Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ บทความ / บทสัมภาษณ์

‘แผนการเรียนเฉพาะ’ ทางเลือกของการศึกษาไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ?1 min read

Reading Time: 2 minutes “แผนการเรียนเฉพาะทาง” การแบ่งสายการเรียนอิงจากคณะต่าง ๆ ในระดับอุดมศึกษาเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เพื่อมุ่งหวังแก้ปัญหา แต่กลับเป็นการจัดทำแผนการเรียนเฉพาะที่ยิ่งล็อกและบังคับให้นักเรียน ‘ต้องรีบ’ ที่จะรู้ว่าตนเองสนใจและถนัดสิ่งใด เพื่อกระโจนเข้าสู่การแบ่งศาสตร์และสายอาชีพที่เร็วมากขึ้น Jul 18, 2024 2 min

‘แผนการเรียนเฉพาะ’ ทางเลือกของการศึกษาไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ?1 min read

Reading Time: 2 minutes

highlight

  • การแบ่งสายการเรียน “วิทย์-ศิลป์” เกิดขึ้นในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2476 เพื่อรองรับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ไม่ยืดหยุ่นและสามารถตอบสนองต่อความต้องการในการค้นหาตนเอง 
  • “แผนการเรียนเฉพาะทาง” การแบ่งสายการเรียนอิงจากคณะต่าง ๆ ในระดับอุดมศึกษาเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เพื่อมุ่งหวังแก้ปัญหา แต่กลับเป็นการจัดทำแผนการเรียนเฉพาะที่ยิ่งล็อกและบังคับให้นักเรียน ‘ต้องรีบ’ ที่จะรู้ว่าตนเองสนใจและถนัดสิ่งใด เพื่อกระโจนเข้าสู่การแบ่งศาสตร์และสายอาชีพที่เร็วมากขึ้น 
  • Personalize Learning ไม่ใช่สายการเรียน (track) ที่หลากหลาย
  • ตัวอย่างการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้และค้นหาความสนใจ โดยไม่แบ่งสายการเรียนวิทย์ – ศิลป์ ตัวอย่างจากประเทศฟินแลนด์, ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา 

ระบบการศึกษาในระดับมัธยมของไทยมักอยู่บนฐานของการแบ่งและจัดกลุ่มผู้เรียน เช่น การแบ่งนักเรียนตามความสามารถโดยอาศัยเกรดเฉลี่ยเพื่อจัดห้องเรียน มากไปกว่านั้ัน เกรดเฉลี่ยยังเป็นตัวตัดสินสำคัญว่านักเรียนมีสิทธิเลือกที่จะเรียนในแผนการเรียนใดในระดับที่สูงขึ้น เช่น นักเรียนที่มีผลการเรียนสูงมักถูกจัดให้เรียนในสายการเรียนวิทย์-คณิต มากกว่าที่จะเรียนในสายศิลป์ภาษา แม้ว่านักเรียนจะมีสิทธิ์ในการเลือกแต่ค่านิยมของการเลือกห้องเรียนตามเกรดเฉลี่ยยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้เรียนตัดสินใจเลือกเรียนสายการเรียนต่างๆ มากกว่าที่จะเลือกเพราะความสนใจของตน

หากผู้เรียนคนหนึ่ง มีความสนใจที่จะเรียนทั้งภาษาและวิทยาศาสตร์ เป็นไปได้หรือไม่ที่เขาจะสามารถเลือกแผนการเรียนได้ด้วยตนเองในลักษณะของการไขว้แผนการเรียน เพื่อค้นหาความชอบและความถนัดของตนเองได้อย่างอิสระ ซึ่งดูเหมือนว่าหลักสูตรของโรงเรียนจำนวนมากยังคงไม่อนุญาตให้นักเรียนได้มีอำนาจในการตัดสินใจเช่นนั้น

แล้วเหตุใดโรงเรียนจำนวนมากยังคงยึดแบบแผนของการจัดการเรียนโดยการแบ่งแยกสายการเรียน? และวิธีการดังกล่าวยังคงตอบโจทย์ต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนหรือไม่ ?

การแบ่งสายการเรียน ม.ปลาย เพื่อตอบโจทย์การเข้ามหาวิทยาลัย

ที่มาของการแบ่งแยกสายวิทย์ – สายศิลป์ในระบบการศึกษาไทย ถูกอ้างอิงไปถึงแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2476 ที่ประกาศใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) โดยกำหนดแผนการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา (แบ่งเป็นสายสามัญ และวิสามัญ) มัธยมศึกษา (มัธยมปลายแบ่งป็นสายสามัญ-วิสามัญ) และอุดมศึกษา ซึ่งเหตุที่ต้องแยกการเรียนการสอนระดับมัธยมฯ ออกเป็นสายวิทยาศาสตร์ และสายศิลปศาสตร์ (สมัยนั้นเรียกว่า สายอักษรศาสตร์) ซึ่งเป็นไปเพื่อรองรับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา คล้ายการเติบโตของต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไป  (Pongpiphat Banchanont, 2563)

Group of diverse grads throwing caps up in the sky

ต่อมา การแยกสายการเรียนวิทย์และศิลป์ในระดับมัธยมปลาย มีการพัฒนาความเฉพาะมากขึ้น เช่น สายวิทย์, สายศิลป์-ภาษา, สายศิลป์-คำนวณ, สายศิลป์-ทั่วไป (เน้นเรียนวิชาไทย ภาษอังกฤษ และสังคม) 

อย่างไรก็ตาม เกิดข้อถกเถียงต่อการแบ่งแยกสายการเรียนดังกล่าว ถึงความไม่ยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียน ซึ่งกำลังอยู่ในวัยที่ต้องการค้นหาความถนัดและความชอบของตนเอง รวมถึงการสร้างค่านิยมของสังคมถึงความเชื่อว่า “เด็กเก่งต้องต้องเรียนสายวิทย์” และการมีแต้มต่อในการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ไปจนถึงการแบ่งสายการเรียนดังกล่าว อาจกลายเป็นข้อจำกัดในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หากนักเรียนพบว่าสายการเรียนของตนไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่ต้องการ

นำมาสู่ข้อเสนอให้โรงเรียนยกเลิกสายการเรียนมัธยมปลายที่แบ่งแยกศาสตร์การเรียน โดยอ้างอิงถึง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 พร้อมกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้แทนการแบ่งสายการเรียนแบบเดิม ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเกิดการถกเถียงอย่างมากในช่วง พ.ศ.2548 เมื่อคณะกรรมการการศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้หยิบยกแนวคิดการยกเลิกการแบ่งสายการเรียนมาพูดคุยอีกครั้ง และยังไม่ได้รับความสำเร็จแม้จะผ่านไปเกือบ 20 ปีก็ตาม (เพิ่งอ้าง, 2563)

สลายสายการเรียนวิทย์-ศิลป์ สู่ ‘แผนการเรียนเฉพาะ’ แนวโน้มใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน?

จากข้อถกเถียงต่างๆ ด้านการศึกษาในระดับมัธยมปลาย เช่น ความจำเป็นของการแบ่งสายการเรียนวิทย์-ศิลป์ การที่นักเรียนต้องเรียนในบางวิชาที่ดูไม่จำเป็น (ต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย) หรือการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกเรียนในสาขาวิชาที่ตนเองสนใจนอกเหนือจากวิชาที่โรงเรียนจัดให้ นำมาสู่แนวโน้มของโรงเรียนในการจัด ‘แผนการเรียนเฉพาะ’ หรือ ‘Track’ ที่มีความเฉพาะของรายวิชาลงไปจากสายการเรียนวิทย์และศิลป์ 

แผนการเรียนดังกล่าวมักอิงสาขาวิชามาจากคณะต่างๆ ในระดับอุดมศึกษา เช่น แผนแพทยศาสตร์และกลุ่มสาธารณสุขศาสตร์, แผนวิศวกรรมศาสตร์, แผนสถาปัตยกรรมศาสตร์, แผนบริหารธุรกิจ บัญชี เศรษฐศาสตร์, แผนสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์, แผนดนตรี-นิเทศศิลป์ เป็นต้น ซึ่งในบางโรงเรียนอาจมีแผนการเรียนที่มีความเฉพาะเช่นนี้มากกว่า 20 แผนการเรียน

สิ่งที่น่าชวนตั้งคำถามต่อ คือ การจัดแผนการเรียนเฉพาะดังกล่าวเป็นแนวทางที่ระบบการศึกษาไทยควรมุ่งไปจริงหรือ? และความหลากหลายของแผนการเรียนดังกล่าว คือตัวชี้วัดของความสามารถของโรงเรียนในการจัดการศึกษาตามความต้องการของนักเรียน? 

จากความต้องการในการแก้ปัญหาการแบ่งสายการเรียนที่ไม่ยืดหยุ่นกับนักเรียน และไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในการค้นหาตนเองได้ สู่การจัดทำแผนการเรียนเฉพาะที่ยิ่งล็อกและบังคับให้นักเรียน ‘ต้องรีบ’ ที่จะรู้ว่าตนเองสนใจและถนัดสิ่งใด เพื่อกระโจนเข้าสู่การแบ่งศาสตร์และสายอาชีพที่เร็วมากขึ้น 

แม้เสียงสะท้อนของนักเรียนบางคนอาจเห็นว่า การจัดแผนการเรียนที่มีความเฉพาะจะช่วยให้เขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจจริง และเป็นการทดลองว่าสิ่งนั้นคือความต้องการที่จะได้เรียนรู้ในระดับที่สูงต่อไป แต่คำถามคือ วิธีการดังกล่าวเปิดกว้างและยืดหยุ่นพอที่จะให้นักเรียนได้ค้นหาความสนใจจริงหรือไม่

Personalize Learining ที่ไม่เท่ากับ track ที่หลากหลาย

อาจมีข้อคำถามเกิดขึ้นว่า มันไม่ดีหรือที่นักเรียนแต่ละคนจะได้เรียนในสาขาวิชาเฉพาะตามที่ตนสนใจ? หรือ การมีแผนการเรียนเฉพาะที่หลากหลายจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน? ในที่นี้ พึงต้องเข้าใจก่อนว่า การมีแผนการเรียนเฉพาะจำนวนมาก ไม่ได้หมายความว่า การจัดการศึกษานั้นเป็นไปเพื่อมุ่งตอบโจทย์ ‘การเรียนรู้เฉพาะบุคคล’ หรือ ‘Personalize Learning’ 

แนวคิดของ Personalize learning  หรือ การเรียนรู้เฉพาะบุคคล หมายถึง แนวคิดที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญของผู้เรียนที่ต่างมีความสนใจและธรรมชาติการเรียนรู้ที่หลากหลายและแตกต่างกัน ดังนั้น วิธีการเรียนรู้ตามแนวคิดนี้จะให้ความสำคัญต่อเส้นทางการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นสำคัญ ในแง่นี้ ครูจึงมีหน้าที่ในการสนับสนุน ให้คำปรึกษาและคำแนะนำ เพื่อให้ผู้เรียนได้บรรลุสู่เป้าหมายการเรียนรู้ของตนเอง โดยใช้วิธีการวัดและประเมินผลเป็นรายบุคคลเพื่อแสดงให้เห็นความก้าวหน้าของนักเรียน มากกว่าที่จะมุ่งประเมินเพื่อเปรียบเทียบหรือแข่งขันกัน

Little girl artist painting picture in the park

เมื่อพิจารณาจากหลักการของ Personalize learning  แล้ว อาจต้องกลับไปทบทวนถึงวิธีการจัดการเรียนรู้ของแผนการเรียนเฉพาะ (Track) ว่ามีลักษณะอย่างไร 

หากโรงเรียนยังมุ่งจัดการเรียนในลักษณะที่นำมาตรฐาน/ตัวชี้วัดมาเป็นเกณฑ์หลักในการจัดการเรียนหรือประเมินผลผู้เรียน โดยไม่ได้สนใจต่อจังหวะการเรียนรู้หรือความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก ก็ไม่อาจพูดได้อย่างแน่ชัดว่า การจัดการเรียนรู้ดังกล่าว เป็นไปเพื่อตอบโจทย์ความต้องการส่วนบุคคลของผู้เรียน

หากไม่มีการแบ่งสายการเรียน ไม่มีการแผนการเรียนเฉพาะ การจัดการศึกษาจะไปทางไหนได้บ้าง 

นอกเหนือการแบ่งสายการเรียนดังในประเทศไทย การจัดการศึกษาในต่างประเทศเขาใช้วิธีการใดบ้าง?

The Matter (Piraporn Witoorut, 2563) ได้เสนอตัวอย่างประเทศที่จัดการศึกษาโดยไม่มีการแบ่งสายการเรียนวิทย์-ศิลป์ แต่ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้และค้นหาความสนใจของตนเอง ดังนี้

  • ฟินแลนด์ : ระบบการศึกษาที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้

การศึกษาในระดับมัธยมปลายในฟินแลนด์มีการแบ่งสายการเรียนได้แก่ สายสามัญ และสายวิชาชีพ ความน่าสนใจ คือ นักเรียนไม่จำเป็นที่จะถูกล็อกด้วยสายการเรียนไปตลอด 3 ปี หรือตลอดหลักสูตร แต่สามารถเลือกเรียนข้ามสายไปมา เพื่อเป็นการเรียนรู้ตามความสนใจได้

การจัดการศึกษาดังกล่าวอยู่บนฐานความเชื่อว่า การศึกษาจะต้องเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้มากที่สุด โดยการเรียนรู้นั้นได้รับอนุญาตให้ยืดหยุ่นและเป็นไปตามความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ

  • ออสเตรเลีย : เลือกเรียนวิชาตามที่ชอบ ไม่กำหนดกรอบการเรียนรู้

การศึกษาในระดับมัธยมปลายในออสเตรเลียไม่มีการแบ่งสายหรือแผนการเรียน ให้อิสระแก่นักเรียนในการเลือกเรียนวิชาที่สนใจโดยไม่มีผลต่อการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา 

หากต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นจะมีการกำหนดเกณฑ์ ‘pre-requisites’ คือ เกณฑ์ที่ระบุว่าหากต้องการศึกษาในคณะใดจะต้องเรียนวิชาใดในระดับมัธยมมาบ้าง โดยโรงเรียนจะมีหน้าที่แนะแนวว่า หากต้องการเข้าศึกษาในคณะที่ต้องการจะจำเป็นที่ผ่านการเรียนในวิชาใดบ้าง ขณะที่ในหลายคณะฯ มหาวิทยาลัยจะจัดเตรียมการเรียนปรับพื้นฐานให้นักเรียนก่อนการเริ่มเรียนจริง

  • สหรัฐอเมริกา : เลือกเรียนตามความถนัดของตัวเองได้

ระบบการศึกษาในสหรัฐฯ ให้อิสระต่อนักเรียนมาก ทำให้มีหลักสูตรหรือเกณฑ์การวัดของโรงเรียนมีความหลากหลายแม้ในระดับมลรัฐเดียวกันก็ตาม 

โรงเรียนจะให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความถนัดและตามความต้องการของตนเอง นอกจากนี้ ในระดับมัธยมปลายจะได้รับคำแนะนำในการเลือกเรียนวิชาเสริมเพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนต่อในระดับสูงที่สูงขึ้น หรือเพื่อใช้ในการทำงาน โดยวิชาที่ให้เลือกจะมีสามสาย ได้แก่ สายวิชาการ – เหมาะสำหรับคนที่จะเรียนต่อวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย, สายอาชีพ – เหมาะกับคนที่จะไปต่อวิทยาลัยเพื่อการอาชีพ และสายทั่วไป – สำหรับคนที่ยังไม่รู้จะไปสายวิชาการหรือสายวิชาชีพ วิชานี้จะไม่เน้นเจาะลึก แต่จะพูดถึงทั้งสองสายแบบรวมๆ ให้มีความรู้เป็นพื้นฐาน

จากตัวอย่างข้างต้น แม้บางประเทศจะมีการแบ่งสายการเรียน แต่เป็นการแบ่งสายอย่างกว้างๆ ระหว่างสายอาชีพและสายสามัญ อย่างไรก็ตาม จุดร่วมอย่างหนึ่งคือ การเปิดกว้างต่อแผนการเรียนที่หลากหลายต่อความสนใจของผู้เรียน โดยที่ไม่จำเป็นต้องล็อกให้ผู้เรียนอยู่ในแผนใดแผนหนึ่งไปตลอด 3 ปี แต่เปิดโอกาสให้ได้เลือกที่จะลองเรียนรู้ข้ามศาสตร์และสายได้อย่างยืดหยุ่น

คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้ต้องการจะบอกว่าการจัดการการศึกษารูปแบบใดเป็นแบบที่ดีที่สุด เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และชวนกลับมาตั้งคำถามถึงแนวโน้มของการจัดการศึกษาของไทยในอนาคต

แนวโน้มที่กำลังจะมุ่งไปสู่การผลิตแผนการเรียนเฉพาะจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นจริงหรือ? และแท้จริงแล้วการศึกษาควรเป็นไปเพื่อตอบโจทย์สิ่งใด? 

หากว่า เป้าหมายของการจัดการศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนาศักยภาพให้บุคคลหรือนักเรียนได้ค้นพบตนเอง หรือให้ศักยภาพ/ความสนใจที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้เขียนเห็นว่า เราอาจต้องกลับมาตั้งคำถามต่อวิธีการที่ใช้ว่าจะช่วยให้ผู้เรียนได้ไปถึงเป้าหมายของการจัดการศึกษาจริงหรือไม่?

ref.

—-

  •  Pongpiphat Banchanont. (2020).  ย้อนดูเบื้องหลัง เรียน ม.ปลาย ทำไมต้องแยกสายวิทย์-ศิลป์? และถึงวันนี้ยังจำเป็นอยู่ไหม. https://thematter.co/social/education-thai-high-school/103934
  • Piraroen Witoorut. (2020). เลือกเรียนตามความสนใจ และให้เด็กเป็นศูนย์กลาง สำรวจแนวทางการศึกษาในประเทศต่างๆ. https://thematter.co/social/education-system-in-others-country/103757
  • มารุต พัฒผล. (ม.ป.ป.).  การโค้ชเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ส่วนบุคคล (Personalize learning). เอกสารประกอบการเรียนรู้ รายวิชา สัมมนานวัตกรรมการโค้ชเพื่อการรู้คิด. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เรียบเรียงโดย  กัญณัฐ กองรอด

ภาพโดย  ภัทรินทร์ สุขรื่น

Your email address will not be published.