การคัดเลือก ‘รอบพอร์ต’ กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น1 min read
——————————————————————————————————————–
Highlight :
- พอร์ตฟอลิโอ (Portfolio) เป็นเครื่องมือสะท้อนเส้นทางการเรียนรู้ ความสนใจผ่านกิจกรรมที่เข้าร่วม ความโดดเด่นและความเป็นเลิศของนักเรียน เพื่อพิจารณาด้านอื่น ๆ นอกเหนือการสอบวัดผล
- เกิดเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ในระบบการคัดเลือก เพราะความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ต้องอาศัยการสนับสนุนทั้งเวลา ทุนทรัพย์ จากครอบครัวอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ “ธุรกิจการปั้นพอร์ต” เพื่อเป็นผลงานประกอบการเข้าเรียน
- ประตูสู่การศึกษาบานใหญ่กลายเป็นด่านคัดกรอง ตรวจสอบความพร้อม ที่พิจารณาเพียงความสามารถ หลงลืมปัจจัยอื่น ๆ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่นักเรียนทุกคนต่างเริ่มต้นและมีไม่เท่ากัน
——————————————————————————————————————–
การคัดเลือก ‘รอบพอร์ต’ กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
“อยากติดรอบพอร์ต (Portfolio) ให้อุ่นใจ แต่ผลงานยังน้อย ทำยังไงได้บ้าง?”
“ชี้เป้า มัดรวมกิจกรรมเก็บลง Portfolio !!”
“เทคนิคการใส่กิจกรรมและะผลงานใน Portfolio ให้โดนใจกรรมการ !!”
เมื่อกล่าวถึงระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบัน คำว่า ‘Portfolio’ หรือ ‘แฟ้มสะสมผลงาน’ อาจเป็นหนึ่งในคำสำคัญที่หลายคนอาจเคยได้ยินนักเรียน ผู้ปกครอง หรือสถาบันติวเตอร์ต่าง ๆ มักพูดถึง ซึ่งความสำคัญของ ‘พอร์ต’ ถูกให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการนำเสนอประสบการณ์และศักยภาพของนักเรียน เพื่อให้คณะฯ หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ใช้พิจารณาคัดเลือกนักเรียนในการรับเข้าศึกษาต่อ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อประเด็นที่จะนำเสนอในบทความนี้ ผู้เขียนขอให้ภาพเบื้องต้นของระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยที่ใช้ในปัจจุบัน
ที่มาของการคัดเลือกนักเรียนผ่าน ‘รอบพอร์ต (Portfolio)’ อย่างเป็นระบบ เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาที่ชื่อว่า ‘ระบบ TCAS’ หรือ Thai University Center Admission System ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และระบบดังกล่าวมีการคัดเลือกเป็น 5 รอบ ดังนี้
- รอบที่ 1 คัดเลือกจากแฟ้มสะสมผลงาน หรือ Portfolio ของนักเรียน โดยไม่มีการสอบข้อเขียน เน้นพิจารณาผลงาน ความสามารถ หรือความโดดเด่นของบุคคลเป็นหลัก ตามสัดส่วนที่คณะฯ หรือมหาวิทยาลัยต้องการ
- รอบที่ 2 รอบโควตาพื้นที่หรือโครงการพิเศษ โดยมหาวิทยาลัยกำหนดและสามารถจัดสอบเองได้ หรือนำคะแนนจาก สทศ. มาใช้ประกอบการคัดเลือก เช่น 9 วิชาสามัญ หรือ GAT/PAT
- รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน โดยที่ ทปอ. หรือระบบ TCAS จะเป็นส่วนกลางในการรับสมัครและมหาวิทยาลัยจะพิจารณาผลการคัดเลือก โดยผู้สมัครสามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา โดยไม่มีการเลือกอันดับ
- รอบที่ 4 Admission โดยใช้ทั้งคะแนน GPAX, O-NET, GAT/PAT หรือคะแนนอื่นๆที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด ซึ่งผู้สมัครสามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชาโดยมีการเลือกลำดับที่ต้องการ
- รอบที่ 5 การรับตรงแบบอิสระ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดขึ้นเองหรือการสอบวิชาเฉพาะ และส่งผลการคัดเลือกให้ทาง ทปอ.
ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการชี้ให้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาในรอบพอร์ต (Portfolio) ผ่านประเด็นสำคัญ ได้แก่ การตีความแนวคิดการคัดเลือกรอบดังกล่าว และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
การตีความแนวคิดของการคัดเลือก ‘รอบพอร์ต’
แนวคิดสำคัญของการพิจารณานักเรียนในรอบ portfolio ถูกออกแบบภายใต้แนวคิดการให้ความสำคัญถึงความสามารถหรือความโดดเด่นของนักเรียน มากกว่าการมุ่งพิจารณานักเรียนจากผลสอบ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีการตีความแนวคิดดังกล่าวแตกต่างกัน และส่งผลให้เกิดปัญหาจากการตีความดังกล่าว ซึ่งในส่วนนี้เป็นการนำเสนอจากมุมมองของผู้เขียน ที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่ระดับอุมดศึกษา
- Portfolio คือ เครื่องมือสะท้อนเส้นทางการเรียนรู้ของนักเรียน
การตีความในมิติแรกถึงความสำคัญและประโยชน์ของ Portfolio ถูกมองในฐานะเครื่องมือสะท้อนเส้นทางการเรียนรู้หรือความสนใจของนักเรียน กล่าวคือ การพิจารณาคัดเลือกนักเรียนในรอบพอร์ตส่งผลดีต่อนักเรียนในการนำเสนอถึงความสนใจของตน สะท้อนผ่านประสบการณ์ กิจกรรมที่พวกเขาได้ทำ หรือได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งเหล่านั้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของกิจกรรมนอกเวลา หรือโปรเจคการเรียนรู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาหรือหลักสูตรของโรงเรียน ซึ่งบางโรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมปลายได้ทำโครงการหรือการค้นคว้าตามหัวข้อที่ตนสนใจ
หากว่าการทำพอร์ตเป็นไปในลักษณะดังกล่าว จะทำให้คณะฯ หรือมหาวิทยาลัยส่วนรับเข้าหรือคัดเลือก ได้เห็นถึงเส้นทางการเรียนรู้และความสนใจของนักเรียน ประการสำคัญ คือ การเห็นถึงความสามารถในการสะท้อนตนเองผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นของนักเรียน ในแง่นี้จะทำให้สามารถพิจารณาได้ว่าการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของคณะฯ เหล่านั้น จะช่วยต่อยอดหรือพัฒนาความสนใจของนักเรียนต่อไปได้อย่างไร
- Portfolio คือ เครื่องมือสะท้อนความโดดเด่นและความเป็นเลิศของนักเรียน
การตีความในมิติที่สอง การทำ portfolio ถูกเข้าใจว่า เป็นเครื่องมือในการแสดงความสามารถหรือความโดดเด่นของนักเรียน ผ่านการใช้รางวัลหรือใบประกาศเกียรติต่างๆ เป็นตัวช่วยในการการันตี ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองจำนวนมากมุ่งเข้าสู่เวทีของการประกวดและแข่งขันความสามารถในด้านต่างๆ เพื่อหวังจะได้รับการการันตีความสามารถเหล่านั้น
หากว่าการประกวดและแข่งขันเป็นไปตามความสนใจของนักเรียน และถูกดำเนินการภายใต้ความรู้สึกต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของตน ในแง่นี้การประกวดหรือการแข่งขันอาจเป็นแนวทางหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความสนใจและหลงใหลต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างจริงจัง
ในทางกลับกัน หลายครั้งพบว่า การประกวดและแข่งขันถูกทำภายใต้ความกดดันและความคาดหวังที่นักเรียนได้รับทั้งจากตนเอง ผู้ปกครอง หรือครู เพื่อหวังว่าจะนำมาซึ่งรางวัลและการประกาศเกียรติต่างๆ ในการยืนยันถึงความสำเร็จ (ทั้งความสำเร็จของตัวนักเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง) ในแง่นี้ กิจกรรมดังกล่าวจะกลายเป็นหลุมพรางที่ผลักให้นักเรียนต้องแบกรับความกดดัน ความคาดหวัง และไม่ได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ที่ควรเกิดขึ้นจากกิจกรรมอย่างแท้จริง
- Portfolio คือ เครื่องมือแสดงความสนใจผ่านกิจกรรมที่เข้าร่วม
เมื่อการคัดเลือกนักเรียนรอบพอร์ต ดูเหมือนว่าต้องการช้อนนักเรียนที่มีความสามารถโดดเด่นเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นกลุ่มแรก ขณะเดียวกันยังมีนักเรียนจำนวนมากที่ต้องการได้รับการคัดเลือกในรอบดังกล่าวเช่นกัน ทว่า ความโดดเด่นของพวกเขาอาจไม่มากพอที่จะดึงดูดคณะกรรมการ ทำให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยมุ่งเข้าสู่หนทางอีกด้าน คือ การเน้นนำเสนอตนเองผ่าน ‘กิจกรรมที่เข้าร่วม’ เพื่อหวังว่ากิจกรรมเหล่านั้นจะช่วยแสดงให้เห็นถึงความสนใจที่ตนมี นำมาสู่การมองหาวิธีการหรือพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาได้รับผลงานหรือการการันตีบางอย่าง เพื่อนำมาใช้ในการสร้างผลงานในพอร์ตของตน
ช่องว่างดังกล่าวนำมาสู่การเกิดขึ้นของ ‘ธุรกิจการปั้นพอร์ต’ ที่มีการโฆษณาถึงการดำเนินการหรือการทำกิจกรรมเพื่อเสริมทักษะบางอย่าง ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้รับผลงานไปใช้ประกอบในพอร์ตของตน โดยลักษณะของธุรกิจจะมีการจัดค่ายพัฒนาศักยภาพ จำนวน 2 – 3 วัน ในพื้นที่ของรีสอร์ทหรือโรงแรมตามที่ผู้จัดกำหนด และมีการทำกิจกรรมในหน่วยงานต่างๆ เช่น การทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การทำกิจกรรมเสริมทักษะผู้นำ หรือการทำกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นมัดรวมในระหว่างค่าย โดยนักเรียนจะได้รับใบประกาศนียบัตรและ portfolio ฉบับสมบูรณ์ 1 เล่ม จากการเข้าร่วมค่ายดังกล่าว ทั้งนี้ มีการเก็บค่าธรรมเนียมไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท หรือไปจนถึงหลักหมื่นบาท (อัตราสูงสุดที่ผู้เขียนพบอยู่ที่ 25,000 บาท)
นอกจากนี้พบว่า ผู้ให้บริการบางรายได้มีการแอบอ้างในการโฆษณาชวนเชื่อโดยใช้ชื่อของอาจารย์ หรือคณะฯ จากมหาวิทยาลัยบางแห่ง มาใช้กล่าวอ้างในฐานะผู้จัดกิจกรรมร่วม ทำให้ค่ายหรือกิจกรรมเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือและดึงดูดให้นักเรียนที่มีความสนใจต่อคณะฯ หรือมหาวิทยาลัยนั้นๆ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
การคัดเลือก ‘รอบพอร์ต’ กับปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
กว่า 6 ปี กับการคัดเลือกนักเรียนผ่านระบบ TCAS โดยเฉพาะการคัดเลือกในรอบพอร์ต แม้ยังไม่พบงานศึกษาอย่างเป็นระบบในการถกเถียงถึงข้อดีหรือข้อเสียของระบบดังกล่าว ทว่า เสียงสะท้อนหนึ่งที่พบคือ การเกิดขึ้นของระบบ TCAS เป็นการถ่างให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกิดมากขึ้น ซึ่งจากหัวข้อก่อนหน้า ไม่ว่าการตีความแนวคิดของการคัดเลือกรอบพอร์ตจะเป็นไปในรูปแบบใด สิ่งที่พบคือ โอกาสในการสร้างความโดดเด่นและความเป็นเลิศที่ไม่เท่ากันของนักเรียน
ในการรับนักเรียนรอบพอร์ต หลายคณะฯ และมหาวิทยาลัยต่างมุ่งมองหานักเรียนที่มีความโดดเด่น ความเป็นเลิศ หรือมีความสามารถขั้นสูง เช่น หากนักเรียนยื่นพอร์ตเข้าคณะฯ ที่พิจารณาจากความสามารถเฉพาะบุคคล รางวัลจากการประกวดและแข่งขันในระดับประเทศหรือระดับนานาชาติ จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงถึงความสามารถของนักเรียน ขณะเดียวกัน หากคณะฯ ต้องการมองหานักเรียนที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ การมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือนานาชาติ ก็เป็นหนทางที่จะช่วยยืนยันถึงความเป็นเลิศดังกล่าว
ในแง่นี้ การเกิดขึ้นของความเป็นเลิศของนักเรียนต้องอาศัยการสนับสนุนจากครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เวลาและทุนทรัพย์เป็นต้นทุนสำคัญที่นักเรียนกลุ่มนี้ต้องมีความพร้อมในระดับหนึ่ง รวมถึงการเกิดขึ้นของธุรกิจการปั้นพอร์ต หรือการเข้าร่วมค่ายกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นช่องทางหนึ่งให้นักเรียนได้เข้าไปเพื่อสร้างผลงานหรือแสดงถึงความสนใจของตน ล้วนมีต้นทุนทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
คำถาม คือ ความเป็นเลิศของนักเรียนที่ถูกคาดหวัง มักเป็นทักษะหรือความสามารถซึ่งเกินกว่าที่พวกเขาได้รับหรือเรียนรู้ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ?
และระบบหรือหลักสูตรในโรงเรียน (ทั่วไป) เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้เวลาในการค้นคว้าตามที่ตนสนใจมากน้อยเพียงใด ?
ดังนั้น การแข่งขันโดยใช้ความสนใจและความเป็นเลิศเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกนักเรียน ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการพิจารณาถึงความสามารถของผู้เรียนโดยตรงด้วยตัวของมันเอง ทว่า เป็นการพิจารณาถึง ‘ต้นทุน’ ที่นักเรียนเหล่านั้นมี ซึ่งถูกใช้ในฐานะสิ่งซึ่งช่วยบ่มเพาะให้เกิดความเป็นเลิศเหล่านั้น ในแง่นี้ นักเรียนที่ไม่มีต้นทุนดังกล่าวไม่อาจเข้าถึงระบบการแข่งขันได้ตั้งแต่แรก ?
กลับมาพิจารณาอีกครั้ง
หากว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษาถูกใ่ห้ความสำคัญในฐานะประตูสู่โอกาส ที่จะช่วยให้บุคคลได้พัฒนาศักยภาพของตน หรือนำไปสู่โอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต ทว่า ระบบการคัดเลือกเพื่อให้บุคคลได้มีโอกาสเข้าสู่มหาวิทยาลัยกลับเป็นด่านสำคัญในการตรวจสอบความพร้อมของนักเรียน
การตรวจสอบดังกล่าว ไม่เพียงพิจารณาถึงความสามารถเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยสำคัญ คือ ทุนในด้านต่างๆ ซึ่งกลายเป็นตะแกรงในการกรองนักเรียนในอีกชั้น ผ่านระบบที่นักเรียนต้องผ่านด่านเป็นรอบๆ โดยที่หากจำนวนรอบในการคัดเลือกยิ่งมีมากเท่าไร ยิ่งหมายถึงการใช้ทุนจำนวนมากของนักเรียนในการพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาในรอบนั้นๆ
นำมาสู่คำถามว่า การเข้าถึงระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นภารกิจสำคัญที่บุคคลจำเป็นต้องขวนขวายและแลกมาด้วยความสามารถหรือความรู้นั้นยังเพียงพอหรือไม่? หรือทุนในด้านอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยที่ถูกนำมาใช้ในการคัดเลือกบุคคลด้วยเช่นกัน?
เรียบเรียงโดย กัญณัฐ กองรอด
ภาพโดย Manita