ปัญญาภายใน บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 22 min read
ปัญญาภายใน บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 2 กล่าวถึงการฝึกการสื่อสารอย่างสันติ 3 ขั้น ต่อเนื่องจาก ตอนที่ 1 ได้แก่ การสื่อสารสองทางอย่างมีศิลปะ, ฝึกการสื่อสารสองทางตามแนวทางของการสื่อสารอย่างสันติ และ การตั้งคำถามเพื่อการโค้ชด้วย แผนผัง U Coaching
การสื่อสารสองทางอย่างมีศิลปะ
ต่อจากเรียนรู้เรื่องการค้นหาหัวใจหรือเข้าใจเสียงหมาป่าในตัวเองว่าภายใต้คำพูดที่แสดงความรุนแรงออกไป มาจากความปรารถนาหรือความต้องการอะไร คือการแปลเสียงหมาป่าหรือเสียงของการตัดสิน ตำหนิของตนเองและผู้อื่น ให้เป็นเสียงของการเข้าใจความรู้สึกและความต้องการหรือเสียงยีราฟ แล้วสื่อสารออกไปเป็นคำพูดที่มุ่งสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การหาทางออกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
กระบวนกรสาธิตวิธีการสื่อสารโดยยกเหตุการณ์ความขัดแย้งในชีวิตของตนเองมาเป็นตัวอย่าง แล้วค้นหาเสียงหมาป่าของตัวเองว่าคืออะไร เกิดมาจากความรู้สึกและความต้องการอะไร
เมื่อพบแล้วจึงพิจารณาทางเลือกการตอบสนองตาม 3 แนวทางของต้นไม้การสื่อสารอย่างสันติ คือ
1. เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง
2. ฟังและทวนความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น
3. สื่อสารกับคู่กรณี
กรณีที่เลือกจะสื่อสารออกไปหลังจากเข้าใจตัวเองและผู้อื่นแล้ว ยังจะต้องกลับมาเช็คเจตนาของตนเองก่อนจะไปสื่อสาร 4 เรื่องว่าเป็นเจตนาของหมาป่า คือ อยากระบาย ตำหนิกล่าวโทษ ยึดมุมมองและความถูกต้องของตัวเอง และจะทำตามที่ตัวเองต้องการ หรือเป็นเจตนายีราฟ คือ อยากรับรู้ความรู้สึก สร้างความเข้าใจร่วมกัน ใส่ใจมุมมองและความต้องการของอีกฝ่าย และสร้างทางเลือกที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ
เมื่อมั่นใจว่ามีเจตนายีราฟแล้ว จะต้องใช้การสื่อสารแบบยีราฟ 4 องค์ประกอบ สองเรื่องแรกคือรับรู้ความรู้สึกและความต้องการที่เรียนไปแล้วในการอบรมสองสัปดาห์แรก องค์ประกอบต่อมาคือการสื่อสารออกไปอย่างเป็นข้อสังเกต คือการพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจากการมองเห็น/ได้ยินโดยปราศจากการตัดสิน/ตีความของผู้พูด เปรียบคล้ายการบันทึกภาพและเสียงด้วยกล้องวิดีโอ
กระบวนกรยกตัวอย่างภาพหรือคำอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทดลองสื่อสารแบบข้อสังเกตและตีความ เช่น “จากการแข่งขันเทนนิส 9 นัดเขาแพ้ไปแล้ว 8 นัด” หรือ “ผมสังเกตเห็นคุณส่งงานช้ากว่าที่ได้กำหนดกันไว้เป็นประจำ” แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
ก่อนจะให้แต่ละคนลองทบทวนและหยิบยกเรื่องราวในชีวิตจริงกับคนใกล้ตัวที่มีระดับความกวนใจ 6-8 จาก 10 แล้วเขียนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นประโยคสังเกตกับตีความ ก่อนจะแบ่งกลุ่มย่อย 3 คน เพื่อช่วยกันวิเคราะห์ว่าสิ่งที่แต่ละคนเขียนเป็นข้อสังเกตและตีความจริงหรือยัง ก่อนจะกลับมาสรุปเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงใหญ่
ก่อนจะต่อไปยังการเรียนรู้เรื่องการร้องขอ อันเป็นองค์ประกอบสุดท้ายของการสื่อสารอย่างสันติ โดยกระบวนกรให้โจทย์ผู้เข้าร่วมอบรมแบ่งปันวิธีการสื่อสารให้เพื่อนร่วมงานทำงานบางอย่างในวงใหญ่ ก่อนจะสรุปเข้าสู่หลักการร้องขอหรือการสื่อสารด้วยภาษายีราฟ ได้แก่ การเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง แล้วจึงร้องขอออกไปอย่างชัดเจน โดยรับฟังมุมมองและข้อจำกัดของอีกฝ่าย เพื่อสร้างทางเลือกที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ
คำร้องขอที่มีประสิทธิภาพ
1. มีความชัดเจน เฉพาะเจาะจง (ร้องขอให้ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ เพื่ออะไร)
2. เป็นสิ่งที่ทำได้จริง มีเลือกให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และ
3. ใช้ประโยคบอกเล่า (ไม่พูดเชิงปฏิเสธ เช่น อย่า ห้าม หยุด)
หลังจากนั้น กระบวนกรยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่ง แล้วให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนฝึกเขียนคำร้องขอเพื่อให้เพื่อนเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันในวงใหญ่ โดยกระบวนกรสาธิตการสื่อสารแบบหมาป่าและยีราฟในเหตุการณ์เดียวกันเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่มฝึก 3 คนในระหว่างสัปดาห์ ก่อนจะกลับมาพบกันในการอบรมคราวถัดไป
ฝึกการสื่อสารสองทางตามแนวทางของการสื่อสารอย่างสันติ
การอบรม “ผู้นำร่วมสร้างสุข” ครั้งที่ 5 เริ่มด้วยการสะท้อนการฝึกร้องขอที่ผู้เข้าร่วมได้ไปฝึกกับเพื่อนในกลุ่มย่อยระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมาในวงใหญ่ ทำให้เห็นว่า การร้องขอเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ไม่สามารถกระโจนเข้าไปร้องขอได้ในทันที แต่ต้องเริ่มด้วยทำความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการ และคำนึงถึงระยะของความสัมพันธ์ว่าใกล้ไกลเพียงใด มีบางคนทดลองก้าวข้ามความกลัวของตัวเองไปร้องขอกับผู้ใหญ่ในที่ทำงาน ซึ่งทำให้รู้สึกโล่งใจและเกิดกำลังใจที่ได้ส่งเสียงของตัวเองออกไป เพราะผู้ใหญ่แสดงท่าทีว่ารับฟังเสียงที่ตนเองสื่อออกไปด้วย บางคนเกิดความตระหนักถึงการดูแลรับผิดชอบความต้องการของตัวเองและการให้ทางเลือกกับคนอื่น หรือในบางกรณีการสื่อสารความรู้สึกที่แท้จริงออกไป ช่วยทำให้ผู้ฟังเขาใจได้ดีกว่าการยกเหตุผลมาอธิบาย
ต่อด้วยการนำทักษะย่อยต่างๆ ที่เรียน มาประกอบกันเพื่อฝึกการสื่อสารสองทางตามแนวทางของการสื่อสารอย่างสันติ เรียกว่า การเดินต้นไม้ 7 ขั้นตอน โดยกระบวนกรยกเหตุการณ์จริงในชีวิตของตนเองมาสาธิตการฝึก เริ่มจาก 1. การเช็คเจตนาของตัวเองว่าเป็นเจตนาหมาป่าหรือยีราฟ (ดูสรุปการอบรมครั้งที่ 4 ประกอบ) 2. ตามด้วยการเคาะประตู หาเวลาที่เหมาะสมในการพูดคุย 3. พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นข้อสังเกต ไม่ด่วนตัดสิน 4. รับฟังและทวนความรู้สึกและความต้องการของอีกฝ่ายจนเข้าใจเขาจริงๆ 5. บอกความรู้สึก ความต้องการของเราและสิ่งที่เราต้องการร้องขอ 6. สอบถามความคิดเห็นเพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และสุดท้ายเมื่อจบการสนทนาแล้ว 7. กลับมาเช็คความสัมพันธ์เพื่อดูแลความรู้สึกหลังการสนทนา
หลังจากนั้น จึงแบ่งกลุ่มย่อย 3 คนฝึกการสื่อสารแบบสองทาง แล้วกลับมาสะท้อนร่วมกันในวงใหญ่ หลายคนพบว่าขั้นตอนที่ยากสุดคือ การเคลียร์เจตนาให้เป็นยีราฟที่บริสุทธิ์จริงๆ เพราะถ้ายังมีเจตนาหมาป่าซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว จะแสดงออกมาในระหว่างการสื่อสาร และไม่นำไปสู่ผลที่ต้องการ การให้เวลาเพื่อเข้าใจความรู้สึกและความต้องการตัวเองให้ถ่องแท้ก่อนการพูดคุยจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาจใช้วิธีการระบายให้กับตัวเองหรือหาเพื่อนมาช่วยรับฟังและให้ความเข้าใจ รวมถึงเตรียมความเข้าใจกับคู่กรณีไว้ล่วงหน้าด้วย เพื่อช่วยให้สามารถรับฟังเขาได้มากขึ้น
ปิดท้ายด้วยการมอบภารกิจให้ไปฝึกสื่อสารกับคู่กรณีในชีวิตจริง
การตั้งคำถามเพื่อการโค้ชด้วย แผนผัง U Coaching
หลังจากเรียนรู้องค์ประกอบต่างๆ ของการสื่อสารอย่างสันติ ตลอดจนนำมาใช้ในการสื่อสารสองทางแล้ว การอบรมครั้งสุดท้าย เป็นการต่อยอดไปสู่เรื่องการโค้ชชิ่ง โดยฝึกฝนพื้นฐานสำคัญคือ การตั้งคำถามเพื่อการโค้ช ค้นหาความรู้สึก ความต้องการ และสิ่งที่คู่สนทนาให้คุณค่าก่อนจะนำไปสู่การหาทางออก ทางเลือก การลงมือทำ และการสนับสนุน ตามแผนผัง U Coaching
เริ่มจากตำแหน่งตัว U ขาลง คือ การเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคู่สนทนา หรือ Empathy แล้วนำเขาออกจากอารมณ์ลบมาสู่พลังชีวิตที่งดงามของตัวเอง เรียกว่า Empower ก่อนจะเคลื่อนไปสู่ภาพอนาคตที่คู่สนทนาอยากจะเห็น แล้วขยายภาพดังกล่าวไปสู่การกระทำ คือ Expand และปิดท้ายด้วยการสนับสนุนให้เขาลงมือทำจริงกล่าวโดยสรุป หลักการโค้ชจะการมุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคลมากกว่าปัญหา การตั้งคำถามจึงไม่ควรวนเวียนอยู่กับเรื่องราวที่เป็นปัญหามากจนเกินไป แต่มุ่งไปที่การค้นหาความรู้สึกและความต้องการของผู้เล่า ซึ่งแผนผัง U Coaching จะช่วยให้โค้ชตั้งคำถามอย่างมีทิศทาง โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังและใช้ในการวัดผลหลังการโค้ช คือ หนึ่ง ผู้รับการโค้ชเกิดความเข้าใจปัญหา ความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง สอง มีพลังที่จะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง และสาม รู้ว่าจะต้องลงมือทำอะไร
หลังจากเรียนรู้เรื่องหลักการตั้งคำถามแล้ว กระบวนกรยกเหตุการณ์ในชีวิตจริงของตัวเองมาเล่าหนึ่งเรื่อง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมช่วยกันตั้งคำถามผู้เล่าตามแผนผัง U Coaching 10 ข้อ แล้วถาม-ตอบ แลกเปลี่ยนกันไปทีละคำถามในวงใหญ่ ก่อนจะแบ่งกลุ่มย่อยฝึกการตั้งคำถาม แล้วกลับมาสรุปและแลกเปลี่ยนในวงใหญ่ พบว่าช่วยให้หลายคนเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง เกิดพลัง และรู้ว่าจะต้องทำอะไร
ปิดท้ายด้วยการให้ผู้เข้าร่วมทุกคนสะท้อนภาพรวมของความรู้สึกและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอบรมผู้นำร่วมสร้างสุขทั้ง 6 ครั้ง มีหลายคนพูดตรงกันว่า การอบรมแบบพบตัวจริงๆ 3 วัน มีข้อดีที่ช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมมีความคุ้นเคยและไว้วางใจกันได้เร็ว จนก่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย พร้อมจะเล่าเรื่องราวที่อยู่ในใจออกมาเพื่อเป็นตัวอย่างในการฝึกฝน เมื่อนำมาผนวกกับการอบรมออนไลน์อย่างต่อเนื่องและมีการมอบภารกิจให้กลับไปทำทุกครั้ง ทำให้มีการฝึกฝนกับเพื่อนๆ อย่างต่อเนื่องจนเกิดความเข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้งกว่าการอบรมแบบรวดเดียวจบ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้ฝึกฝนต่อเมื่อจบการอบรมแล้ว เพราะขาดชุมชนที่คอยติดตามเกื้อหนุนอย่างต่อเนื่อง การจัดอบรมแบบพบตัวจริงและแบบออนไลน์ผสมผสานกันในเงื่อนไขที่เหมาะสม ทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ในการสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพกว่าการจัดอบรมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว
ติดตามเนื้อหาก่อนได้ที่ ปัญญาภายใน : บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 1
บันทึกเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำแห่งอนาคต : ผู้นำร่วมสร้างสุข
(Leadership for Collective Happiness – LCH)
โมดูล 2 ปัญญาภายใน : บ่มเพาะศักยภาพผู้นำ ตอนที่ 2
ระหว่างวันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม และ 6,13 มิถุนายน 2563 บนโปรแกรม ZOOM
เวลา 13.00 – 16.00 น. กระบวนกรโดย ณัฐฬส วังวิญญู และทีมจากสถาบันขวัญแผ่นดิน