Korkankru

เยาวชนไทย โรงเรียนปล่อยแสง

วัยรุ่นไทยกับการก้าวข้ามความกลัว และลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ1 min read

Reading Time: 2 minutes แม้เหล่าผู้นำเยาวชนจะมีพลังสำหรับการทำกิจกรรมมากมาย แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญปัญหาที่ท้าทายและต้องการการดูแลทั้งภายนอกและภายใน โครงการโรงเรียนปล่อยแสงจึงจัดกระบวนการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้พวกเขาเติบโตและงอกงาม Aug 5, 2024 2 min

วัยรุ่นไทยกับการก้าวข้ามความกลัว และลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ1 min read

Reading Time: 2 minutes

สภานักเรียน หัวหน้าห้อง และผู้นำกิจกรรมต่างๆ คือข้อต่อสำคัญที่คอยเชื่อมประสานคนในโรงเรียนให้ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น ฟังเสียงจากเพื่อนนักเรียนเพื่อนำไปแก้ไข รับโจทย์จากคุณครูไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ และกล้าที่จะเดินตามความเชื่อมั่นในใจตนเอง ค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ให้โรงเรียนดีขึ้นในทุกวัน

บทบาทพิเศษในโรงเรียนมาพร้อมกับโจทย์ที่ยากและท้าทายทั้งจากภายนอกและภายใน กลายเป็นคำถามของโครงการโรงเรียนปล่อยแสงว่า หากเราจะมีทาง “เรียนลัด” ให้ผู้นำเยาวชนเหล่านี้ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด บทเรียนนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

สร้างทีมด้วย 4 ทักษะชีวิต

“เรารวมเอาเด็ก ม.ปลายสามโรงเรียนมาทำกิจกรรมร่วมกัน ตั้งแต่วันปฐมนิเทศ เด็กๆ บอกว่าอยากเรียนรู้เรื่อง ‘ทีม’ สำหรับเด็กวัยนี้การคิดเห็นไม่ตรงกัน ขัดแย้งกันบ้างเป็นเรื่องปกติมาก แต่ในฐานะผู้นำเยาวชน ทำยังไงให้งานที่เขาทำเดินหน้าต่อไปได้ด้วย” 

ขวัญหทัย สมแก้ว วิทยากรโครงการเล่าถึงที่มาของการออกแบบกิจกรรมด้วยชุดทักษะชีวิต 4C ได้แก่ Collaboration Communication Creativity และ Critical Thinking

“เราทำเรื่องการสื่อสารกับการทำงานร่วมกัน (Collaboration and Communication) ในโรงเรียนเขาเอง เด็กกลุ่มนี้ทำงานกันมาเยอะมาก ชินกับงานเดิมที่ทำอยู่แล้ว ต่อให้ทะเลาะกันก็หาทางผ่านไปได้  ครั้งนี้เราเลยโยนโจทย์ที่ยากและมีเงื่อนไขที่ท้าทาย บีบคั้น แต่เป็นไปได้ เช่น คน 10 คนกับกระดาษแผ่นเล็กๆ ให้ข้ามไปอีกฟากของห้องโดยห้ามแตะพื้นเลย หากพลาดต้องเริ่มใหม่ ไม่มีคำว่าหยวนๆ จนเด็กๆ พูดออกมาเองเลยว่าถ้าไม่ฟังกัน เราไม่ผ่านแน่ เขาก็ต้องคิดแล้วว่าจะผ่านโจทย์นี้ไปด้วยกันได้ยังไง ฉันเองที่ยืนอย่างมั่นคงอยู่จะช่วยเพื่อนได้ด้วยวิธีไหน”

เมื่อเด็กๆ ทำงานร่วมกันได้ สื่อสารกันได้ และยอมรับความแตกต่างที่แต่ละคนเป็น ก็ลองพาเขามาทำงานเชิงสร้างสรรค์ (Creativity) ภายใต้โจทย์ที่ไม่มีถูกผิดและสามารถออกจากกรอบเดิมๆ ที่เคยทำ

“การได้ออกจากกรอบเดิมๆ ก็จะกลับมาที่ตัวเขาเอง ได้เห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ข้างในตัว สิ่งที่เราไม่ค่อยกล้าทำ แต่สามารถทำให้เป็นจริงได้ ซึ่งก็จะเชื่อมโยงกับ C ตัวสุดท้าย คือ Critical Thinking เพราะไม่ใช่แค่สร้างสรรค์อย่างเดียว แต่สร้างประโยชน์ด้วย”

ขวัญหทัยเล่าว่าเด็กเหล่านี้มีพลังมาก การจัดกิจกรรมเดิมๆ ในโรงเรียนนั้นธรรมดาไปสำหรับเด็กที่มีพลังขนาดนี้ ในช่วงท้ายสุดเธอจึงชวนมาฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์เป็นเหตุเป็นผล และลองร่างกิจกรรมใหม่ให้โรงเรียน โดยอาจเป็นโจทย์เดิมๆ อย่างเรื่องการจัดการขยะหรือการจัดตลาดนัดขายผักที่นักเรียนปลูก แต่ครั้งนี้ลองเอาข้อมูลที่มีมากางใหม่อีกครั้ง และดูว่าแก้ไขเรื่องนี้ด้วยวิธีอื่นได้ไหม หรือพัฒนาต่อยอดจากสิ่งเดิมได้อย่างไรให้ทั้งสร้างสรรค์ แปลกใหม่และก่อให้เกิดประโยชน์ได้จริง 

เติบโตจากภายใน

“อยากเรียนรู้เป็นพิเศษคือเรื่องการจัดการความเครียด อยากเรียนรู้วิธีการอะไรก็ได้ที่ทำแล้วได้เอาความเครียดของเราออกไป ได้แบ่งเบาสิ่งนี้กับเพื่อน และได้แบ่งปันความทุกข์ในช่วงวัยเดียวกันกับเพื่อน” ขวัญหทัยบอกว่านี่เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่เด็กจำนวนไม่น้อยขอตั้งแต่ในวันปฐมนิเทศ

ในสายตาคุณครูหรือผู้ใหญ่ ผู้นำเยาวชนนั้นเป็นเด็กเก่ง มีความสามารถ น่าจะเปี่ยมด้วยความมั่นใจ แต่พวกเขาเองก็ไม่ต่างจากเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันกับคนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ กำลังเผชิญกับความสั่นคลอน อีกทั้งยังมีคำถามมากมายอัดอั้นอยู่ในใจ

“พอมาคิดดู เราไม่แน่ใจว่าเขาอยู่ในสังคมแบบไหน ทุกวันนี้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กันในโลกออนไลน์ที่ตัดสินกันไวมาก ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยพอที่จะรับฟังในสิ่งที่เขารู้สึก และพร้อมจะพาไปเจอข้อความที่บั่นทอน กดดันให้เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ได้รับพลังลบจากคนที่ไม่เคยรู้จักในชีวิตจริงได้ตลอดเวลา ทำให้เขารู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเองและเครียด พอเด็กไม่มีทางออกก็อาจจะทำให้กลับมาถามตัวเองว่าเขาไม่มีดีอะไรเลยเหรอ ไม่มีคุณค่าเหรอ”

ในวันที่ 2 ของโครงการ ขวัญหทัยจึงให้เด็กๆ เขียนออกมาทีละข้อว่าจริงๆ แล้วเราเป็นใคร และเป็นอะไรบ้าง  เราอาจเป็นพี่สาวคนโตของบ้านไปพร้อมกับการเป็นคนขี้กังวล หรืออาจเป็นคนที่ห่วงใยคนอื่นไปพร้อมกับการเป็นคนขี้เกียจ  เด็กๆ เขียนเรื่องราวของตนเองและอ่านให้เพื่อนฟัง ทั้งหมดนั้นคือตัวเรา แบบที่เราเป็น ไม่มีคำว่าดีหรือร้าย เด่นหรือด้อย มีแต่ตัวเรา

“หลังจากนั้นเราพาเด็กมาคัดแยกขยะในใจด้วยการ ลองเขียนปัญหาและความรู้สึกที่ค้างอยู่ในใจออกมาทีละข้อ และอ่านดูอีกครั้งว่าตอนนี้เรารู้สึกยังไงกับมัน ปัญหาไหนที่เกิดจากตัวเราเอง อันไหนที่เราจัดการได้ อันไหนที่เกิดจากคนอื่น อันไหนที่สามารถปล่อยไปได้  พอเปิดวงสนทนาที่ปลอดภัยและมากพอ มีคนพร้อมจะรับฟังกันมากพอ เขาก็เล่าออกมาได้และรู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวนะ ได้เห็นว่าเพื่อนคนข้างๆ ที่เรามองว่าเขาดีมากก็มีเรื่องทุกข์ใจอยู่เหมือนกัน เกิดเป็นความเข้าอกเข้าใจกัน”

กิจกรรมเหล่านี้พาเด็กๆ กลับไปค้นหาคุณค่าที่อยู่ภายในตัวเอง ตระหนักว่าตัวเองคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร จะไปหาความสุขให้ตัวเองได้จากที่ไหน เพราะการจัดการความเครียดที่เด็กๆ ขอนั้นไม่สามารถให้คนอื่นมาจัดการให้ได้ พวกเขาต้องจัดการด้วยตนเอง 

………..

ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เหล่าผู้นำเยาวชนอาจต้องไปเจอปัญหาหรือความท้าทายอะไรต่อ ไม่มีใครรู้ได้ สิ่งที่ทำในห้องเรียนลัดคือการติดอาวุธชื่อว่า “ทักษะชีวิต” การตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเอง การสร้างความเชื่อมั่นว่าเขาทำได้ หลังจากนี้เด็กๆ ก็จะต้องกลับไปเติบโตและใช้ชีวิตของตัวเอง

เมื่อเด็กกลับไปที่โรงเรียนของตัวเอง เขาจะไม่ใช่แค่ผู้จัด ไม่ใช่แค่คนเตรียมงาน เตรียมสถานที่ ไม่ใช่แค่คนดำเนินการอีกต่อไป แต่ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นจะมีความหมายมากกว่านั้น เพราะเขาจะเป็นนักสร้างการเรียนรู้ คอยส่งต่อทักษะชีวิตและวิธีคิดบางอย่างให้แก่คนที่ทำงานด้วย ส่งต่อบทเรียนลัดให้แก่นักเรียนคนอื่นๆ สร้างทีมที่ทำงานร่วมกันได้ สร้างการเรียนรู้ให้แก่คนอื่นและตัวเองไปพร้อมกัน ได้ทั้งงาน ได้ทั้งใจ

Your email address will not be published.