มายาคติว่าด้วยความสำเร็จ: การสอบเข้ามหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต1 min read
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
เคยสังเกตไหม เวลานั่งรถผ่านหน้าโรงเรียนมัธยม ไม่ว่าในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ที่ตลอดแนวรั้วดูเหมือนจะถูกเนรมิตให้เป็นพื้นที่โฆษณาขนาดมหึมา มีแผ่นป้ายไวนีลติดประกาศเชิดชูนักเรียนที่ได้รับรางวัลต่างๆ นานา ขนาบด้วยภาพนักเรียนชั้น ม.6 ที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่างๆ สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน
หากมองเข้าไปถึงความรู้สึกของเด็ก อาจมีบางคำถามผุดขึ้นตามมาว่า เด็กเหล่านั้นคิดอย่างไรกับการที่รูปของเขาและเธอถูกแปะไว้เต็มกำแพงโรงเรียนด้วยความชื่นชมของผู้ใหญ่ กับอีกมุม แล้วเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ล่ะ จะรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้?
นั่นคือข้อสังเกตประการหนึ่ง และเป็นที่มาของโครงการวิจัย ‘มายาคติว่าด้วยความสำเร็จของผู้เรียน: กรณีศึกษาเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทย’ โดย ดร.ฝน นิลเขต และ ดร.ปวีณา แช่มช้อย แห่งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ชุดโครงการวิจัยการสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย
“งานวิจัยนี้เริ่มจากความสงสัยว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เป็นสิ่งบ่งชี้ความสำเร็จของตัวนักเรียนหรือเปล่า แล้วถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ นักเรียนมองตัวเองอย่างไร ยังมองว่าตัวเองประสบความสำเร็จในการเรียนไหม และเขาคิดว่าสังคมรอบตัวมองเขาอย่างไร” ดร.ปวีณา เล่าถึงที่มาของหัวข้อวิจัย
“ทีมวิจัยอยากรู้ว่าการให้ความหมายต่อคำว่าความสำเร็จในมุมมองของผู้เรียนและครูเป็นอย่างไร ผู้เรียนมีทัศนคติต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไร เหตุผลที่เขาเลือกเรียนคณะต่างๆ มาจากอะไรบ้าง เขาสนใจด้วยตัวเองหรือผู้ปกครองอยากให้เรียน หรือเป็นเพราะกระแสสังคม และครูซึ่งเป็นผู้สอนและสนับสนุนนักเรียน เขามีมุมมองต่อความสำเร็จของการเรียนอย่างไร” ดร.ฝน อธิบาย
นอกเหนือจากสิ่งที่สะท้อนอยู่บนแผ่นป้ายไวนีลนั้นแล้ว งานวิจัยนี้ ยังพบว่ามีอีกหลายวาทกรรมที่ถูกปลูกฝังและส่งทอดกันมาเป็นรุ่นๆ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นมายาคติที่หล่อหลอมวิธีคิดให้กับทั้งผู้ปกครอง ครู และตัวเด็กเอง
ตัวอย่างวาทกรรมที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยครั้ง เช่น “การศึกษาคือบันไดของความสำเร็จ” “เรียนให้สูงๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน” “เรียนให้เก่งๆ โตขึ้นจะได้สบาย” ฯลฯ
ความคาดหวังและถ้อยคำชื่นชมยกย่อง แม้จะมาจากความปรารถนาดีของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก ทว่าผลพวงที่ตามมากลับกลายเป็นการสร้างแรงกดดันที่ส่งผลไปถึงสภาพจิตใจของเด็ก กระทั่งเกิดเป็นข่าวเศร้าสลดในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา
“ระยะหลังมีข่าวปรากฏให้เห็นเสมอว่า นักเรียนที่สอบไม่ติด เรียนไม่เก่ง แล้วถูกกดดันจากคนรอบตัว ทั้งครู ผู้ใหญ่ และเพื่อน จนเกิดความเครียด เสียสุขภาพจิต หนักเข้าก็นำไปสู่ปัญหาการทำร้ายตัวเอง จึงเป็นที่น่าสนใจว่ามีกลไกความคิดอะไรอยู่เบื้องหลังการสร้างแรงกดดันเหล่านี้” ดร.ปวีณา กล่าว
การให้ค่าและความหมายของการศึกษาภายใต้มายาคติ
เมื่อสำรวจและวิเคราะห์วาทกรรมอันเป็นมายาคติว่าด้วยความสำเร็จทางการศึกษา ข้อค้นพบของงานวิจัย ยังชี้ให้เห็นว่ามายาคติเหล่านี้ถูกบ่มเพาะมาเนิ่นนานหลายสิบปี จนกลายเป็นค่านิยมที่ฝังแน่นและยังส่งอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน
“ตัวของนักวิจัยเอง ซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยเป็นผู้เรียนมาก่อน ได้ยินคำพูดทำนองนี้มาตั้งแต่เด็ก ถ้าเป็นเด็กเรียนเก่งก็ต้องเรียนสายวิทย์ พอเรียนสายวิทย์ก็ต้องเลือกสอบเข้าแพทย์ เภสัช วิศวะ หรือเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง ซึ่งทุกวันนี้ เด็กรุ่นหลังก็ยังต้องเลือกคณะตามที่พ่อแม่หรือสังคมคาดหวังเหมือนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว”
จากการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ทั้งครูและนักเรียน ส่วนใหญ่สะท้อนตรงกันว่า ปัจจัยในการตัดสินใจเลือกคณะ และเลือกมหาวิทยาลัย ล้วนถูกผลักดันมาจากความต้องการของผู้ปกครองที่อยากให้บุตรหลานมีความมั่นคงในชีวิต และมักจำกัดอยู่เพียงไม่กี่สาขาอาชีพที่ผู้ปกครองรู้จัก
“สิ่งที่งานวิจัยของเราพบคือ ผู้ปกครองมักจะมองเรื่องความมั่นคง เรื่องรายได้ โดยเฉพาะอาชีพที่อยู่ในระบบราชการ อย่างทหาร ตำรวจ พยาบาล ครู ซึ่งบางครั้งเด็กก็เกิดความทุกข์ เพราะจำเป็นต้องเรียนทั้งที่ไม่ได้ชอบ” ดร.ฝน กล่าว
นอกจากผู้ปกครองอยากให้ลูกมีการศึกษาเพื่อเป็นเจ้าคนนายคนแล้ว ยังมองว่าการเรียนหนังสือเป็นการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ จนเกิดวาทกรรมทำนองว่า “พ่อแม่เลี้ยงลูกมาตั้งกี่ปี เรียนให้พ่อแม่แค่นี้ไม่ได้หรือ”
ดร.ปวีณา ชี้ว่า “คำพูดนี้สะท้อนให้เห็นความเชื่อบางอย่างที่ส่งอิทธิพลต่อการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของเด็ก ความเชื่อเรื่องบุญคุณได้ฝังรากลึกในความคิดของทั้งผู้ปกครองและตัวนักเรียนเอง การที่นักเรียนสอบเข้าได้ทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจและได้รับการชื่นชมในฐานะที่ประสบความสำเร็จในบทบาทพ่อแม่เช่นกัน
“อีกแนวคิดหนึ่งที่พบจากการวิจัยคือ เรื่องการมีชีวิตรอดในสังคม เด็กหลายคนเลือกเรียนคณะอะไรก็ได้ ขอให้มีความมั่นคงในชีวิต เรียนจบแล้วมีงานทำ มีรายได้ดี มีบ้าน มีรถ มีครอบครัว และเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ เป็นเหมือน ‘วิถี’ ที่ต้องดำเนินไปตามกรอบนี้เท่านั้น ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งบริบทสังคมก็ไม่ได้เอื้อให้เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ มากนัก”
นอกเหนือจากนี้ งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า การให้ความหมายต่อความสำเร็จ มีรากฐานมาจากค่านิยมในสังคมไทยแล้ว สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ
ข้อมูลจากงานวิจัยนี้พบว่า ความหมายของคำว่าความสำเร็จนั้นแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับยุคสมัย สภาพความเป็นเมือง และเศรษฐานะของครอบครัว
ดร.ฝน ได้อธิบายกรณีนี้ว่า “เด็กส่วนใหญ่เชื่อว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจะสามารถนำพาตนเองและครอบครัวก้าวข้ามไปสู่สถานะทางสังคมที่สูงขึ้นได้ ดังนั้นความสำเร็จทางการศึกษาระดับมัธยม จึงหมายถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ครอบครัวมีรายได้สูง ไม่ค่อยได้รับแรงกดดันในเรื่องการเข้ามหาวิทยาลัยมากนัก เพราะเขามีทางเลือกมากกว่า ถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งไม่ได้ ก็ยังมีหลักสูตรอินเตอร์ หรือไปเรียนต่อต่างประเทศได้”
ดร.ฝน ระบุว่า ข้อค้นพบนี้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความหมายต่อความสำเร็จที่แตกต่างออกไปเนื่องจากเศรษฐานะของครอบครัวเด็ก และยังสะท้อนให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของเด็ก
แรงปะทะของวาทกรรมสองยุคสมัย
ไม่เพียงแค่วาทกรรมและค่านิยมตามจารีตเดิมที่เด็กได้รับการส่งทอดมาแล้ว ดร.ปวีณา ได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มว่า เด็กในยุคปัจจุบันยังต้องเผชิญกับวาทกรรมสมัยใหม่ที่เรียกร้องให้ต้องค้นหาตนเอง ค้นหาความปรารถนา แรงบันดาลใจ และเลือกทำในสิ่งที่ตนเองรัก
“มายาคติที่ซ้อนทับเข้ามาและกำลังเป็นกระแสในปัจจุบันก็คือ วาทกรรมว่าด้วย ‘passion’ ซึ่งพยายามหล่อหลอมวิธีคิดที่ว่า เราจะต้องค้นหาตัวเองให้เจอ ความสำเร็จของชีวิตคือการได้ทำในสิ่งที่รักและชอบ อาจถึงขั้นต้องมีความหลงใหลในสิ่งที่ตัวเองเลือกและทำ และมากไปกว่านั้น มันเกิดวาทกรรมว่า ยิ่งค้นหา ‘passion’ ให้เจอตอนอายุน้อยเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้นเท่านั้น เมื่อถึงเวลาต้องเลือกเรียนต่อ จึงเกิดความกดดันตนเอง ให้ต้องเลือกเรียนในสาขาที่ตนเองมี passion อย่างที่สุด”
ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นว่า เด็กต้องแบกรับแรงกดดันทั้งจากวาทกรรมกระแสหลักและกระแสรองที่ซ้อนทับเข้ามาในเวลาเดียวกัน เป็นแรงกดดันที่หมุนวนอยู่รอบตัวเด็ก ปัญหาก็คือ จะมีคนสักกี่มากน้อยที่ค้นหาตัวเองเจอตั้งแต่วัยมัธยม
“ในชีวิตจริงแล้ว โลกเรามีหลายเฉดสี หลายบริบท ไม่จำเป็นที่เราต้องค้นพบตัวเองให้ได้ ณ ตอนนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรหรือจะต้องทำอาชีพอะไร ซึ่งเด็กคนหนึ่งอาจจะชอบหลายอย่างก็ได้” ดร.ปวีณา ให้ข้อสังเกต ก่อนจะชี้ให้เห็นต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นว่า “ปัญหาใหญ่ก็คือ การศึกษาทุกวันนี้ไม่ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอแก่เด็ก ว่าเขามีทางเลือกอะไรบ้าง ท้ายที่สุดเขาก็ต้องตัดสินใจเลือกความมั่นคง โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบสิ่งนั้นจริงไหม หรือเรียนแล้วจะไปทำอะไร”
กล่าวในฐานะอาจารย์ ดร.ปวีณา ชี้ว่า แม้ว่าการเรียนมหาวิทยาลัยอาจเป็นสิ่งจำเป็น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ทำอย่างไรให้นักเรียนมัธยมปลายได้มองเห็นทางเลือกอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น แม้จะยังไม่พบสิ่งที่ตัวเองชอบที่สุด แต่อย่างน้อยควรมีโอกาสได้ทำความเข้าใจตนเอง ได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ ซึ่งแม้แต่ผู้ปกครองหรือครู ก็จำเป็นต้องมีข้อมูลที่เพียงพอและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันเช่นกัน
นอกจากนี้ ดร.ฝน เสริมว่า สังคมไทยในปัจจุบันยังไม่มีภาพร่วมกันว่า อะไรเป็นความสำเร็จอื่นนอกจากความเก่ง เด็กต้องเรียนเก่งเท่านั้นหรือจึงจะได้รับการยอมรับ
“ทุกวันนี้เราวัดความสำเร็จด้วยคะแนน ถ้าโรงเรียนที่มีคุณภาพดีก็หมายถึงนักเรียนได้คะแนนดี หรือสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ แต่อะไรล่ะคือความหมายของคำว่าความสำเร็จ”
งานวิจัยชิ้นนี้ มีผู้เรียนหลายคนสะท้อนว่า รู้ว่าตนเองมีการศึกษา แต่อธิบายไม่ได้ว่า การศึกษาที่ตนได้รับมานั้น มีความหมายอย่างไรต่อชีวิต ความสำเร็จของการเป็นนักเรียน ถูกมองว่าสิ้นสุดที่การที่มีผลการเรียนดี และได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับ
ดร.ปวีณา ทิ้งท้ายว่า “ดูเหมือนสังคมไทยจะให้ความสำคัญต่อการได้รับศึกษาค่อนข้างมาก แต่บางครั้งคำว่า ‘การศึกษา’ ก็ถูกแยกออกจาก ‘การเรียนรู้’ ส่งผลให้คำว่า ความสำเร็จ ถูกยึดโยงกับคำว่า ‘การศึกษา’ แทนที่จะเป็นเรื่องของ ‘การเรียนรู้’ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงถูกมองว่าเป็นสนามที่ใช้วัดความสำเร็จในการเรียนมัธยม ซึ่งมุมมองแบบนี้ อาจทำให้เหลือความเป็นไปได้แค่สองทางให้ผู้เรียน คือ ฉันสำเร็จ และ ฉันล้มเหลว ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อสุขภาวะของผู้เรียนและสังคม”
เช่นนี้แล้ว การศึกษาไทยอาจต้องหันกลับมาทบทวนกันอีกครั้งถึงการให้นิยามและความหมายที่แท้ ระหว่างคำว่า การศึกษา การเรียนรู้ และการประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจกินความลึกลงไปถึง ‘แก่นสาร’ ของการดำเนินชีวิตเลยก็ว่าได้