Korkankru

การศึกษาไทย ดินแดนนิเวศการเรียนรู้ โรงเรียนปล่อยแสง

ไม่มี one size fits all สำหรับการพัฒนาการศึกษาไทย จากเลนส์นักกระบวนกร
กับการพัฒนาโมเดลต้นแบบโรงเรียนปล่อยแสง2 min read

Reading Time: 2 minutes มาเข้าใจเบื้องหลังการออกแบบโครงการโรงเรียนปล่อยแสงปีที่ 3 กับการค้นหาปัญหาเฉพาะที่ซ่อนอยู่ในแต่ละโรงเรียน เพื่อนำเครื่องมือที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมาช่วยพัฒนาครูและโรงเรียน ให้สามารถก้าวต่อไปด้วยตนเองอย่างยั่งยืน Sep 5, 2024 2 min

ไม่มี one size fits all สำหรับการพัฒนาการศึกษาไทย จากเลนส์นักกระบวนกร
กับการพัฒนาโมเดลต้นแบบโรงเรียนปล่อยแสง2 min read

Reading Time: 2 minutes

ลองจินตนาการถึงระบบการศึกษาไทยที่เปิดกว้างและมีหลักสูตรการสอนหลากหลาย ผลผลิตที่ได้คงจะงดงามเหมือนดอกไม้หลากสี และประเทศไทยคงมีบุคลากรงอกงามในหลากหลายเส้นทางและความสามารถ แต่ในความจริงโรงเรียนและบุคลากรทั้งครูและนักเรียน มักต้องเดินบนเส้นทางที่ถูกตีกรอบไว้ทางเดียว จนไม่อาจจินตนาการถึงทุ่งดอกไม้ที่เต็มไปด้วยสีสัน

เมื่อโครงการโรงเรียนปล่อยแสงที่มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของครูและนิเวศการเรียนรู้ในทั้งหกโรงเรียนมาต่อเนื่องถึงปีที่ 3 จึงอยากเห็นโมเดลที่พัฒนาต่อไปให้แต่ละโรงเรียนงอกงามในแบบเฉพาะของตนเอง 

“เป็นไปได้ไหมที่โครงการโรงเรียนปล่อยแสงจะสร้างโมเดลต้นแบบที่ช่วยพัฒนานิเวศการเรียนรู้ เรามีหกโรงเรียน ก็จะมีหกโมเดลต้นแบบที่ตอบโจทย์ต่างกัน อันนี้คือเป้าหมายระยะยาวโครงการ”

“เกด”-ธุวรักษ์ ปัญญางาม ผู้ก่อตั้ง Insights for Change หนึ่งในกระบวนกรที่เข้ามาช่วยโครงการโรงเรียนปล่อยแสง บอกเล่าถึงการออกแบบกระบวนการในปีที่ 3 

น่าสนใจว่าการออกแบบที่ตอบโจทย์เฉพาะของแต่ละโรงเรียนนั้น ต้องผ่านขั้นตอนอย่างไรบ้าง และผลลัพธ์สุดท้ายนั้นจะเป็นอย่างที่โครงการฯ คิดและคาดหวังไว้หรือเปล่า

เครื่องมือเข้าถึงปัญหาที่แท้จริง

“เรามีเป้าหมายค่อนข้างชัดคืออยากได้โมเดลและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เราจึงใช้ Design Thinking บวกกับ System Thinking เข้ามาช่วยสร้างต้นแบบ” 

เกดเล่าว่าขั้นตอนแรกคือการหาว่าโจทย์ที่โรงเรียนอยากแก้ไขจริงๆ โดยการเข้าไปพูดคุยกับครูเพื่อค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ธารน้ำแข็ง

“เราเข้าไปสร้างการมีส่วนร่วมกับคุณครู เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดไม่ใหญ่มาก มีคุณครู 20-30 คน  ช่วยกันหาว่าโจทย์ของเขา ความท้าทายของเขา ปัญหาและอุปสรรคที่เขาเจอตอนนี้จริง ๆ คืออะไร โดยเปิดโอกาสให้ครูแต่ละคนได้มีส่วนร่วม ได้พูด ได้แบ่งปัน แล้วเราก็จัดกลุ่มปัญหา และสะท้อนให้เขารู้ว่าตอนนี้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นบ้างในโรงเรียน  จากนั้นก็สร้างโจทย์ที่ท้าทายให้โรงเรียนเลือกบนข้อมูลที่เขามี”

ปัญหาที่พบมีทั้งเรื่องเด็ก ครู ความสัมพันธ์ หรือระบบการทำงาน 

“โดยธรรมชาติครูจะอยากรีบไปแก้ปัญหาของเด็กก่อน แต่บางครั้งปัญหาของครูในโรงเรียนเอง เช่น ความสัมพันธ์ของคุณครู หรือการทำงานเป็นทีมของครู กลับเป็นปัญหาที่น่าจะแก้ไขก่อน  เพราะถ้าเราจัดการตรงนี้ให้ดี ประสิทธิภาพการทำงานของครูกับเด็กจะดีขึ้นมาก เพราะมีทีมเวิร์กที่ดี ช่วยกันสอนและช่วยกันออกแบบ”

เกดเล่าว่ามีบางโรงเรียนเห็นอีกโรงเรียนทำปัญหาเรื่องเด็กก็อยากทำด้วย แต่จริง ๆ โรงเรียนนี้ทำเรื่องเด็กได้ดีอยู่แล้ว โครงการฯ จึงแนะนำให้มองปัญหาการบริหารจัดการในโรงเรียนที่น่าจะช่วยสร้างรากฐานให้โรงเรียนเข้มแข็งขึ้นมากกว่า

ยกตัวอย่างในกระบวนการทำความเข้าใจปัญหาของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง เกดเล่าว่าครูเห็นปัญหาภาระงานครูที่เยอะกว่าความรับผิดชอบหลัก ซึ่งเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งที่ไม่ว่ามองมาจากมุมไหน 

“เราเริ่มชวนครูมาคุยโดยผ่านกระบวนการโค้ช การตั้งคำถาม ทำการบ้านกลับไปกลับมา ค้นหาข้อมูล ให้ครูไปสัมภาษณ์ครูด้วยกันเอง หรือตั้งวงคุยกันบนโจทย์ที่เราอยากหาคำตอบ เช่นเรื่องภาระงานที่เยอะ เราจะตั้งคำถามว่าเยอะจริงหรือเปล่า แค่ไหนที่เรียกว่าเยอะ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเยอะจริงไหม แบบไหนที่คนในทีมรู้สึกว่ามากเกินไปแล้ว หรือแค่นี้คือเยอะแต่ยังจัดการได้อยู่  

“เราจะให้การบ้านคุณครูไปคุยและหาข้อมูล ไม่อย่างนั้นจะเป็นแค่การคุยกันด้วยอารมณ์และความรู้สึก”

หลังผ่านกระบวนการช่วยกันสำรวจและขุดลึกลงไปให้เห็นปัญหาที่ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้น แต่ละโรงเรียนก็ได้ประเด็นที่ต้องทำมาแตกต่างกัน ซึ่งทางโครงการฯ ก็หวังว่าเมื่อถึงปลายท้ายแล้วจะนำไปสู่ต้นแบบของทั้งหกโมเดล

พลังจากความมุ่งมั่น 

การทำงานกับโจทย์จริง ๆ ของโรงเรียนที่ครูต้องเผชิญกับความเจ็บปวด เป็นพลังขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาที่ครูต้องการไปถึงเป้าหมายให้สำเร็จ

“สิ่งนี้เป็นพลังขับเคลื่อนโครงการ” เกดมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากของทั้งหกโรงเรียนที่มีความแตกต่างในแบบของตนเอง นับว่าเป็นความสำเร็จของการขับเคลื่อนในโครงการโรงเรียนปล่อยแสงปีที่ 3 

เกดยกตัวอย่างของโรงเรียนสุจิปุลิว่า

“โรงเรียนสุจิปุลิมาด้วยโจทย์ที่ยากแล้วก็อยากทำสองเรื่องพร้อมกัน คือ เรื่องเด็กเฉย และอีกฝั่งคือคุณครูและผู้ปกครองที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ก็เลยเอาเครื่องมือจิตวิทยาเชิงบวกเข้ามาใช้กับเด็กโดยตรง และอีกส่วนหนึ่งก็ต้องให้ความรู้กับครูและผู้ปกครองด้วย ทุกคนจะได้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน”

“เรามองว่าเป็นความบ้าพลังของคุณครู (หัวเราะ) ต้องการจะทำพร้อมกันหมดเลย ทั้งเด็ก ครู และผู้ปกครอง ซึ่งครูแกนนำมีความมุ่งมั่นและตั้งใจมาก ๆ เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงพร้อมกัน เราก็บอกว่าได้ ลองดูกัน”

ผลปรากฏว่ามีครูจำนวนหนึ่งนำจิตวิทยาเชิงบวกไปประยุกต์ใช้กับเด็กในแต่ละชั้นเรียน เช่น การเช็กอินตอนเช้า หรือเช็กเอาต์ตอนเย็น 

“สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือเด็กมองเห็น Character Strengths หรือจุดแข็งของตัวเองและเพื่อนมากขึ้น เขาสามารถสะท้อนได้ว่าเห็นอะไรในตัวเพื่อน  สิ่งน่าประทับใจมากกว่านั้นคือเขาสามารถสะท้อนจุดแข็งของเพื่อนที่ไม่สนิทด้วย”

ไม่เพียงเด็ก ๆ ทางผู้ปกครองที่มาเข้าร่วมก็นำไปใช้ที่บ้านด้วยเช่นกัน เกิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ ของผู้ปกครองที่ใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการทำงานกับลูก มีการถามคำถามและสะท้อนความคิดแต่ละวันหลังเลิกเรียน

“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ในตัวครูที่นำเครื่องมือไปใช้  แต่ก่อนครูแต่ละคนอาจรับมือกับเด็กคนละวิธี แต่พอมีเครื่องมือและครูได้คุยกันมากขึ้น ก็สามารถขับเคลื่อนไปในทางเดียวกันมากขึ้น”

สิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านเลนส์นักกระบวนกร

ขณะที่โลกธุรกิจมีวิธีจัดการระบบซับซ้อนให้เข้าใจง่าย เข้าถึงได้รวดเร็ว และลดทรัพยากรให้เหมาะสมกับการใช้งาน นักกระบวนกรอย่างเกดที่มีประสบการณ์จากโลกธุรกิจ เมื่อได้มาสัมผัสกับครูในระบบการศึกษาภายใต้โครงสร้างแบบราชการก็เห็นถึงความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“สิ่งที่ประหลาดใจคือ โครงสร้างโรงเรียนที่มีกฎระเบียบตายตัวมาก ก็ลืมคำว่าประสิทธิภาพไปเลย คือบางอย่างทำเพราะต้องทำ งานสอนก็ต้องทำ รายงานก็ต้องส่ง

“เราไปโค้ชที่โรงเรียน ให้เขาจัดลำดับว่าอันไหนสำคัญ อันไหนเร่งด่วน อันไหนไม่ค่อยสำคัญและไม่เร่งด่วน ผลคือทั้งตารางมีแต่เรื่องสำคัญและเร่งด่วนหมดเลย  น่าประหลาดใจมากว่าตัดอะไรไม่ได้จริง ๆ เหรอ ทำให้เรารู้ว่าในโลกของระบบโรงเรียนหรือระบบการศึกษายังมีช่องว่างที่ต้องพัฒนา เพื่อช่วยให้ครูทำงานง่ายขึ้น แล้วเอาเวลาไปใช้กับเด็กมากขึ้น”

เกดเห็นว่าถ้านำวิธีการคิดและองค์ความรู้บางอย่างจากภาคธุรกิจ มาให้โรงเรียนจะช่วยได้มาก

“อย่าง scrum board ก็คือบอร์ดที่เราใช้ง่าย ๆ แบบ to do, doing, done มีอะไร ใครทำอยู่ ซึ่งภาคธุรกิจใช้กันมานานมาก แต่ในโรงเรียนไม่มี เขามีแต่ตารางวันที่แล้วก็ขีดไทม์ไลน์ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครมาดูอีกเลย”

ความเป็นมนุษย์ในตัวครู เป็นอีกสิ่งที่คนจากภาคธุรกิจอย่างเธอได้เห็นและเข้าใจมากขึ้น

“อีกอย่างหนึ่งที่เราได้เรียนรู้มากขึ้น คือความเป็นมนุษย์ในตัวครู  บางครั้งจากมุมของคนที่เป็นนักเรียน หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง เราอาจมองว่าครูมีหน้าที่สอนเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ในกระบวนการที่เราลงไปค้นหาปัญหา ทำให้เราเห็นว่ามีแง่มุมภายในของครูเยอะมาก ครูก็มีความรู้สึก กลัวผิดพลาด ลังเลใจ และไม่มั่นใจเหมือนคนอื่น ๆ  

“เราจะช่วยให้ครูมีเครื่องมือ มีความมั่นใจ ตามโลกได้ทัน และทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร  นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนช่วยสนับสนุนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทผู้ปกครอง ผู้บริหาร ถ้าเราเข้าอกเข้าใจในความเป็นมนุษย์ของคุณครู”

เป้าหมายคือความยั่งยืน

แม้ความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สิ่งใหม่จะเป็นเป้าหมายสำคัญของโครงการโรงเรียนปล่อยแสงในปีที่ 3 แต่เหนือกว่านั้นก็คือความยั่งยืนของโรงเรียนเอง

“เราอยากเห็นความยั่งยืน คือถ้าโครงการฯ เดินออกมาจากโรงเรียนแล้ว โรงเรียนยังคงทำสิ่งนี้อยู่และทำได้โดยไม่ต้องมีเรา  เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเครื่องมือที่ให้กระบวนการคิดและการมองปัญหา อย่างการชวนตั้งคำถามว่าถ้าทำสิ่งนี้แล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจริงหรือเปล่า หรือมีวิธีอื่นที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกไหม”

เกดเล่าว่าได้ยินเสียงที่ครูสะท้อนถึงสิ่งที่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการฯ เช่นได้ความรู้ ได้ชุดเครื่องมือ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่อยากเห็นครูสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง 

แล้วผลลัพธ์ต้นแบบจากหกโรงเรียนจะนำไปขยายต่อกับโรงเรียนอื่น ๆ ได้ไหม

“นี่เป็นนวัตกรรมเล็ก ๆ ที่เราได้ทดลองในโรงเรียน ถ้าได้ผลเราสามารถขยายไปยังโรงเรียนอื่นได้ด้วย เพราะแม้จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ก็อาจมีโรงเรียนอื่นที่เจอปัญหาคล้ายกันและมีบริบทคล้ายกัน ซึ่งอาจนำไปทำตามได้”

แต่สำคัญคือผู้บริหารต้องมีความสนใจจริง ๆ และมีทีมคุณครูที่เป็นแกนนำ เพราะหากเริ่มต้นจากคำสั่ง และคนในโรงเรียนไม่มีความรู้สึกร่วมด้วย 

“แบบนี้คงไม่ได้ผล โรงเรียนต้องพร้อมจะสร้างสิ่งนี้ในโรงเรียนด้วยตัวเอง

“เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะได้ผล คือหาจากโจทย์ของโรงเรียนจริง ๆ จากนั้นนำโมเดลที่ใกล้เคียงมาประยุกต์ใช้ ด้วยแนวความคิดที่ว่า เรามีอะไรอยู่และขาดอะไร ถึงจะทำแบบเขาได้ในบริบทที่ใกล้เคียงกัน”

หากเราเข้าใจว่าโรงเรียนแต่ละโรงเรียนก็เหมือนต้นไม้หนึ่งต้นที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง โมเดลหกแบบของโรงเรียนในโครงการโรงเรียนปล่อยแสงที่ร่วมกันพัฒนาขึ้น ก็อาจเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งในระบบการศึกษาของไทยที่มีโรงเรียนนับพันนับหมื่น  แต่เราก็หวังว่าจากต้นไม้ไม่กี่ต้นนี้ที่ได้เริ่มงอกงามในแบบของตัวเอง จะสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป และมากกว่านั้นคือการส่งต่อความยั่งยืนให้ต้นไม้อื่น ๆ  

เพื่อที่สุดแล้ว เด็ก ๆ ของเราจะได้ผลิบานเป็นดอกไม้หลากสีในระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาและเรียนรู้

Your email address will not be published.