โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง : สร้าง “นิเวศการเรียนรู้” สู่ห้องเรียนที่มีความสุขและมีความหมาย5 min read
หากต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ต้องเริ่มต้นที่ใคร?
คำตอบแรกที่ขึ้นมาในหัวของแต่ละท่านอาจแตกต่างกัน บ้างอาจตอบว่าต้องเริ่มต้นที่ครู บ้างอาจตอบว่าคงต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงจากระบบก่อน ทุกท่านอาจลองเก็บคำตอบนั้นไว้ในใจ เพราะในบทความนี้จะพาไปชมนิทรรศการจากโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง ณ งาน บัวหลวงก่อการครู: เวทีเบิ่งแงงการศึกษาอุดรบ้านเฮา จ.อุดรธานี ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566
นิทรรศการสะท้อนเสียงของ “ผู้ร่วมพัฒนาการศึกษา” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการพัฒนาโดยใครคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงการพัฒนา “นิเวศการเรียนรู้” ซึ่งเป็นการพัฒนาการศึกษาให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ องค์ประกอบใดบ้างที่มีผลต่อการสร้างการเรียนรู้ “ที่มีความสุขและมีความหมาย” ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันผ่านการทำความรู้จัก “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” พร้อมทั้งบุคลากรและผู้ร่วมสนับสนุนที่มีส่วนผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น
โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) เป็นแนวคิดที่มุ่งสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท มูลนิธิ องค์กร หรือสถาบันต่าง ๆ ที่สนับสนุนทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษา โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
- การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
- การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา
- การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการโรงเรียน
ในส่วนของโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์ และ โรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง เป็นโรงเรียนภายใต้โครงการความร่วมมือของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาโรงเรียน เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีการเรียนรู้ใหม่ให้กับการศึกษาไทย
การร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาระบบการศึกษา ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
เราทุกคนต่างมีความเกี่ยวข้องในการผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้นได้ ทุกองค์ประกอบล้วนสัมพันธ์กันเป็นระบบนิเวศ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับองค์ประกอบหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบอื่นไปด้วยความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ของระบบทั้งหมดจึงนำมาสู่การขับเคลื่อน “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” โดยคำนึงถึง “การพัฒนานิเวศการเรียนรู้ภายใต้บริบทชุมชน”
“การพัฒนานิเวศการเรียนรู้ภายใต้บริบทชุมชน” คือการกำหนดทิศทางการดำเนินโครงการในปีที่ 2- 3 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยสนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางภายใต้บริบทชุมชน จัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องไปกับความสัมพันธ์และบริบทแวดล้อมของโรงเรียนแต่ละแห่ง ซึ่งการดำเนินงานรูปแบบนี้เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างครู ผู้เรียน สถานศึกษา ครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น
เมื่อทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้าง “การเรียนรู้ที่มีความหมาย” ก็จะเกิดขึ้น ไม่ใช่มีความหมายกับผู้เรียนเท่านั้นแต่มีความหมายและมีคุณค่าต่อทุกคนที่ได้ร่วมกันผลักดัน สนับสนุน ทุกความสัมพันธ์ทั้งหมดที่อยู่รายล้อมล้วนสร้างพัฒนาการให้กับผู้เรียนได้ นอกจากนี้ภายในโครงการยังมีแนวทางการทำงานที่มุ่งยกระดับทั้งระบบโรงเรียน (School – based Approach) ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือไปยังระดับกระทรวง เขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และเครือข่ายโรงเรียนต่าง ๆ ในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นองคาพยพเพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้สู่ความยั่งยืน
เส้นทางกว่าจะมาถึงการเปลี่ยนแปลงในจุดนี้ได้ มีการเริ่มต้นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้างและผลลัพธ์เป็นอย่างไร
ภายในนิทรรศการนอกจากการเล่าที่มาและวิสัยทัศน์โครงการแล้ว ยังจัดแสดงผลงานนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งถือได้ว่าเป็นไฮไลท์สำคัญ ไม่ว่าใครก็ตามที่เดินผ่านล้วนให้ความสนใจ แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างทางกว่าจะมาเป็นผลงานนวัตกรรมทางการศึกษาต่าง ๆ ที่จัดแสดงอยู่นั้นก็น่าสนใจและสำคัญไม่แพ้กัน เส้นทางกว่าที่โรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์ และ โรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง จะมาถึงการเปลี่ยนแปลงในจุดนี้ได้ มีการเริ่มต้นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้างและผลลัพธ์เป็นอย่างไร เราลองไปฟังเสียงสะท้อนจากผู้เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านผู้อำนวยการโครงการและคณะทำงาน ซึ่งนำทีมโดย ผศ. ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ ผศ. ดร.ธิดา ทับพันธุ์ และ ผศ. ดร.กิตติ คงตุก จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมเสียงสะท้อนอีกด้านจากครูและผู้อำนวยการทั้ง 2 โรงเรียน
ภาพฝัน กับ โลกความเป็นจริง: เสียงสะท้อนจากคณะทำงาน
ผศ. ดร.ธิดา ทับพันธุ์ และ ผศ. ดร.กิตติ คงตุก เล่าถึงการเข้าไปเริ่มต้นทำโครงการไม่ใช่เข้าไปแล้วไปบอกว่า ต้องทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนี้สิ แต่ทีมของเราคือการทำงานร่วมกัน เพราะโครงการเริ่มต้นตั้งแต่การลงพื้นที่เพื่อสำรวจว่าภายในชุมชนมีฐานทุนอะไรบ้าง ทั้งทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรที่มีโดยมีจุดมุ่งหมายคือ ใช้ทุนเหล่านั้นเป็นจุดตั้งต้นในการเปลี่ยนแปลงห้องเรียน เชื่อมโยงเนื้อหาภายในห้องเรียนกับชีวิตจริงของผู้เรียน
นอกจากนั้นสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปคือ การพัฒนาครูและบุคลากร โดยส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนา ให้ครูใน “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” เข้าร่วมอบรมร่วมกับครูจาก “โครงการบัวหลวงก่อการครู” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์คือ พัฒนาศักยภาพครูเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการและเข้าร่วม Workshop พร้อมทั้งเรียนรู้เครื่องมือในการทำงาน ให้ครูสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงห้องเรียนของตนเองได้ ซึ่งสามารถเห็นได้จากกระบวนการขับเคลื่อนโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Timeline ที่จัดแสดงภายในนิทรรศการ
ประเด็นหนึ่งที่สำคัญในฐานะทีมงานที่ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับโรงเรียนคือ การเผชิญกับความท้าทายในมิติต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่ ทำให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย มีทั้งแรงสนับสนุนและแรงต้าน เห็นบริบทความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาระงานของครูที่นอกเหนือจากการสอน ความไม่ต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายของระบบผู้บริหาร ผศ. ดร.ธิดา ทับพันธุ์ กล่าวว่า
อีกความท้าทายจากมุมมองของ ผศ. ดร.กิตติ คงตุก คือ ทุกเครื่องมือไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่ (One Size Does Not Fit All) ทั้งโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์ และ โรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง มีบริบทที่แตกต่างกัน
เสียงที่อยากให้ได้ยินจากครูและผู้อำนวยการในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง
ในด้านของครูผู้ร่วมพัฒนาจากทั้ง 2 โรงเรียนใน “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการว่า การเรียนรู้เริ่มตั้งแต่ให้ครูได้เรียนรู้ตนเองมากขึ้น สร้างแรงบันดาลใจให้กลับมาย้อนคิดอีกครั้งว่าการเป็นครูของเราคืออะไร การเข้าร่วมอบรมหนึ่งครั้งทำให้ได้เครื่องมือกลับไปและคิดว่าจะนำไปปรับใช้กับเด็กได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐาน เช่น วิธีการสื่อสารกับผู้เรียน ควรใช้น้ำเสียง คำพูด หรือทำความเข้าใจผู้เรียนมากขึ้นได้อย่างไร และเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในห้องเรียน การใช้เกม ใช้กิจกรรม Active Learning และการใช้สื่อประกอบการเรียนรู้
นอกจากนี้ วราภรณ์ ไชยเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ภายในโรงเรียนจะจัดกิจกรรม Active Learning อยู่เสมอทั้งภายในชั้นเรียนและในรูปแบบรวมทั้งโรงเรียน เพื่อสร้างทักษะให้กับผู้เรียนผ่านการเล่น ในช่วงการระบาดของ Covid-19 ที่ผ่านมา โรงเรียนและครูมีการปรับตัว สร้างการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เนื่องจากชุมชนเป็นชุมชนเกษตรกรรมจึงจัดกิจกรรมการทำปุ๋ยชีวภาพและการปลูกผักในตะกร้า เพื่อให้ชุมชนมีพืชผักปลอดสารพิษกินภายในครัวเรือนจากเดิมที่เคยใช้ยาและสารเคมีในการปลูกผัก รวมถึงการแปรรูปฝรั่งเป็นชาใบฝรั่ง ทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นร่วมกันภายในชุมชนที่ยังคงดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบันและสามารถต่อยอดสู่การประกอบอาชีพต่อไป
เสียงสะท้อนจากอีกหนึ่งโรงเรียนใน “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” กานดา เหมือนพรรณราย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง กล่าวว่า ให้ความสำคัญกับการร่วมพัฒนาร่วมสร้างวิถีเรียนรู้ใหม่ โดยเข้าร่วมอบรมพร้อม ๆ กับคุณครูในโรงเรียน และเข้าอบรมในหลักสูตรการใช้นิเวศการเรียนรู้เพื่อจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน เมื่อผู้นำให้ความสำคัญย่อมเสริมพลังให้ครูกล้าเปลี่ยนแปลง ครูโรงเรียนบ้านบางหมากจึงได้ร่วมกับโครงการออกแบบการเรียนรู้โดยนำ “ลูกลำแพน” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีในชุมชนบางหมาก เข้ามาเชื่อมโยงกับการเรียนการสอน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ลบรอยเปื้อนแบบพกพาโดยใช้สารสกัดจากลูกลำแพน ภาพที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจึงเปลี่ยนแปลงไป
และในส่วนปาริชา ชูสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง กล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการว่านอกจากจะเป็นการจุดประกายความคิดครูแล้ว การมองผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้นเป็นการเริ่มต้นให้เด็กสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
ภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทั้ง 2 โรงเรียนในวันนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของ “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” ที่มุ่งเน้นสร้างนิเวศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น แต่เรื่องราวระหว่างทางนั้นสำคัญยิ่งกว่าเพราะจากเสียงสะท้อนของทุกคน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ผู้เรียน” เมื่อคุณครูปรับ ห้องเรียนเปลี่ยน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดคือ “ความสุขของผู้เรียน” เริ่มต้นจากครูสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ในโรงเรียนที่ดีขึ้น และขยับคำว่าห้องเรียนให้ไปได้ไกลกว่าห้องสี่เหลี่ยม นั่นคือการคืนพื้นที่การสร้างการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน สร้างเครือข่ายจากครอบครัวและคนในท้องถิ่นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน
ก้าวต่อไปของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง
การดำเนินการขั้นต่อไปของโครงการจึงเป็นการคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยทีมลงพื้นที่ของโครงการกล่าวว่า ความยั่งยืนที่อยากเห็นคือ ต่อให้โครงการถอนตัวออกมาแล้วแต่โรงเรียนจะยังสามารถใช้เครื่องมือเหล่านั้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนต่อไป และขยายผลสู่โรงเรียนรอบ ๆ เป็นเครือข่ายการเรียนรู้ที่แข็งแรงร่วมกัน อีกทั้งครูและผู้อำนวยการที่เข้าร่วมโครงการยังให้ความคิดเห็นว่า ความยั่งยืนในการพัฒนาการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ เมื่อสังคมให้โอกาสและให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่แค่พัฒนานักเรียนหรือครู แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาระดับโครงสร้างและนโยบายให้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อร่วมกันสร้างการเรียนรู้ พัฒนาอย่างเป็นองค์รวมและคืนครูให้กับห้องเรียนอย่างแท้จริง
ท้ายที่สุดนี้ “หากต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ต้องเริ่มต้นที่ใคร?” ทางโครงการขอฝากคำถามให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองตกตะกอนความคิดอีกครั้ง ส่วนเส้นทางของ “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” ยังคงก้าวเดินต่อไปทั้ง โรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์ และ โรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง พร้อมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาถึงตรงนี้เราไม่ได้เดินทางอย่างโดดเดี่ยว ยังมีภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาอีกมากมายที่มุ่งมั่นขับเคลื่อน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาของประเทศไทย
การเดินทางนี้คงไม่อาจสิ้นสุดลงอย่างง่าย ๆ ระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนนั้นยาวนาน ทว่าหากเราเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่วันนี้ ผลผลิตย่อมเติบโตผลิบานในวันหน้า พวกเราชาว “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” อยากให้ทุกท่านติดตามเส้นทางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และร่วมลงมือทำไปด้วยกัน เพื่อภาพของระบบการศึกษาในอนาคต “ที่มีความสุขและมีความหมาย” แด่พวกเราทุกคน
ติดตามผลงานของทั้ง 2 โรงเรียนที่จัดแสดงในงานได้ที่: https://www.facebook.com/PartnershipschoolTU/posts
/pfbid0nfArkt9bKEQKkPAcBz6t2irS59S186xgT7ZC3v4Qy4w5PogsVwLQU6KYGongTcnLl
Facebook โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง: https://www.facebook.com/PartnershipschoolTU