รายงานการสังเคราะห์โครงการวิจัยมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย1 min read
รายงานการสังเคราะห์ภาพรวมมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย มีเป้าหมายที่จะสังเคราะห์ข้อค้นพบจากชุดโครงการวิจัยการสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการทางศึกษาในสังคมไทย 5 โครงการ ที่ประกอบด้วย “ทักษะแห่งศตวรรษที่21” “เพศ” “ความเสมอภาคทางการศึกษา” “ความสำเร็จของผู้เรียน” และ “การจัดการในชั้นเรียนและการลงโทษ” โดยมุ่งเน้นไปที่การสำรวจชุดความคิด ความเชื่อ และคุณค่าที่ประกอบสร้างขึ้นเป็นมายาคติทางการศึกษาในด้านต่างๆ ที่ส่งอิทธิพลต่อการกำกับและควบคุมความคิด ความรู้สึก ตลอดจนพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศการศึกษา รวมทั้งศึกษาประสบการณ์และความคิดเห็นของนักเรียนและครูอาจารย์ที่มีต่อประเด็นทางการศึกษาในด้านต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นถึงความซับซ้อนของการยึดถือหรือการต่อต้านวาทกรรมต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของปัจเจกบุคคลทั้งทางตรงและทางอ้อม
การสังเคราะห์ข้อค้นพบจากงานวิจัยทั้ง 5 โครงการใช้วิธีการประมวลและวิเคราะห์วิธีคิดเบื้องหลัง หรือมายาคติที่ดำรงอยู่และครอบงำสังคมไทย โดยเน้นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของอิทธิพลและผลกระทบของมายาคติทางการศึกษาตั้งแต่ระดับมหภาค (macro) ซึ่งหมายถึงนโยบายของรัฐ และการนำเสนอของสื่อในด้านต่างๆ ไปจนถึงระดับจุลภาค (micro) ซึ่งหมายถึง ผู้เรียน ผู้สอน และผู้เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ เพื่อพิจารณาว่า อะไรคือปัจจัยร่วมที่หล่อเลี้ยงให้มายาคติเหล่านั้น ยังคงดำรงอยู่และส่งอิทธิพลอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน
จากการสังเคราะห์ข้อค้นพบในงานวิจัยทั้ง 5 โครงการพบว่า นอกเหนือจากมายาคติแต่ละเรื่องที่งานวิจัยแต่ละโครงการได้นำเสนอแล้วนั้น ยังมีชุดของมายาคติในสังคมไทยที่กำกับวิธีคิดเกี่ยวกับครู นักเรียน โรงเรียน และระบบการศึกษาในภาพรวม ซึ่งทำงานสอดประสานเป็นข่ายใยที่เชื่อมโยงคุณค่าความเชื่อต่อเรื่องการศึกษาของคนในสังคม และส่งผลต่อวิธีคิดที่เกี่ยวข้องกับครู นักเรียน โรงเรียน และระบบการศึกษาในภาพรวม โดยมายาคติทั้ง 4 ด้านสะท้อนให้เห็นถึงระบบอุปถัมภ์ และระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติซึ่งเป็นระบบคุณค่าความเชื่อที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย และส่งอิทธิพลต่อวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของคนไทยมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะในระบบนิเวศทางการศึกษา
ข้อค้นพบที่ได้จากการสังเคราะห์ภาพรวมมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทยดังกล่าวนี้สามารถช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาเกิดความตระหนักต่อชุดวิธีคิดและวิถีปฏิบัติที่แพร่หลายสืบต่อกันมาในสังคม โดยปราศจากการตั้งคำถามว่าใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งอาจสร้างปัญหาในด้านต่างๆ แก่ผู้เรียนและครูอาจารย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อจะนำไปสู่การร่วมกันสร้างสังคมแห่งวิถีสุขภาวะทางปัญญาต่อไป