Korkankru

learning tools บัวหลวงก่อการครู

เนรมิตห้องเรียนสร้างสรรค์ ด้วยนิทานและกิจกรรมสร้างปฏิสัมพันธ์1 min read

Dec 21, 2023 2 min

เนรมิตห้องเรียนสร้างสรรค์ ด้วยนิทานและกิจกรรมสร้างปฏิสัมพันธ์1 min read

Reading Time: 2 minutes

‘นิทาน’ คือเรื่องราวเสริมสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ สามารถเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาสมองและสติปัญญา เนื่องจากขณะที่เด็กๆ ตั้งอกตั้งใจฟังนิทาน จะต้องใช้ทั้งความคิด จินตนาการ รวมไปถึงการใช้สมาธิจดจ่อ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กทั้งสิ้น

หนังสือนิทานสำหรับเด็กจำเป็นต้องมีการเล่าเรื่องที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และมีภาพประกอบโดดเด่น สิ่งที่หยิบจับมาเล่าอาจเป็นเรื่องใกล้ตัว การเล่าเรื่องต้องใช้คำน้อยแต่สื่อความหมายชัดเจน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยของเด็กอีกด้วย

เลือกนิทานให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงอายุ

ช่วงวัยที่มีพัฒนาการสูงสุดในชีวิตทุกด้านอยู่ในช่วงวัยแรกเกิดถึง 6 ปี หากได้รับการกระตุ้น ส่งเสริมให้ถูกทาง จะเกิดการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการอ่านหนังสือนิทานเป็นอีกวิธีที่ทำได้ง่ายในการกระตุ้นและเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก โดยมีวิธีเลือกนิทานให้เหมาะสมกับความสามารถในการรับรู้และความสนใจของเด็กแต่ละช่วงวัย ดังนี้

– ช่วงอายุ 1-2 ปี เป็นวัยกำลังเรียนรู้ ชอบสำรวจ สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองและสิ่งรอบตัวในระยะใกล้ๆ ไม่สามารถจดจ่อได้นานมาก จึงควรเลือกนิทานสั้นๆ ตัวอักษรน้อย ภาพประกอบโดดเด่น และสอดแทรกความรู้เรื่องสี รูปทรง พยัญชนะ เพื่อให้เกิดการจำ

– ช่วงอายุ 3-4 ปี เป็นวัยที่ชอบความสนุก ตื่นเต้น ช่างสงสัย ตื่นตัวที่จะพัฒนาทักษะหลายด้าน เริ่มสนใจคนหรือสิ่งอื่นที่อยู่ไกลออกไปจากตัวเอง สนใจสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ นิทานที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้จึงเป็นนิทานทั่วไป ภาพประกอบสวยงาม เนื้อหาอาจเป็นเรื่องการผจญภัยที่น่าตื่นเต้น เรื่องตลก หรือสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับกิจวัตรที่ดี นิสัยที่ต้องเรียนรู้ เช่น การแบ่งปัน การขอโทษ การขอบคุณ การช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ 

– ช่วงอายุ 5 ปี เด็กวัยนี้จะมีสมาธิที่ยาวนานขึ้น จดจ่อกับสิ่งที่ตัวเองสนใจได้มากขึ้น สามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันได้ มีความต้องการเรียนรู้โลกกว้าง และเด็กเริ่มรับรู้แล้วว่าตนเองต้อง ‘เรียนหนังสือ’ ถึงแม้จะเป็นการเรียนรู้ที่เน้นไปในรูปแบบของกิจกรรมก็ตาม เด็กวัยนี้มีความสนใจเฉพาะที่ชัดเจน เริ่มปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่ถูกใจ การเลือกหนังสือสำหรับเด็ก 5 ปี จึงต้องขึ้นอยู่กับความชอบ ความสนใจของเด็กเป็นหลัก และด้วยความสามารถในการคิดภาพตามได้ อาจเลือกนิทานปรัมปรา เทพนิยาย นิทานกริมส์ เพื่อฝึกความสามารถในการจินตนาการสร้างภาพเองได้

– ช่วงอายุ 6-7 ปี เป็นช่วงวัยที่กำลังเริ่มอ่านหนังสือเอง มีความเป็นตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ชอบที่จะมีเพื่อนเล่น หนังสือจึงไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือส่งเสริมและพัฒนาทักษะการอ่านเท่านั้น แต่ยังทำให้พวกเขารู้จักและเข้าใจผู้อื่นที่มีปัญหา จึงต้องไม่เลือกหนังสือที่ง่ายเกินไปสำหรับเด็กช่วงอายุนี้ เนื่องจากเด็กๆ สามารถเข้าใจเรื่องราวที่ซับซ้อนได้ประมาณหนึ่ง รวมถึงแยกแยะสิ่งดีและไม่ดีได้ในระดับหนึ่ง

กิจกรรมสร้างปฏิสัมพันธ์ประกอบการเล่านิทาน 

“ปกติเวลาที่ออกแบบสื่อ เมื่อเราเลือกแล้วว่าจะทำสื่อนิทาน เราก็ต้องมาออกแบบว่าระหว่างทางที่เด็กจะได้เรียนรู้จากนิทานนั้นจะมีรูปแบบอย่างไร จึงเป็นที่มาของกิจกรรมสร้างปฏิสัมพันธ์จากนิทานเรื่องนั้น หากไม่มีกิจกรรมก็จะกลายเป็นว่าเด็กได้เรียนรู้จากการอ่านเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเด็กจะได้ความรู้จากการอ่านมากน้อยเพียงใด แต่หากมีกิจกรรมเสริมก็จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้นได้” ผศ. ดร.ญาดา อรรถอนันต์ กล่าวในการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ การผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้ “โครงการบัวหลวงก่อการครู”

การคัดเลือกนิทานหรือสร้างสรรค์นิทานด้วยตนเอง เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ในห้องเรียน จำเป็นต้องคำนึงถึงการสอดแทรกเนื้อหาหลัก (Core Content) ในนิทาน เพื่อสอดแทรกสิ่งที่ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่นิทานต้องอาศัยการเรียนรู้ด้วยการอ่านเป็นหลัก จุดสำคัญในการใช้นิทานเป็นสื่อสร้างสรรค์ในห้องเรียนจึงอยู่ที่การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ไม่ใช่เพียงการอ่านอย่างเดียว แต่จะต้องมีกิจกรรมเข้ามาเสริม ถ้าสื่อทุกชนิดสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ได้ ก็จะกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจและอยู่กับสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างนิทานเรื่อง ‘The Very Hungry Caterpillar’ (หนอนผู้หิวกระหาย) เป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็กอนุบาล มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับวัฏจักรผีเสื้อ โดยมีเส้นเรื่องจากหนอนตัวหนึ่งที่หิวโหยจึงทานอาหารไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นดักแด้และกลายเป็นผีเสื้อในท้ายที่สุด เป็นสื่อที่ใช้ผ้าเป็นส่วนประกอบ และได้รับการต่อยอดมาเป็นสื่อมัลติมีเดียในภายหลังอีกด้วย 

ผู้สอนอาจสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเล่านิทานเรื่องนี้ด้วยการใช้อุปกรณ์ประกอบที่มีผิวสัมผัส (Texture) ที่แตกต่างกัน เช่น นิ่ม แข็ง ขรุขระ เป็นต้น เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสวัสดุเหล่านี้ได้

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการเลือกนิทานหรือออกแบบหนังสือนิทานให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุ เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการและความสนใจของเด็ก เนื่องจากรูปแบบการเล่านิทานและการสร้างกิจกรรมเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนนั้น ควรคำนึงและปรับเปลี่ยนไปตามระดับความยากง่ายของหนังสือนิทาน รวมถึงช่วงอายุของกลุ่มเป้าหมายด้วยเช่นกัน

อ้างอิง:

Your email address will not be published.