Korkankru

การศึกษาไทย คลังความรู้ ดินแดนนิเวศการเรียนรู้ โรงเรียนปล่อยแสง

Eco school โรงเรียนตื่นรู้เชิงนิเวศน์ที่ศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์3 min read

Reading Time: 3 minutes เรียนรู้จังหวะก้าวเดินของผู้บริหารรุ่นสองของโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ และพลังจากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เป็นดังองคาพยพในระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่ทำให้เป็นป่าแห่งนี้อุดมสมบูรณ์สำหรับการเติบโตของเด็กๆ Aug 10, 2024 3 min

Eco school โรงเรียนตื่นรู้เชิงนิเวศน์ที่ศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์3 min read

Reading Time: 3 minutes

“ครูนุ่น” ปฐมพร ปูรณัน และ “ครูนุช” นุชวรา ปูรณัน ผู้บริหารรุ่นสองของโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เติบโตมากับพ่อแม่ธนินทร์ ปูรณัน ผู้จัดการโรงเรียนและ ศันสนีย์ ปูรณัน ครูใหญ่ ผู้ทุ่มเทชีวิตให้กับการพัฒนาโรงเรียนมายาวนาน

และขณะนี้ก็เป็นเวลาที่พวกเธอก้าวเข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานของโรงเรียนอย่างเต็มตัว

พร้อมกับโจทย์ท้าทายให้พวกเธอต้องขบคิดและหาทางออก ในวันที่ทั้งคู่อ่อนล้าและโดดเดี่ยว กัลยาณมิตรจากหลากหลายส่วนและโครงการโรงเรียนปล่อยแสงได้เข้ามามีส่วนช่วยเป็นพลังเติมเต็ม ให้โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ก้าวเดินสู่เป้าหมาย “โรงเรียนตื่นรู้เชิงนิเวศน์”

ปรับพลังงานองค์กร 

สมัยเป็นเด็กครูนุ่นมักใช้เวลานอกเหนือชั่วโมงเรียนเคียงข้างพ่อและแม่ในวงประชุมครูประจำวัน หรือการอบรมพิเศษเพื่อเสริมทักษะแก่คณะครูอยู่เสมอ เธอเรียนรู้วิถีและวัฒนธรรมบางอย่างขององค์กรมาตลอด สิ่งหนึ่งที่ครูนุ่นไม่ชอบนัก คือการได้ยินเสียงพ่อแม่โต้เถียงแนวความคิดเกี่ยวกับโรงเรียนอยู่บ่อยๆ

รวมถึงวงประชุมโรงเรียนที่ค่อนข้างจริงจังกับการระบบทำงานสูง ทำให้หลายครั้งบรรยากาศโดยรวมค่อนข้างตึงเครียด

เธอตั้งเป้าหมายอยากเห็นบรรยากาศการทำงานที่ผ่อนคลายกว่านี้

“สิ่งที่รู้สึกว่าอยากจะเข้ามาทำ คือการชวนวงคุยให้ลดความเป็นทางการ มีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นพื้นที่ปลอดภัย ผ่อนคลายและสร้างสรรค์ ระบบการทำงานของเราโอเค แต่อยากให้การประชุมไม่เครียด

“เรามาพร้อมอีโก้ว่าฉันอยากจะเปลี่ยนโลก ทำไมพ่อแม่ต้องเครียดเถียงกันตลอด เนี่ยเดี๋ยวทำให้ดู โรงเรียนเล็ก ๆ นี่จะอะไรหนักหนา… แต่พอมาปุ๊ปต้องนั่งกินกาแฟน้ำตาไหล ไปโรงเรียนไม่ได้อยู่พักหนึ่ง เพราะว่าเรากดดันตัวเองและก็คาดหวังตัวเองไว้สูง”

ระหว่างยังหาคำตอบไม่ได้ ครูนุ่นเดินทางไปศึกษาศาสตร์ “สุนทรียสนทนา Dialogue” จากวิศิษฐ์ วังวิญญู ณ หมู่บ้านพลัม เธอเรียนรู้กระบวนการสร้างวงสนทนาที่เคารพในความแตกต่างหลากหลายและใช้วงสนทนานี้ดูแลใจของผู้ร่วมวงแต่ละคน  เธอนำมาปรับใช้กับทีมครูภาษาอังกฤษในการทำค่าย Bluebird ให้เด็กเรียนรู้ภาษาอังกฤษ โดยใช้สุนทรียสนทนาในวงประชุมครูแต่ละสัปดาห์ ซึ่งทำให้บรรยากาศการทำงานของทีมครูภาษาอังกฤษค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป ต่อมาจึงขยายกระบวนการนี้กับทีมอื่นในโรงเรียน พร้อมกับทำโปรแกรม “สร้างสุขด้วยสติในองค์กร Mindfulness in organization (Mio)”  ทำให้บรรยากาศโดยรวมของการทำงานยังคงไว้ด้วยความจริงจังเข้มข้น ทว่าค่อย ๆ ผ่อนคลาย สร้างสรรค์ ครูทุกคนร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่กัน และเป็นตัวของตัวเองกันมากขึ้น

“กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ เราให้เกียรติและยอมรับว่า 20 กว่าปีก่อนที่เขาก่อตั้งมา วางระบบ โครงสร้าง เป้าหมาย และชัดเจนว่าเราทำ Active learning เราทำเพื่อเด็ก ต้องสร้างกระบวนการสอนที่เข้มข้น เป็นงานที่หนัก แลกชีวิตกันมาในทีมก่อตั้ง

“แต่พอผ่านการตั้งทิศทางตรงนั้นแล้ว เรามาทำ soft side บ้าง วิธีคือ 1 คนเริ่ม อาจเป็นหัวหน้าหรือใครก็ได้ในทีม สมมติว่าเราเริ่ม อีก 5 คนเริ่ม อีก 10 คนเริ่ม พอหัวหน้าทีมปรับภาษา ปรับท่าที คนอื่นก็ปรับไปด้วยแบบไม่รู้ตัว แต่ต้องทำแบบไม่คาดหวังว่ามันจะดีงาม เพียงทำให้เป็นไปตามธรรมชาติ แล้วพอสัก 2–3 ปีผ่านไป จะเห็นว่าทุกคนเริ่มพูดภาษาเดียวกันแล้ว 

“ภาพวงประชุมของปีหลังๆ กับปีแรกก็ยังมีเป้าหมายชัดเจน มีความจริงจัง มีแรงผลักดันอยากจะทำเพื่อเด็ก แต่ว่าทุกคนมีพลังงานและวิธีสื่อสารเหมือนกันมากขึ้น ไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น”

ครูนุ่นย้ำว่าการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงพลังงานรวมในองค์กรหนึ่ง ต้องค่อยๆ ลงมือทำ อย่าคาดหวังความเปลี่ยนแปลงในชั่วพริบตา เพราะจะทำให้เกิดพลังงานของความเครียดและกดดันมากขึ้นแทน ทว่าหากค่อยทำไปเรื่อยๆ พลังงานดีๆ นั้นจะเกิดขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ 

เส้นด้ายที่ถักทอนิเวศการเรียนรู้

“อยู่นาทวีพูดภาษานี้คนเดียว…เหงามากเลย”

ครูนุ่นเล่าว่าการทำค่ายภาษาอังกฤษ Bluebird เพื่อลองทำกระบวนการสุนทรียสนทนาในทีมครู นำไปสู่การค้นหาและเชื่อมเครือข่ายภายในชุมชน  เริ่มจากเธอพาเด็กนักเรียนลงพื้นที่ชุมชนอยู่เรื่อยๆ

“เรารู้สึกว่าต้องหาเพื่อน ก็ลงชุมชนไปเจอพี่จ๋า เจอทีมอาแทน ทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น รู้สึกว่าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ต้องแบกเรื่องโรงเรียนอยู่คนเดียว  ถ้าโรงเรียนเป็นคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบอนาคตก็เศร้าเกินไป เพราะว่ามันตัดขาดคนอื่นๆ ที่ควรมีสิทธิและเสียงในเด็กของชุมชนด้วย”

เป็นจังหวะพอดีที่ครูนุ่นทำโครงการ “จากต้นน้ำสู่ปากทะเล” ร่วมกับ “อาจารย์หนึ่ง” สายฝน สิทธิมงคล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นคนจุดประเด็น “โรงเรียนตื่นรู้เชิงนิเวศน์” ทำให้ครูนุ่นเห็นแนวทางการเรียนรู้แบบบูรณาการฐานชุมชนของโรงเรียนมากยิ่งขึ้น

ตอนนั้นเราอยากทำให้การเรียนรู้แบบบูรณาการของโรงเรียนเข้มแข็งขึ้นอยู่แล้ว เพราะทุกห้องทำบูรณาการแต่คุณภาพยังไม่สม่ำเสมอ บางคนทำดีมากเลย ขณะที่บางห้องอาจไปไม่ถึงชุมชนหรือยังเป็นแค่รูปเล่ม ก็เลยต่อเรื่องบูรณาการกับชุมชน เราชวนเครือข่ายชุมชนมาพูดคุยกัน จัดทริปแบบไปเข้าค่ายกับครูในโรงเรียนเลย”

ในค่ายเชื่อมชุมชนครั้งนั้นประกอบด้วย “แทน” กิตติภพ สุทธิสว่าง แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และ “จ๋า” ณฐา ชัยเพชร นักอนุรักษ์พันธุ์ข้าวและพืชพรรณท้องถิ่น อาจารย์หนึ่งและคณะครูของโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ทั้งหมด 

ช่วงเวลาในค่ายเป็นการระดมสมองคณะครู โดยมีปราชญ์ชุมชนคอยให้คำปรึกษา จนเกิดเป็นหลักสูตร “Eco school โรงเรียนตื่นรู้เชิงนิเวศน์” ที่ออกแบบแผนงานสอนให้ปรับเปลี่ยนไปด้วยกันทั่วทั้งโรงเรียนมาประมาณ 5 ปีแล้ว 

ครูนุ่นเปรียบเทียบการเติบโตเปลี่ยนแปลงในช่วงนั้นว่าคล้ายจังหวะ synchronize ซึ่งกันและกันขององค์ประกอบต่าง ๆ อย่างลงตัว ทั้งความพร้อมของโรงเรียน ครู ชุมชน ผู้ปกครอง  โดยเฉพาะการเข้าร่วมเรียนรู้กับโครงการก่อการครูของ “ครูนุช” ที่ช่วยนำองค์ความรู้และการติดเครื่องมือการสอนใหม่ๆ เข้ามาสู่คณะครูในโรงเรียน และเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าร่วม “โครงการโรงเรียนปล่อยแสง” ในเวลาต่อมา

เช่นเดียวกับการทำให้วงประชุมเคร่งเครียดของครูกลายเป็นพื้นที่ผ่อนคลายและปลอดภัย หนึ่งในเครื่องมือที่โรงเรียนได้จากโครงการโรงเรียนปล่อยแสง คือการเปลี่ยนห้องเรียนที่ดูไม่สดใสในช่วงหลังสถานการณ์หลังโควิด 19 ให้เป็นห้องเรียนของการเรียนรู้ผ่านการเล่น สร้างบรรยากาศสนุกสนานที่ช่วยให้ทั้งครูและผู้เรียนตื่นตัวกับกิจกรรมตรงหน้า รวมถึงการพัฒนาครูให้ใช้สื่อออนไลน์อย่างเท่าทัน ซึ่งถือเป็นนิเวศใหม่ของการเรียนรู้ ทำให้ครูสามารถประยุกต์ใช้สื่อออนไลน์เป็นสื่อเรียนรู้ที่สนุกและปลอดภัย

โจทย์ท้าทายอีกอย่างหนึ่งของการใช้หลักสูตรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ คือการออกแบบกระบวนการตรวจประเมิน เพื่อวัดผลสมรรถนะผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม และสร้างความเข้าใจให้บุคลากรของโรงเรียนเห็นภาพหลักสูตรตรงกัน  

โรงเรียนจึงขอความช่วยเหลือจากโครงการโรงเรียนปล่อยแสง จัดกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์เฉพาะนี้ผ่านการอบรมหลักสูตรฐานสมรรถนะและการประเมิน ทำให้ครูเห็นภาพรวมและทิศทางของโรงเรียนมากขึ้น และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างครู และครูกับผู้บริหาร 

เราออกไปศึกษาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อมาย้อนดูว่าสิ่งที่เรากำลังพาเด็กไปใช่จริงไหม โดยยังยึดในคุณค่าเดิมคือ ‘เราสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อพัฒนาชีวิต’ พื้นที่นี้ไม่ใช่แค่โรงเรียน ภาพในฝันของเราคือพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันของเด็ก ครู ผู้บริหาร ชุมชน และผู้ปกครอง เป็นตัวอย่างนวัตกรรมที่บอกให้คนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ทำได้จริง ฐานสมรรถนะทำได้จริง นิเวศการเรียนรู้ทำได้จริง”

ครูนุชฉายภาพโรงเรียนที่สามารถเป็นพื้นที่ทดลองเรียนรู้ร่วมกันของทุกคนในระบบการศึกษา ทั้งสองพี่น้องเห็นภาพเดียวกันว่าโรงเรียนคือ “พื้นที่กลาง” ที่ช่วยเชื่อมผู้คนในสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาเด็กเยาวชน เช่น อาจารย์หนึ่งที่เข้ามาผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านหลักสูตร Eco school โรงเรียนตื่นรู้เชิงนิเวศน์, นักจิตวิทยาที่เข้ามาทำเรื่องสติในองค์กร, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เข้ามาช่วยขยับเรื่องนิเวศการเรียนรู้ ฯลฯ 

“เราเพียงเริ่มต้นจากสิ่งที่เราสนใจ อยากทำอะไร พอเริ่มจากสิ่งที่อยากทำจริงๆ จะมีพลัง เราจะหาทางเชื่อมเครือข่ายคนที่ร่วมกันได้ พอมีทีมแล้วจากนั้นก็ปรึกษากันว่าจะเดินต่อไปอย่างไร” ครูนุ่นทิ้งท้าย

พัฒนาตามบริบท

“ใช่ว่าเราหยิบแนวคิดทางยุโรปมา แล้วต้องเปลี่ยนนาทวีเป็นยุโรป หรือเอาแบบกรุงเทพฯ มาเปลี่ยนเชียงใหม่ 

“การสร้างความเปลี่ยนแปลงควรเข้าใจบริบทเดิมด้วย เป็นคุณค่าที่เราปลูกฝังในการทำงานและพยายามส่งต่อสู่เด็กๆ นั่นคือ การเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์เพื่อปรับตัวให้อยู่ร่วมกันในสังคม”

ผู้จัดการโรงเรียน ธนินทร์ ปูรณัน ย้ำถึงแก่นการพัฒนาว่า ต้องศึกษาบริบทพื้นที่เดิมให้ลึกซึ้ง เพราะการจะขยับขับเคลื่อนงานใดให้เกิดผลในระยะยาวจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือกันหลายส่วน

เรื่องราวการเดินทางสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ของ “โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์” เป็นเพียงเส้นทางหนึ่งที่ทุกคนสามารถถอดบทเรียนไปใช้ได้ ทว่าก็ต้องปรับใช้ตามบริบทความท้าทายและแตกต่างของแต่ละโรงเรียน

เช่นเดียวกับผืนป่าที่มีระบบนิเวศและเวลาของการเติบโตงดงามตามธรรมชาติแตกต่างกันไป

Your email address will not be published.