะสื่อความรู้สึก 

แกนนำเยาวชนสร้างสรรค์จากโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง สนใจเรื่องความเครียดและความกังวลของวัยรุ่น พวกเขาไม่อยากให้เพื่อนร่วมโรงเรียนต้องเผชิญกับเรื่องเหล่านี้เพียงลำพัง จึงจัดกิจกรรม “กระบวนการศิลปะเพื่อการจัดการอารมณ์” และ “นิทรรศการแห่งความรู้สึก (Empathy Exhibition)” พาผู้เข้าร่วมกลับไปสัมผัสภายในของตนเอง ค้นหาตัวเองทั้งแบบที่คุ้นชินและแปลกใหม่ พบเจอทั้งเรื่องราวที่ปลอดภัยและเจ็บปวด แล้วระบายออกมาผ่านงานศิลปะสื่ออารมณ์

“พวกหนูทำเรื่องการระบายอารมณ์ เพราะรู้สึกว่าเราแบกความเครียด ความกังวลกันไว้เยอะมาก เราเห็นคนรอบตัวเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น ถ้าหนักมากๆ อาจจะถึงขั้นไม่อยากอยู่แล้วก็ได้ค่ะ ถ้าในพื้นที่โรงเรียนมีวิธีหรือพื้นที่ระบายอารมณ์มากขึ้น ไม่ต้องเก็บความรู้สึกนั้นไว้คนเดียวก็อาจจะช่วยลดภาวะนี้ได้นะ” นัท – ณัฐธิดา วัฒนเวธ หนึ่งในนักเรียนแกนนำของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุงเล่าถึงที่มีของการเลือกหัวข้อกิจกรรม

กิจกรรม เลือกใช้กระบวนการทางศิลปะพาผู้เข้าร่วมดำดิ่งไปในจิตใจของตนเอง คว้าจับสีและวัสดุต่างๆ ที่แฝงด้วยความรู้สึกซึ่งอัดอั้นอยู่ภายในมาประกอบร่างเป็นชิ้นงาน  ถ้าวัสดุแต่ละชิ้นตรงหน้าแทนศักยภาพแต่ละด้านของตัวเอง ประติมากรรมสื่อผสมที่บอกเล่าคุณค่าความเป็นตัวเองจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และถ้าอยากให้ดินน้ำมันเหล่านี้ทำหน้าที่แทนภาษา ก่อร่างเป็นสิ่งที่อยู่ข้างในลึกๆ ที่พูดออกมาไม่ได้ จะปั้นให้กลายเป็นสิ่งไหน 

“อาจจะเป็นเรื่องการเรียน ครอบครัว เพื่อน ความรัก หรือเรื่องเรียนต่อ บางคนไม่มีสิทธิ์ได้เลือกด้วยซ้ำว่าเขาอยากเป็นอะไร ที่บ้านกำหนดไว้แล้วว่าให้ไปเรียนหมอ ไปเรียนครู เป็นข้าราชการ ทั้งที่ความชอบเขาอาจจะไม่ใช่ก็ได้ค่ะ เราจึงอยากช่วยให้เขาได้ระบายความรู้สึก แล้วเพิ่มความกล้าที่จะสื่อสารด้วยว่าเขาเป็นและไม่ได้เป็นสิ่งไหน แสดงความเป็นตัวเองออกมาได้โดยที่ไม่ต้องปะทะหรือทำร้ายใคร” 

กิจกรรมเล็กๆ ในวันนั้นกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยแห่งใหม่ในโรงเรียน ผู้เข้าร่วมบางคนยิ้มกว้างให้เพื่อนหลังจากไม่ได้เห็นมานาน บางคนได้หยิบเอาเรื่องละเอียดอ่อนบางอย่างขึ้นมาพูดคุยกับคนอื่นเป็นครั้งแรก บางคนกลับไปค้นเจอว่าสิ่งที่ตัวเองให้คุณค่านั้นคืออะไร เป็นพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ที่พาเด็กๆ กลุ่มนี้กลับมาทำงานกับภายในของตนเองจริงๆ

ตัวตนใหม่ที่ฉันค้นพบ

กิจกรรมที่จัดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่การเรียนรู้ของผู้เข้าร่วม แต่เป็นบทเรียนใหม่ที่ท้าทายของทีมผู้จัดด้วยเช่นกัน ต่างจากกิจกรรมโรงเรียนครั้งอื่นๆ ที่ทำงานตามที่คุณครูมอบหมาย ครั้งนี้พวกเขาเป็นทั้งคนเลือกหัวข้อ พัฒนาไอเดีย เตรียมแผนการทุกอย่างตั้งแต่วัตถุประสงค์ ดำเนินแผนงาน ไปจนถึงการดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ เอง 

แกนนำเยาวชนยังต้องรับบทเป็นนักกระบวนกรผู้สร้างการเรียนรู้ที่จะพาทุกคนที่มีเรื่องทุกข์ใจเข้าสู่กิจกรรม จากการเป็นคนเขินอายก็ต้องมาพูดต่อหน้าคนเยอะๆ จากคนที่ชอบทำงานแบบด้นสดก็ต้องประชุมวางแผนร่วมกับเพื่อนๆ จากคนที่ตื่นเต้นประหม่าอยู่ตลอดเวลาก็นิ่งสงบและนำกระบวนการได้อย่างมีสติ  

ในวงถอดบทเรียนการทำงานหลังจบกิจกรรม สิ่งหนึ่งที่แกนนำเยาวชนหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ “ไม่เคยเห็นเพื่อนในมุมนี้มาก่อนเลย”

บางคนได้รู้ว่าตัวเองมีทักษะการพูด บางคนจัดการเวลาได้ดี บางคนชวนให้เพื่อนๆ นึกถึงข้อดี-ข้อเสียก่อนตัดสินใจ บางคนยอมรับและปรับตัวได้ดีกับเพื่อนใหม่ บางคนทำให้คนรอบข้างรู้สึกสบายใจ  การทำงานร่วมกันครั้งนี้พาเด็กๆ ไปค้นพบกับศักยภาพภายในอีกมากมายหลายแบบ

จากที่เคยมองว่าตัวเองไม่ถนัด หรือทำไม่ได้ ในวันนี้พวกเขา บอกว่า “เพราะได้ลอง ถึงรู้ว่าตัวฉันเองก็ทำได้เหมือนกันนะ”

ความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบของเยาวชนสร้างสรรค์

เมื่อเราเปิดกว้างทางความคิดและให้เด็กๆ ออกแบบโจทย์การเรียนรู้ของตัวเอง เลือกหัวข้อกิจกรรมที่สนใจ ก็ได้เห็นเด็กๆ จากทั้งสามโรงเรียนแสดงศักยภาพ สวมบทบาทใหม่ ได้เห็นพวกเขากล้าคิดกล้าฝัน และลงมือทำให้เป็นจริง โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุงได้รับพื้นที่ปลอดภัยแห่งใหม่ที่จะช่วยทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้น โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมได้เปิดพื้นที่และส่งต่อความเป็นผู้ประกอบการให้เด็กทั้งโรงเรียนและพร้อมที่จะขยายไปสู่โรงเรียนอื่น ในขณะที่โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในการบริหารจัดการงานโรงเรียนร่วมกัน

เยาวชนเหล่านี้เปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์และมีศักยภาพที่จะสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้อีกมากมาย หากเราเปิดโอกาสให้เขาได้เป็นตัวเอง ได้สร้าง ได้ทดลอง ประคับประคองความกล้าของเขาให้ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในตัวเด็กคือ “ความเป็นผู้นำ” และ “ความเป็นคนสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นสิ่งที่ระบบการศึกษากำลังต้องการมากที่สุด

Your email address will not be published.