Korkankru

learning tools ก่อการครู บทความ / บทสัมภาษณ์ บัวหลวงก่อการครู

ห้องเรียนเวทมนตร์ ออกแบบห้องเรียนให้สนุกด้วยเกมการเรียนรู้1 min read

Reading Time: 2 minutes นี่คือโจทย์แรกของการเป็นครู สำหรับ ธนพัฒน์ พิมพ์พรพิรมย์ หรือ ‘ครูน็อต’ ครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษา โรงเรียนบ้านนาดีสร้างบง จังหวัดอุดรธานี เสกเวทมนตร์ใส่ห้องเรียนให้มีบรรยากาศแห่งความสนุกสนานและไม่เครียด ด้วยการจัดห้องเรียนแบบ Active Learning ซึ่งพยายามเพิ่มกิจกรรมหรือเกมให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วม พร้อม ๆ กับการสอดแทรกความรู้ หัวใจของเกมนี้คือ การหาจุดเด่นของโรงเรียนตนเองให้เจอ  Aug 22, 2023 2 min

ห้องเรียนเวทมนตร์ ออกแบบห้องเรียนให้สนุกด้วยเกมการเรียนรู้1 min read

Reading Time: 2 minutes

“ตอนแรกที่เริ่มสอนวิชาภาษอังกฤษ เด็ก ๆ ไม่ค่อยกล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกเลย” 

นี่คือโจทย์แรกของการเป็นครู สำหรับ ธนพัฒน์ พิมพ์พรพิรมย์ หรือ ‘ครูน็อต’ ครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษา โรงเรียนบ้านนาดีสร้างบง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเล่าย้อนกลับไปในช่วงที่เขาได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วยใหม่ ๆ เมื่อ 2 ปีก่อน

“สิ่งที่เราเรียนจากมหาวิทยาลัยกับการทำงานจริงค่อนข้างแตกต่างกัน เราสอนอะไรในห้องเรียนก็ไม่ค่อยเกิดผล กระทั่งได้เข้าร่วมโครงการบัวหลวงก่อการครู ทำให้เราได้พัฒนาการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เดี๋ยวนี้พอนักเรียนเห็นครูพูดภาษาอังกฤษ เขาก็เริ่มที่จะกล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น พอนักเรียนตอบสนองการเรียนการสอนได้ดี มีความสุข เขาก็อยากมาโรงเรียน”

สำหรับครูน็อต การเปลี่ยนสถานะจากนักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัยในเมือง สู่การเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนชนบท คือการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างจะหักมุม ด้วยความไม่รู้จักบริบทพื้นที่ของโรงเรียนและนักเรียน ทำให้ยากต่อการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน การเข้าร่วมโครงการ ‘บัวหลวงก่อการครู’ จึงเสมือนการเพิ่มเครื่องมือ ทักษะ และแนวทางการปรับใช้สิ่งที่เรียนรู้มาสู่การทำงานจริง

“สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมการอบรมแต่ละโมดูล ทำให้เราสามารถปรับการเรียนการสอนในห้องเรียนของโรงเรียนเราได้ดีขึ้น การอบรมก่อการครูจึงเหมือนเป็นการรื้อฟื้นสิ่งที่เราเรียนรู้มาและวิธีการปรับใช้ในการทำงานจริง”

ห้องเรียนเวทมนตร์ ค้นหาและสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็ก

ครูธนพัฒน์ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับ ‘ครูแกนนำ’ อีกหลายคน พวกเขาลงความเห็นว่า การเข้าร่วมอบรมกับโครงการบัวหลวงก่อการครู ทำให้รู้จักเครื่องมือที่จะช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า ‘เกมการเรียนรู้’ หรือ️การจัดการเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐาน (Game-Based Learning: GBL)

“ตอนนี้ครูหลายคนสอนนักเรียนโดยใช้เกมเป็นฐาน แล้วนักเรียนก็ชอบมาก”

ครูน็อตเสกเวทมนตร์ใส่ห้องเรียนให้มีบรรยากาศแห่งความสนุกสนานและไม่เครียด ด้วยการจัดห้องเรียนแบบ Active Learning ซึ่งพยายามเพิ่มกิจกรรมหรือเกมให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วม พร้อม ๆ กับการสอดแทรกความรู้ หัวใจของเกมนี้คือ การหาจุดเด่นของโรงเรียนตนเองให้เจอ 

โรงเรียนบ้านนาดีสร้างบง ต้นสังกัดของครูน็อต มีต้นกล้วยเยอะ นั่นจึงเป็นที่มาของการหยิบจับส่วนประกอบต่าง ๆ ของกล้วย ทั้งต้น ผล และใบตอง มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในวิชา ครูน็อตเล่าว่า เมื่อร่ายเวทมนตร์ให้ต้นกล้วยกลายเป็นตำราเรียน บรรดานักเรียนที่เคยเบื่อหน่ายกับการเรียนก็ให้การตอบรับ และเข้ามามีส่วนร่วมในห้องเรียนมากขึ้น

“เราเห็นผลลัพธ์ในห้องเรียนว่า นักเรียนมีความสุขมากขึ้น จากที่เคยมีคนบอกว่าไม่อยากมาโรงเรียน เพราะน่าเบื่อ ตอนนี้เสียงเหล่านั้นหายไป กลายเป็นมีแต่คนอยากมาโรงเรียน”

เมื่อโจทย์เรื่องความเบื่อหน่ายถูกคลี่คลาย ครูผู้สอนภาษาอังกฤษก็ต้องหาทางแก้โจทย์ต่อไป นั่นคือ ความกล้าแสดงออก แม้ใครต่อใครจะปรามาสว่า เด็กไทยเขินอายเกินกว่าจะพูดหรือใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างแคล่วคล่อง โดยเฉพาะเด็กชนบท แต่ครูน็อตกลับมองว่า หากทำให้เด็กเห็นว่าภาษาอังกฤษใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันมากเพียงไร พวกเขาก็จะกล้าใช้งานมันได้อย่างไม่ขัดเขิน

ดังนั้น ห้องเรียนภาษาอังกฤษของโรงเรียนบ้านนาดีสร้างบงจึงระดมทุกสื่อการสอนมาให้เด็กเรียนภาษา ตั้งแต่หนัง ซีรีส์ และเพลง 

“วิชาภาษาอังกฤษมีสื่อให้เลือกใช้มากมาย ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่สอนในแต่ละวัน บางวันใช้ยูทูบ ดูหนัง ฟังเพลง บางวันเราอาจจะเล่นบอร์ดเกมกับเด็ก”

ครูน็อตอธิบายว่า เวทมนตร์ของเขาคือการสร้างแรงจูงใจให้แก่เด็ก เริ่มจากการช่วยเด็กค้นหาความสนใจของตนว่าอยากจะเป็นอะไรในอนาคต เด็กบางคนอาจจะทราบความต้องการของตนเองแล้ว แต่เด็กส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรแน่ และนั่นก็เป็นหน้าที่ของครูและโรงเรียนที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนเด็กให้เติบโตได้ตามศักภาพที่พวกเขามี

“ตอนนี้เด็กในโรงเรียนอยากเป็นครูมากที่สุด อีกอย่างคือนักกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล หรือบางกลุ่มก็จะเป็นสายติสท์ไปเลย เช่น เกมเมอร์ ยูทูบเบอร์ ทางโรงเรียนก็จะส่งเสริมเด็กทุกทาง เช่น เราเคยจัดแข่งขันเกม ROV ให้เด็ก เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความสามารถแตกต่างกันออกไป ผู้อำนวยการโรงเรียนก็สนับสนุนเต็มที่”

ก้าวข้ามอุปสรรค ทำความรู้จักและส่งเสริมเด็กทุกคน

ครูน็อตเห็นว่า แนวคิด ‘พหุปัญญา’ เป็นสิ่งสำคัญในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย โดยแนวคิดนี้มองว่า ทุกคนมีสติปัญญาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ดนตรี ตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ มิติสัมพันธ์ การควบคุมและเคลื่อนไหวร่างกาย มนุษยสัมพันธ์ ความเข้าใจตัวเอง ความเข้าใจธรรมชาติ ตลอดจนการดำรงชีวิต ซึ่งสติปัญญาแต่ละด้านของแต่ละคนมีความโดดเด่นไม่เหมือนกัน บ้างโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่ง บ้างผสมผสานจนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะตัว

นั่นหมายความว่า เด็กแต่ละคนมีความเก่งต่างกัน และเก่งกันคนละเรื่อง ตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งทำคะแนนวิชาภาษาอังกฤษไม่ได้เลย โรงเรียนจึงพยายามส่งเสริมความสามารถด้านอื่น ๆ ที่เขาถนัด ผ่านการจัดกิจกรรมหลายอย่าง เช่น กีฬา โดยให้เด็กได้เลือกสิ่งที่เขาถนัด ไม่มีการบังคับหรือกดดันว่าเด็กจะต้องทำให้ได้

“เรามองว่า พหุปัญญามีความสำคัญที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน และช่วยให้เด็กที่ไม่เก่งในด้านหนึ่งมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของเขาในด้านอื่น ๆ”

หนึ่งในเคล็ด (ที่ไม่) ลับของครูน็อตคือ การเยี่ยมบ้านนักเรียน เขาอธิบายว่า การรู้จักภูมิหลังและบริบทครอบครัวของเด็กแต่ละคนมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งจะช่วยให้ครูแสวงหาวิธีการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้เด็กแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่วิธีการบังคับหรือขู่เข็ญแบบเก่า ๆ 

นอกจากนี้ การใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการกระตุ้นพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ก็เป็นส่วนที่สำคัญ เพื่อให้เขาสามารถมองเห็นทางเลือกของตัวเอง

“สำหรับเด็กที่มีความพร้อม เราก็สนับสนุนให้เขาไปต่อได้ไกลกว่านี้ คือเราจะไม่ทิ้งเด็กรายคน เราจะส่งเสริมทั้งเด็กที่เก่งและพัฒนาเด็กที่ไม่เก่งให้มีศักยภาพตามที่เขาถนัด”

กระทั่งครูก็ต้องการจิตวิทยาเชิงบวก

“บางครั้งก็มีช่วงเวลาที่ไฟในการทำงานเริ่มมอดด้วยภาระงานจากทางระบบที่กลืนคนทำงานเข้าไป”

สำหรับครูน็อตเองก็ต้องการแรงบันดาลใจในการทำงาน ไม่ต่างจากที่เด็กต้องการแรงจูงใจในการเรียน ยิ่งเมื่อสภาพการทำงานในปัจจุบันเรียกร้องเวลาจากครูสูงมาก ทั้งงานราชการ งานเอกสาร หรืองานอื่น ๆ ที่มักจะเบียดบังเวลาในการสอนหนังสือ 

“อาชีพครูก็เป็นแบบนี้แหละ” พ่อของครูน็อตที่เป็นอดีตราชการครูเหมือนกันเคยสอนเอาไว้ แต่สิ่งเหล่านี้ขัดแย้งกับความคิดครูหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่อยากจะสอนนักเรียนให้ได้ความรู้ จนครูน็อตเกือบจะหมดไฟในการทำงานไปแล้ว กระทั่งได้เข้าร่วมอบรมกับก่อการครู

“พอเราได้ไปอบรมก่อการครู ได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน ทำให้เรามีไฟในการทำงานมากขึ้น” 

ที่สำคัญ ครูน็อตอยากจะส่งต่อเครื่องมือเวทมนตร์อันแสนวิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเกมการเรียนรู้ Active Learning หรือการสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็ก ได้อยู่ในมือของเพื่อนครูคนอื่น ๆ ด้วย ในฐานะวิธีการใหม่ ๆ ที่จะช่วยพัฒนาตนเองให้เป็นครูที่ดีและเข้าใจเด็กมากขึ้น

Your email address will not be published.